สยบไข้เลือดออกด้วย “โมโนโคลนอล แอนติบอดี” (ตอนที่ 1)

น.สพ.พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน เปิดเผยว่า ขณะนี้นักวิจัยไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมกันสร้าง “โมโนโคลนอล แอนติบอดี้” เพื่อยับยั้งไข้เลือดออกได้สำเร็จแล้ว โดยการสร้างสารชีวภาพ ชื่อ “โมโนโคลนอล แอนติบอดีของมนุษย์” (Human Monoclonal Antibody : HMA)

ในกระบวนการดังกล่าว มีการผลิตเซลล์ไฮบริโดมา (Hybridoma) ทั้งหมด 136 โคลน คัดเลือกแยกได้เป็นเซลล์ที่สร้างโมโนโคลนอล แอนติบอดี ได้ดีที่สุดจำนวน 3 โคลน สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ก่อโรคจำนวน 20 สายพันธุ์ ในหลอดทดลองทั้งหมด

จากการทดสอบ พบว่า HMA สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสในหนูทดลองที่ฉีดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเข้าสมองได้ โดยล่าสุดจากการฉีดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเข้าทางช่องท้องของลิงและทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง แล้วจึงฉีดโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ เพื่อเข้าไปยับยั้งเชื้อไวรัสก็พบว่า สามารถยับยั้งการติดเชื้อในลิงได้ โดยลิงทุกตัวรอดชีวิตมาได้

น.สพ.พงศ์ราม กล่าวว่า การค้นพบ HMA นี้นับเป็นครั้งแรกในโลก และได้มีการจดสิทธิบัตรของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนักวิจัยไทยและญี่ปุ่นมีสิทธิบัตรฝ่ายละครึ่ง ขั้นตอนต่อไปคือ ทดสอบความปลอดภัยของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ ในอาสาสมัครสุขภาพดี จากนั้นจะทดสอบการยับยั้งการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกต่อไป

น.สพ.พงศ์ราม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีนักวิจัยที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เตรียมเซลล์เดี่ยวที่มีเสถียรภาพ (Stable cell expression) ของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ จำนวน 2 โคลน เพื่อใช้ในการผลิตปริมาณมากเชิงอุตสาหกรรมได้แล้ว

การรักษาด้วยโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal Antibody = mAb หรือ moAb) เป็นการให้สารต่อต้านแอนติบอดี (Antibodies) ที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการกับร่างกาย โดยสารนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอม เช่น เซลล์มะเร็ง

การรักษาด้วยโมโนโคลนอล แอนติบอดี เป็นการใช้โมโนโคลนอล แอนติบอดีจัดการกับเซลล์หรือโปรตีนเป้าหมาย เป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยเพื่อกำจัดเซลล์ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างโมโนโคลนอล แอนติบอดีภายนอกเซลล์ เพื่อใช้รักษาโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis : MS) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

การใช้โมโนโคลนอล แอนติบอดีรักษาโรคมะเร็งทำได้ 2 แบบ คือ

  • ใช้โมโนโคลนอล แอนติบอดีเพียงอย่างเดียว (Naked monoclonal antibodies) โดยไม่ใช้ยาหรือสารกัมมันตภาพรังสี (Radioactive)
  • ใช้โมโนโคลนอล แอนติบอดีร่วมกับการรักษาอย่างอื่น (Conjugated monoclonal antibodies) เช่น การใช้ยาเคมีบำบัด สารกัมมันตภาพรังสี หรือตัวฆ่าเซลล์มะเร็ง

แหล่งข้อมูล

  1. ฮือฮายาสยบ “ไข้เลือดออก” ผลงานนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น http://www.thairath.co.th/content/newspaper/356025 [2013, July 21].
  2. What are Humanized Monoclonal Antibodies? http://pdl.com/technology-products/what-are-humanized-monoclonal-antibodies/ [2013, July 21].
  3. Monoclonal antibody therapy. http://en.wikipedia.org/wiki/Monoclonal_antibody_therapy [2013, July 21].