สตรอนเทียม แรนนีเลท (Strontium ranelate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สตรอนเทียม(Strontium สัญญลักษณ์คือ Sr) เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่อยู่หมู่เดียวกันกับธาตุแคลเซียม(Calcium) ทำให้สตรอนเทียมสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระดูกได้ดีคล้ายกับแคลเซียม สำหรับตัวยาสตรอนเทียม แรนนีเลท(Strontium ranelate) ในทางเคมีจัดเป็นสารประกอบประเภทเกลือ(สารประกอบที่เกิดจากสารที่เป็นกรดและเป็นด่างรวมตัวกัน) การแพทย์แผนปัจจุบันได้ใช้ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทมารักษาภาวะ/โรคกระดูกพรุนในสตรีหลังหมดประจำเดือน (วัยหมดประจำเดือน)ด้วยยานี้จะช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกหัก พื้นฐานโครงสร้างกระดูกของมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์กระดูก 3 ชนิด คือ

1. ออสติโอบลาสต์(Osteoblast) มีหน้าที่ลำเลียงแร่ธาตุต่างๆเข้ามาในกระดูก กับตัวและสังเคราะห์เป็นเนื้อกระดูกรุ่นใหม่

2. ออสติโอไซด์(Osteocyte) เป็นเซลล์ที่เจริญต่อจากออสติโอบลาสต์ขึ้นมาเป็นเซลล์กระดูกที่เจริญเติบโตเต็มที่

3. ออสติโอคลาสต์(Osteoclast) เป็นเซลล์กระดูกที่คอยกร่อนหรือทำลายเนื้อกระดูกเพื่อให้โครงสร้างกระดูกอยู่ในสมดุลและให้มีลักษณะเหมาะสมเข้ารูปร่าง/โครงสร้างในการทำงาน

กลไกการเกิดกระดูกพรุน เกิดจากการทำงานของเซลล์กระดูกออสติโอคลาสต์ทำงานมากกว่าเซลล์กระดูกออสติโอบลาสต์ สตรอนเทียม แรนนีเลทจะเข้าสนับสนุนการทำงานของเซลล์ออสติโอบลาสต์ ซึ่งทำให้ภาวะกระดูกพรุนของร่างกายฟื้นสภาพและมีมวลกระดูกที่สมบูรณ์ขึ้น

เภสัชภัณฑ์ของยาสตรอนเทียม แรนนีเลท เป็นยาแบบรับประทานซึ่ง จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียง 25% ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 60 ชั่วโมงเพื่อทำลายยาชนิดนี้ และถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามใช้บางประการที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทได้ เช่น

  • ผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของสตรอนเทียม แรนนีเลท
  • ผู้ที่มีลิ่มเลือดเกาะตัวในหลอดเลือด
  • กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ต้องนอนพักอย่างเดียวไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง และผู้ป่วด้วยโรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย(หลอดเลือดของแขน/ขา)
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้

ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวข้างต้นล้วนเสี่ยงต่ออาการกำเริบของโรคหากได้รับยาสตรอนเทียม แรนนีเลท นอกจากนี้สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตรก็อยู่ในกลุ่มห้ามใช้ยาชนิดนี้ ด้วยตัวยาสามารถส่งผลกับตัวทารกได้โดยตรง การบริโภคยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์

*การบริโภคยานี้เกินขนาดจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบหรือผลข้างเคียงต่างๆตามมา กรณีรับประทานสตรอนเทียม แรนนีเลทเกินขนาด ในทางคลินิกมีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานตามด้วยนมหรือยาลดกรดเพื่อลดการดูดซึมของยาสตรอนเทียม แรนนีเลท

สำหรับประเทศไทย ยาชนิดนี้ถูกกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษและ ยาอันตราย การใช้ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทด้วยวัตถุประสงค์ใดๆก็ตามจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว

สตรอนเทียม แรนนีเลทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

สตรอนเทียมแรนนีเลท

ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการของโรคกระดูกพรุนทั้งสตรีและบุรุษ
  • ลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกหักง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังและ กระดูกสะโพก

สตรอนเทียม แรนนีเลทกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาสตรอนเทียม แรนนีเลท มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อเซลล์กระดูกใน 2 ลักษณะโดย

  • กระตุ้นการทำงานของเซลล์กระดูกชนิดออสติโอบลาสต์ให้เร่งการสร้างและสังเคราะห์เนื้อเยื่อและมวลกระดูกให้มีการเจริญเติบโต
  • ลดการแบ่งตัวของเซลล์กระดูกชนิดออสติโอคลาสต์ ซึ่งเซลล์กระดูกชนิดนี้มีหน้าที่ในการกร่อนกระดูกเพื่อให้มีความสม่ำเสมอและเป็นโครงสร้างที่ถูกต้อง

จากคุณสมบัติการปรับสมดุลการทำงานของเซลล์กระดูกทั้ง 2 ชนิดด้วยยาสตรอนเทียม แรนนีเลท จึงทำให้ภาวะกระดูกพรุนค่อยๆปรับเปลี่ยนกลับมาเป็นกระดูกที่มีโครงสร้างแข็งแรงและสมบูรณ์ ซึ่งช่วยลดภาวะแตกหักของกระดูกได้ตามสรรพคุณ

สตรอนเทียม แรนนีเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาผงแกลนูลชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Strontium ranelate ขนาด 2 กรัม/ซอง

สตรอนเทียม แรนนีเลทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับรักษาภาวะกระดูกพรุน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 2 กรัม วันละ1ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ขณะท้องว่างหรือก่อนนอน กรณีรับประทานอาหารแล้ว ต้องรอ 2 ชั่วโมงขึ้นไปจึงสามารถรับประทานยานี้ได้
  • ห้ามรับประทานยาในลักษณะผงแกลนูลแห้ง ต้องนำยามาเจือจางในน้ำ อย่างเพียงพอ 1 แก้ว ≈/ประมาณ 250 มิลลิลิตร คนจนตัวยากระจายตัวเป็นสารแขวนตะกอนแล้วจึงรับประทาน
  • ระยะเวลาและขนาดรับประทานต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ห้ามปรับขนาดรับประทานยาเองโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยผลข้างเคียงของยานี้ประการหนึ่ง คือ ทำให้เกิดภาวะ/โรคทางหัวใจ เช่น หัวใจวาย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาสตรอนเทียม แรนนีเลท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาสตรอนเทียม แรนนีเลทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาสตรอนเทียม แรนนีเลท สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ควรเป็นช่วงเวลาที่ท้องว่าง หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไปห้ามรับประทานยานี้เพิ่มเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

สตรอนเทียม แรนนีเลทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต อาจมีภาวะกดไขกระดูก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง กรดไหลย้อน เบื่ออาหาร ท้องอืด
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ความจำเสื่อม วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน อาจพบอาการชัก และมีไข้
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจขาดเลือด มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจมีอาการทางหลอดลม เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผิวหนังบวม ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง อาจพบภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อ

มีข้อควรระวังการใช้สตรอนเทียม แรนนีเลทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสตรอนเทียม แรนนีเลท เช่น

  • ห้ามใช้ยากับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดเกาะตัวในหลอดเลือด ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียง
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และห้ามใช้ยานี้เป็นเวลายาวนานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับ อาหาร นม ยาลดกรด ควรรับประทานยานี้ขณะท้องว่าง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาสตรอนเทียม แรนนีเลทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

สตรอนเทียม แรนนีเลทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสตรอนเทียม แรนนีเลทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาสตรอนเทียม แรนนีเลทร่วมกับยาที่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบ เช่น Calcium carbonate หรือยาลดกรดชนิดต่างๆ เพราะจะทำให้การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารยาของสตรอนเทียม แรนนีเลทลดน้อยลง
  • ห้ามรับประทานยาสตรอนเทียม แรนนีเลทร่วมกับยาปฏิชีวนะ อย่างเช่น Tetracycline หรือ Quinolone เพราะจะทำให้การดูดซึมตัวยาปฏิชีวนะดังกล่าวจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายน้อยลง

ควรเก็บรักษาสตรอนเทียม แรนนีเลทอย่างไร?

ควรเก็บยาสตรอนเทียม แรนนีเลท ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อนึ่ง โดยทั่วไป อายุการจัดเก็บเฉลี่ยของยาชนิดนี้คือ 3 ปี

สตรอนเทียม แรนนีเลทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสตรอนเทียม แรนนีเลท มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Protelos (โพรเทลอส)Servier
Protaxos (โพรแท็กซอส) Servier

บรรณานุกรม

  1. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-Product_Information/human/000560/WC500045525.pdf [2018,April21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Strontium_ranelate [2018,April21]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09267 [2018,April21]
  4. https://www.iofbonehealth.org/introduction-bone-biology-all-about-our-bones [2018,April21]
  5. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81 [2018,April21]
  6. https://www.drugs.com/uk/protelos.html [2018,April21]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/protaxos/ [2018,April21]
  8. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.5598.pdf [2018,April21]