วิธีใช้ยาแก้ปวด (Guide to safe use of pain medicine)

ยาแก้ปวด (Pain medicine หรือ Analgesics) ที่สามารถซื้อมาใช้ได้เอง และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดคือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นยาสามัญประ จำบ้าน ค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้สูงกว่ายาแก้ปวดชนิดอื่น ยามีฤทธิ์แก้ปวดลดไข้ได้ดี แต่ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและกระดูก

  • ยาพาราเซตามอล มีความปลอดภัยแต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรทานเกินวันละ 4 กรัม และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจเป็นพิษต่อตับ และตับถูกทำลายจนเสียชีวิตได้ ดังนั้น ถ้าเป็นโรคตับ หรือ ดื่มสุรา ควรกินยานี้ต่อเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น
  • เอนเสดส์ (NSAIDs) ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถหาซื้อมาใช้ได้เอง และนิยมใช้กันมากคือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs (Non steroid anti inflammatory drugs) ยากลุ่มนี้ใช้รักษา โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ

ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานๆเช่นกัน เนื่องจากมีผลต่อระบบต่างๆของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ทำให้ คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลใน ทางเดินอาหาร มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

ยา NSAIDs ออกฤทธิ์โดยไปลดเอ็นไซม์ Cyclo-oxygenase (COX) enzyme โดยลดทั้ง COX-1 และ COX-2 ยาที่ลด COX-1 จะทำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหารได้ง่าย เนื่องจาก COX-1 จะเป็นเอ็นไซม์ ที่ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร

ยา NSAIDs ที่ลดทั้ง COX-1 และ COX-2 ได้แก่ Aspirin, Ibuprofen (ชื่อการค้า Neuro fen), Naproxen (ชื่อการค้า Synflex), Diclofenac (ชื่อการค้า Voltaren) และอื่นๆ ยากลุ่มนี้จึงทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย จึงต้องรับประทานยาหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว และอาจให้ยารักษาโรคกระเพาะอาหารร่วมด้วย ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง

ส่วนยา NSAIDs อีกประเภทจะลดเอ็นไซม์เฉพาะ COX-2 ได้แก่ยา Celecoxib (ชื่อการ ค้า Celebrex), ยา Etoricoxib (ชื่อการค้า Arcoxia) ยากลุ่มนี้มีโรคแทรกซ้อนทางกระเพาะอา หารต่ำ แต่ก็ยังคงแนะนำให้ทานหลังอาหารทันที ยากลุ่มนี้ปัจจุบันมีใช้กันแพร่หลาย ถ้าผู้บริ โภคสู้ค่าใช้จ่ายไหว เนื่องจากยังคงมีราคาสูง และยังไม่มียาเลียนแบบของยากลุ่มนี้

ทั้งยา พาราเซตามอล และยา NSAIDs

  • ใช้รักษาอาการปวดจากภายนอก เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ และอาการปวดจากอวัยวะภายใน เช่น ปวดประจำเดือน ปวดไส้ติ่งอักเสบ
  • แต่ใช้ไม่ได้ผลกับการปวดจากระบบประสาท เช่น ปวดหลังเนื่องจากการบาดเจ็บของกระดูกและไขสันหลัง งูสวัด ปวดแผลเบาหวานที่เท้า

เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวด ควรทราบว่าปวดแบบไหน ถ้าปวดเนื่องจากระบบประสาท ควรต้องไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยให้ถูกต้อง และจ่ายยาให้ถูกกับอาการ เนื่องจากยาแก้ปวดจากระ บบประสาท มีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา

การซื้อยาแก้ปวดทุกชนิดใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ โดย เฉพาะเมื่อตั้งครรภ์ และ/หรือ ให้นมบุตร นอกจากนั้นควรแจ้งเภสัชกรถึงโรคประจำตัวที่มีอยู่เสมออีกด้วย และควรใช้ยาอย่างถูกต้องตามใบกำกับยา (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา) และเมื่อใช้ยาแล้ว อาการปวดไม่ดีขึ้น หรือ อาการปวดเลวลง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆเกิดขึ้น ควรต้องพบแพทย์เสมอ

บรรณานุกรม

  1. ยาระงับปวด http://th.wikipedia.org/wiki/ยาระงับปวด [2013,April 7]
  2. Acute pain management: Update from Thai Clinical Guidance, ภก.ดร.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ [2012,March]