สปสช. รณรงค์ล้างไตช่องท้อง

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่ายอดผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพขณะนี้สูงกว่า 19,000 คน โดยกองทุนโรคไต ในปีงบประมาณ 2555 จะเน้นการป้องกันไม่ให้คนป่วยเป็นโรคไต โดยควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

ในขณะเดียวกัน ก็จะดูแลทั้งการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การผ่าตัดปลูกถ่ายไต และการให้ยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่าย โดยที่ในการฟอกเลือดนั้น ผู้ป่วยต้องร่วมออกค่าใช้จ่ายครั้งละ 500 บาท ซึ่งได้ครอบคลุมการให้บริการบำบัดทดแทนไตทุกประเภท โดยสถานพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการบำบัดทดแทนไต สามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการจากกองทุนโรคไตวายได้

สปสช. เน้นวิธีการล้างไตทางช่องท้องเพราะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยโดยเฉพาะกับผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ ช่วยรักษาสภาพการทำงานของไตไว้ได้นาน และยังเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด ผู้ป่วยทำเองได้ภายใต้การปรึกษาดูแลของโรงพยาบาล (รพ.) โดยไม่ต้องมารอคิวฟอกเลือดที่ รพ. ซึ่งเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยที่ขาดแคลนแพทย์

ผลการศึกษาทางวิชาการยังพบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีอัตราใกล้เคียงกับต่างประเทศ กล่าวคือมีอัตราการรอดชีวิตจากปีที่ 1 และ ปีที่ 3 เป็น 80% และ 55%ตามลำดับ โดยการศึกษาในต่างประเทศพบว่าอัตราการรอดชีวิตจากปีที่ 1 และ 3 ปีเท่ากับ 70–95% และ 46–88%ตามลำดับ

สำหรับอัตราการติดเชื้อพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเท่ากับ 0.47 ครั้งต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องจากต่างประเทศ เช่น สกอตแลนด์ ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเท่ากับ 0.42 ครั้งต่อปี นิวซีแลนด์ เท่ากับ 0.60 ครั้งต่อปี ออสเตรเลีย เท่ากับ 0.62 ครั้งต่อปี ญี่ปุ่น เท่ากับ 0.22 ครั้งต่อปี และสเปน เท่ากับ 0.38 ครั้งต่อปี

การล้างไตผ่านทางช่องท้องเป็นการรักษาผู้ป่วยโรคไต (Kidney disease) เรื้อรังระยะรุนแรง โดยกระบวนการใช้เยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) เป็นช่องทางผ่าน และมีท่อสวนถาวร ซึ่งเป็นตัวนำของเหลว (Fluids) ซึ่งมีสารประกอบต่างๆ เช่น น้ำเกลือแร่ (Electrolyte) และน้ำตาล (Glucose) เพื่อไปแลกเปลี่ยนกับเลือด ของเหลวดังกล่าว จะถูกนำไปผ่านท่อทางช่องท้องและไหลออกในเวลากลางคืนขณะผู้ป่วยหลับอยู่ เป็นการล้างไตช่องท้องแบบอัตโนมัติ หรืออาจกระทำในช่วงกลางวันที่คนไข้สามารถเคลื่อนไหวเป็นปรกติ

การล้างไตผ่านทางช่องท้องเป็นทางเลือกแทนการใช้เครื่องฟอกไต (Hemo-dialysis) แม้ว่าจะมีการใช้ที่น้อยกว่าการใช้เครื่องฟอกไตมากในหลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า แต่ก็มีข้อดีคือต้นทุนที่ถูกกว่ามาก และมีความสะดวกในแง่ที่ไม่ต้องเสียเวลาพาผู้ป่วยที่ไปสถานพยาบาลเพื่อรับบริการทุกครั้งเหมือนการใช้เครื่องฟอกไต

ความซับซ้อนยุ่งยากของการล้างไตผ่านทางช่องท้องอยู่ที่การมีท่อสวนถาวร คาไว้ที่ช่องท้องทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย (Infection) ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ด้วยความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติจึงมีความสำคัญยิ่ง ต้องมีการให้การศึกษาเรื่องการดูแลท่อสวนอย่างถูกต้อง โดยต้องมีการสังเกตการณ์สภาพการล้างไตผู้ป่วย ว่าสารละลายดังกล่าวผ่านไปในปริมาณที่เพียงพอแล้ว และในท้ายที่สุด ต้องมีการให้คำแนะนำผู้ป่วยไว้ว่าต้องควบคุมดูแลอย่างไรเมื่อเกิดการติดเชื้อ

การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย นอกจากนั้นยังมีการร่วมกิจกรรมสังคมซึ่งไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ สำหรับการรักษาที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ให้ความสำคัญและคุ้มครองค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

แหล่งข้อมูล:

  1. สปสช. ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังกว่า 1.9 หมื่นราย เน้นแนวทางล้างไตช่องท้อง สะดวก ปลอดภัย http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000028260 [2012, March 5].
  2. Peritoneal Dialysis. http://en.wikipedia.org/wiki/Peritoneal_dialysis [2012, March 5].