สะอึกส่งสัญญาณสุขภาพ (ตอนที่ 1)

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 ลูกศิษย์ได้นำตัวพระเทพวิทยาคม หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ส่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาตอนกลางดึก เนื่องจากหลวงพ่อคูณมีอาการสะอึกไม่ยอมหยุด และมีเสมหะในลำคอมาก แต่ไม่มีอาการไข้และยังคงรู้สึกตัวดี

คณะแพทย์ได้ทำการตรวจเช็คร่างกายหลวงพ่อคูณอย่างละเอียด และระบุว่าหลวงพ่อคูณอาพาธด้วยอาการหลอดลมอักเสบ คณะแพทย์จึงให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ควบคู่ไปกับยาละลายเสมหะ และยาขยายหลอดลมเพื่อรักษาอาการอาพาธ พร้อมกับให้หลวงพ่อคูณจำวัดพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อน

อาการสะอึก (Hiccup / Hiccough) เป็นอาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อกะบังลม (ซึ่งเป็นกล้ามนื้อที่แบ่งแยกระหว่างบริเวณอกกับบริเวณช่องท้อง) การชักกระตุกนี้เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ทำให้อากาศเข้าสู่ปอดอย่างอย่างฉับพลันซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ช่องเปิดของสายเสียงบริเวณกล่องเสียง (Vocal cords / glottis) ปิดเร็วและทำให้เกิดเสียงสะอึก

อาการสะอึกมักเป็นเหตุให้เกิดความรำคาญและมักจะหายไปเองในเวลาไม่กี่นาที แต่ในบางคนก็อาจมีอาการสะอึกเรื้อรังเป็นเวลานานวันหรือแรมเดือน อาการแน่นท้องอาจเป็นสาเหตุของการสะอึก โดยอาการแน่นท้องอาจเกิดจาก

  • จากรับประทานอาหารปริมาณมากและกินอย่างรวดเร็ว
  • การดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • การกลืนลมมาก
  • การสูบบุหรี่
  • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็วในท้อง เช่น การดื่มเครื่องดื่มร้อนแล้วตามด้วยเครื่องดื่มเย็นทันทีเลย
  • อารมณ์ความเครียดหรือการตื่นตกใจ

อาการสะอึกอาจหายไปได้เองภายใน 2 – 3 นาที หรือ 2 – 3 ชั่วโมง อาการสะอึกที่มีอยู่นานกว่า 48 ชั่วโมงเรียกว่า อาการสะอึกที่คงอยู่นาน (Persistent hiccups) ส่วนอาการสะอึกที่มีอยู่นานกว่าเดือนเรียกว่า อาการสะอึกซึ่งยากที่จะรักษา (Intractable hiccups) ทั้งนี้ได้มีการบันทึกถึงอาการสะอึกเรื้อรังที่ยาวนานที่สุดว่า คือ 60 ปี

อาการทั้งสองดังกล่าว อาจเป็นสัญญานบอกถึงสภาพสุขภาพที่ทรุดโทรม ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ โดยอาจมีสาเหตุมาจาก

  • การมีปัญหาระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) อย่างเช่นโรคมะเร็ง การติดเชื้อ (Infection) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • ปัญหาที่เกี่ยวกับระบบสารเคมีที่เกิดขึ้นในร่างกาย อย่างเช่น ระบบการเผาผลาญอาหาร (Metabolic problems) ไตทำงานน้อยลง หรือ ภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation)
  • การระคายเคืองของเส้นประสาทในศีรษะ คอ และหน้าอก อย่างเช่น เส้นประสาทกระบังลม (Vagus or phrenic nerve)
  • การวางยาสลบหรือยาขา (Anesthesia) หรือการผ่าตัด
  • ปัญหาทางด้านจิตใจ

อาการสะอึกมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเกิดได้ในทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กและผู้สูงวัย

แหล่งข้อมูล:

  1. “หลวงพ่อคูณ” อาพาธเข้าโรงพยาบาลกลางดึก หลอดลมอักเสบ http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000081808&Keyword=%e2%c3%a4 [2012, July 12].
  2. Hiccups - Topic Overview. http://www.webmd.com/digestive-disorders/tc/hiccups-topic-overview [2012, July 12].
  3. Hiccups, Chronic. http://www.webmd.com/digestive-disorders/hiccups-chronic [2012, July 12].