สปินโนแซด (Spinosad)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาสปินโนแซด(Spinosad) เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ฆ่าแมลง สารชนิดนี้ถูกสังเคราะห์โดยแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Saccharopolyspora spinosa ทางคลินิกนำยา/สารนี้มาใช้เป็นยาฆ่าเหาบนศีรษะ โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นสารแขวนตะกอนที่ใช้เป็นยาใช้ภายนอก ที่มีลักษณะข้นเหลว ผลิตภัณฑ์ยาชนิดนี้ มีกลไกการออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของสัตว์ประเภทแมลง จึงใช้ฆ่าเหาได้เป็นอย่างดี

การจะใช้ยาสปินโนแซดกับผู้บริโภคบางกลุ่มอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็น พิเศษ ทั้งนี้ด้วยผู้บริโภค/ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีความต้านทานพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ของสารประกอบ/ยานี้ได้แตกต่างกัน เช่น

  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรหลีกเลี่ยงและห้ามสัมผัสกับสารประกอบสปินโนแซด ด้วยมีผิวหนังบอบบางและสุ่มเสี่ยงต่อการแพ้ยา/แพ้สารนี้ได้ง่าย
  • สตรีในภาวะตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ควรเลี่ยงการสัมผัสกับสารประกอบ ชนิดนี้ ถึงแม้มีการศึกษาวิจัยกับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ที่ได้รับยา/สารสปินโนแซดแล้วพบว่า ไม่ก่อให้เกิดวิกลรูป/ความพิการหรือทำให้การเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ผิดรูปร่างก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่กล้าที่จะรับประกันความปลอดภัยที่จะนำสารประกอบนี้มาใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์
  • สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มที่ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาสปินโนแซด ด้วยมีผลการศึกษษวิจัยพบว่า สูตรตำรับของผลิตภัณฑ์สปินโนแซดมีส่วนประกอบของสาร อินทรีย์ประเภท เบนซิล แอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol) ซึ่งสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนัง/หนังศีรษะเข้าร่างกาย แล้วหลั่งออกมากับน้ำนมมารดา จนผ่านเข้าสู่ทารกได้

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดปลีกย่อยที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะใช้ผลิตภัณฑ์สปินโนแซด เช่น

  • ก่อนเทผลิตภัณฑ์ออกจากขวดเพื่อใช้ชโลมผม จะต้องเขย่าขวดทุกครั้ง ด้วยรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นสารแขวนตะกอนที่ใช้เป็นยาภายนอก การเขย่าขวดจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์กระจายตัวได้ดี และก่อให้เกิดการออกฤทธิ์ต่อตัวเหาได้สูงที่สุด
  • ห้ามกลืน และระวังมิให้เข้า ปาก จมูก ตา
  • การใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ต้องกระทำขณะที่ผมแห้ง ห้ามทำให้ผมเปียกด้วยน้ำก่อนชโลมผลิตภัณฑ์นี้
  • กรณีที่ผลิตภัณฑ์นี้เข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดเป็นปริมาณมาก จนแน่ใจว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์สปินโนแซดหลงเหลืออยู่ในตา หลังทำความสะอาด ถ้ามีอาการทางตาผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ผลิตภัณฑ์สปินโนแซด
  • การใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับเด็ก ควรให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ชโลมผลิตภัณฑ์บนศีรษะเด็ก ควร ใช้ผ้าสะอาด ปิดตา ปิดใบหน้าเด็กระหว่างชโลมผลิตภัณฑนี้กับเส้นผม เพื่อป้องกันการกระเด็นเข้าตา
  • การใช้ผลิตภัณฑ์นี้ อาจต้องทำซ้ำอีก 1 ครั้งหลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในครั้งแรก แล้วยังตรวจพบเหาบางส่วนตกค้างอยู่บนหนังศีรษะ
  • ซักล้างเสื้อผ้าของผู้ติดเชื้อเหาด้วยน้ำอุ่น และตากแดดให้แห้ง เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดเชื้อเหาให้สิ้นซาก
  • ตรวจสอบสมาชิกในครอบครัวว่า มีใครติดเชื้อเหาอีกบ้าง หากตรวจพบให้ รีบทำการรักษาทันที

การรักษาเชื้อเหาบนหนังศีรษะเป็นเรื่องปลายเหตุ ผู้บริโภคสามารถใช้แนวปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อก็สามารถป้องกันการติดเชื้อเหาได้แล้ว เช่น

  • หลีกเลี่ยงการเอาศีรษะไปใกล้ชิดกับศีรษะผู้ที่มีเชื้อเหา รวมถึง
  • ไม่ใช้ หวี แปรงผม หมวก กิ๊บติดผม หมวกกันน็อค วิกผม ร่วมกับผู้อื่น
  • นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการหลับนอนบนที่นอนของผู้อื่น ด้วยอาจมีไข่เหาหรือตัวเหาเกาะอาศัยอยู่บนที่นอน หมอน เพื่อรอที่จะเข้ามาอาศัยบนศีรษะของมนุษย์

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสปินโนแซด สามารถสอบถาม ได้จากแพทย์ที่สั่งจ่ายผลิตภัณฑ์นี้ หรือสอบถามได้จากเภสัชกรโดยทั่วไป

สปินโนแซดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

สปินโนแซด

ยาสปินโนแซดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาการติดเชื้อเหาบนหนังศีรษะ

สปินโนแซดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาสปินโนแซดคือ ตัวยาจะเข้ารบกวนและทำลายระบบประสาทในตัวเหา ทำให้ตัวเหาเกิดสภาพคล้ายเป็นอัมพาต และส่งผลให้ตัวเหาตายลงในที่สุด

สปินโนแซดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสปินโนแซดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • สารแขวนตะกอนที่มีลักษณะเหลวและข้น โดยมีส่วนประกอบของสาร/ยา Spinosad 0.9%

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

สปินโนแซดมีขนาดการใช้อย่างไร?

ยาสปินโนแซด มีขนาดการใช้ เช่น

-ผู้ใหญ่-เด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป:

  • เขย่าขวดผลิตภัณฑ์จนตัวยากระจายตัวทั่วถึง เทผลิตภัณฑ์ลงฝ่ามือแล้วชโลมไปตามเส้นผมที่แห้ง จนผมเปียกยาทั่วหนังศีรษะ
  • ระวังไม่ให้ผลิตภัณฑ์เข้า ปาก ตา และจมูก
  • รอเวลาให้ผลิตภัณฑ์สปินโนแซดที่ชโลมบนหนังศีรษะ/ผม ออกฤทธิ์เป็นเวลา นานประมาณ 10 นาที
  • จากนั้นใช้น้ำอุ่นล้างผมจนแน่ใจว่าไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ตกค้างอยู่อีก
  • ใช้หวีที่มีซี่ถี่หรือที่เรียกกันว่าหวีเสนียด (หวีสางเหา/ไข่เหา) สางและหวีผมเพื่อกำจัดซากเหาและไข่เหาออกให้มากที่สุด

อนึ่ง:

  • เด็กอายุต่ำกว่า 4ปี: ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีลงมา
  • ระวังมิให้ผลิตภัณฑ์เข้า ปาก ตา จมูก รวมถึงช่องคลอด
  • เว้นระยะเวลาไปอีก 7 วัน หากตรวจพบเหาหรือไข่เหา ให้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้เพื่อกำจัดเหาบนหนังศีรษะซ้ำอีกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ผลิตภัณฑ์สปินโนแซดที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งของแพทย์ได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้เหมาะสม ควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือจากเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาสปินโนแซด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้สารเคมีทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา/สารเคมีแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น หนังศีรษะอักเสบ/ผิวหนังอักเสบ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารเคมีอะไรอยู่ เพราะยา/สารเคมีที่ใช้อยู่ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ/สารเคมีอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยา/สารเคมีหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ผลิตภัณฑ์ควรทำอย่างไร?

การรักษาการติดเหาได้อย่างรวดเร็วจะลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อเหากับคนใกล้ชิด กรณีลืมใช้ผลิตภัณฑ์ยาสปินโนแซดตามกำหนด สามารถใช้ผลิตภัณฑ์นี้ได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดปริมาณผลิตภัณฑ์นี้เป็น 2 เท่า

สปินโนแซดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลิตภัณฑ์ยาสปินโนแซด อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา/ อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้บ้าง เช่น ระคายเคืองผิวหนัง/หนังศีรษะ มีผื่นคันเกิดขึ้นที่หนังศีรษะ/ผิวหนังที่สัมผัสยานี้ หนังศีรษะแห้ง ตลอดจนมีอาการ ผมบาง

กรณีหลังใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ แล้วพบอาการข้างเคียงรุนแรงผิดปกติจนอาจเกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วย/ผู้ใช้ เช่น ใบหน้าบวม เกิดอาการหอบหืด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้สปินโนแซดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสปินโนแซด เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้สาร/แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี
  • ห้ามรับประทาน ห้ามมิให้เข้า ปาก ตา หรือเข้าจมูก
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สี กลิ่นผิดปก ตัวยาตกตะกอนข้น ไม่กระจายตัว
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลานานเกินมาตรฐาน(เอกสารกำกับยา/เอกสารกำกับผลิตภัณฑ์)ที่กำหนด
  • ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์สปินโนแซดลงใน แม่น้ำ คู คลอง โดยตรง ด้วยจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ
  • เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุอยู่ ในเอกสารหรือคู่มือการใช้งานที่กำกับมากับผลิตภัณฑ์นี้
  • หลังการใช้ผลิตภัณฑ์สปินโนแซด แล้วพบอาการผิวหนังอักเสบ/หนังศีรษะอักเสบ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์สปินโนแซดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

สปินโนแซดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาสปินโนแซดเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้ภายนอกร่างกาย จึงยังไม่พบรายงานปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาสปินโนแซดอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาสปินโนแซดภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในรถยนต์

สปินโนแซดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสปินโนแซด มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Natroba (แนโทรบา)ParaPRO LLC

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/spinosad-topical-suspension.html[2017,April29]
  2. https://www.drugs.com/cdi/spinosad-suspension.html[2017,April29]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Spinosad[2017,April29]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/022408lbl.pdf [2017,April29]