วิธีเสริมสร้างความภูมิใจให้ตนเองในวัยรุ่น (How to build self-esteem for teenagers)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ความภาคภูมิใจ หรือความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) เป็นความรู้สึกยอมรับตัว เอง มองตนในทางบวก หรือการให้ภาพพจน์ต่อตนเองว่า เป็นบุคคลที่มีคุณค่า การรับรู้นี้นำมาซึ่งความรู้สึกมั่นคงและเป็นสุขทางใจ “ความภาคภูมิใจในตนเองหรือไม่จึงเป็นกุญแจดอกสำ คัญให้บุคคลพบกับความสำเร็จหรือล้มเหลว”

คนที่มีความภาคภูมิใจในตนเอง จะยอมรับธรรมชาติความรู้สึกของตนเอง พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น สามารถให้ความรักเอื้ออาทรกับบุคคลอื่น มีความมั่นใจในตนเอง และมีความมานะความพยายาม ความอดทนในการทำสิ่งต่างๆ จึงมักประสบความสำเร็จในการเรียนและการงาน ตรงกันข้ามกับคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ มองตนเองในแง่ลบ ดูถูกความสามารถของตนเอง แม้จะอยู่ในสภาพครอบครัวที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ หรือความเป็นอยู่ที่ดี ก็อาจมีปัญหาในการปรับตัวในการอยู่ในสังคม มีการเรียนตกต่ำกว่าความสามารถ คบเพื่อนเกเร มีพฤติ กรรมก้าวร้าวทำลาย และมีการศึกษาที่พบว่า ความภาคภูมิใจในตนเองต่ำนั้น มีผลต่อเนื่องกับปัญหาต่างๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ พฤติกรรมกระทำผิด และปัญหาด้านการปรับตัว เป็นต้น

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใกล้ชิด ที่ควรเปิดโอกาสให้เด็กอย่างเต็มที่ เร่งกระตุ้น มองหาศักยภาพที่วัยรุ่นผู้นั้นมี ทำให้เด็กมีโอกาสทดลอง เพื่อหาประสบการณ์ และเร่งพัฒนาความภาคภูมิใจของเขา ก็จะทำให้เด็กวัยรุ่นปรับตัวได้อย่างไม่มีปัญหา

ใครคือผู้บ่มเพาะความภาคภูมิใจในตนเองของลูก?

วิธีเสริมสร้างความภูมิใจ

แพทย์หญิงสุวรรณี สุทธิศรี ได้กล่าวถึงรากฐานการพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเอง ที่เริ่มต้นจากการเลี้ยงดูในครอบครัว โดยมุมมองที่มีต่อตนเองในด้านต่างๆ เช่น รูปร่าง หน้าตา ความฉลาด ฐานะ และ ความต้องการให้ตนเองเป็นอย่างไร มักจะได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่ ถ้าทั้งความต้องการจะเป็นอย่างไร และมุมมองที่มีต่อตนเองนั้นสอดคล้องกัน หรือใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้คนๆนั้น รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า น่าภาคภูมิใจในตนเอง หากไม่ไปด้วยกันเลย ก็คล้ายกับว่าไม่บรรลุเป้าหมายเสียที ก็ย่อมไม่รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง และไม่ภาคภูมิใจในตนเอง ตัว อย่างที่เห็นได้บ่อยๆ คือ พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนเก่ง ก็จะคอยบอกลูกเสมอว่า ต้องเรียนเก่งจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เด็กส่วนใหญ่ก็จะคิดตามที่พ่อแม่บอก ดังนั้นเขาจะรู้สึกอยากเป็นคนเก่ง ถ้าเขาเป็นเด็กไม่เก่ง เขาจะไม่มีทางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เลย หรืออีกกรณีถ้าเขาเก่งพอสมควรแต่พ่อแม่ไม่เคยชม เขาก็จะไม่แน่ใจว่าตนเองเก่งหรือยัง พ่อแม่บางกลุ่มชอบติ เพราะกลัวว่าชมแล้วลูกจะเหลิง หรือคิดว่าติแล้วลูกจะได้พยายายามต่อ แต่พอติบ่อยๆ เด็กก็จะรู้สึกสงสัยว่า ตน เองไม่เก่งจริง ทั้งที่ได้พยายามแล้ว เพราะทุกครั้งที่พยายามต้องลงทุนลงแรงขยันเรียน แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่เก่งพอ ในที่สุดเด็กก็จะคิดว่า เขาคงทำไม่ได้แน่ นอน และไม่พยายามอีกต่อไป จะเห็นได้ว่าพ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความรู้สึกของลูกว่า ตนเองมีคุณค่า และต่อความเชื่อมั่น และความภาคภูมิใจในตนเองของลูกเป็นอย่างมาก

พ่อแม่มีวิธีอย่างไรที่ ป้องกัน ความรู้สึกภาคภูมิใจต่ำ หรือการมีปมด้อยในวัยรุ่น?

สำหรับการป้องกัน การมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองต่ำ หรือป้องกันการมีปมด้อยในเด็กวัยรุ่น ควรต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก ความสนิทสนมกับลูก ช่วยทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัว เองว่า เป็นที่รักและได้รับการยอมรับอยู่เสมอ แม้เขาไม่มีอะไรเด่นเลย แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อย เพราะความรักและความอบอุ่นในครอบครัวเต็มเปี่ยมอยู่ในใจแล้ว ความใกล้ชิดกันยังทำให้พ่อแม่สังเกตถึงความชอบ ความถนัด นิสัย และจุดเด่นของลูกได้

วิธีการต่างๆในการป้องกันความรู้สึกภาคภูมิใจต่ำ หรือการมีปมด้อย เช่น

  • ส่งเสริมให้ลูกเกิด “ปมเด่น” ตามความชอบ ความถนัดของเขา เปิดโอกาสให้เขาแสดงออก และเป็นที่ยอมรับ ชื่นชมในสิ่งนั้น อาจเป็นการเรียน กีฬา ดนตรี หรือกิจกรรมอื่นๆ บางคนมีจุดเด่นหลายด้าน เป็นคนเก่งรอบตัว บางคนอาจมีด้านเดียว ความสำเร็จในด้านใดนั้น ไม่ควรเปรียบเทียบกับเด็กอื่น แต่เปรียบเทียบตัวเอง ทำให้เขาชื่นชมภาคภูมิใจ เชื่อมั่นในตัว เอง

ควรส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ (เช่น รวมกลุ่มช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสตามศูนย์ต่างๆ) เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่าง และพลังงานส่วนเกินอย่างมีประโยชน์

ควรส่งเสริมให้เด็กมีเอกลักษณ์ของตน โดยมีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เด็กที่มีกิจกรรมเช่นนี้มักมีสุขภาพจิตดี แม้เกิดความล้มเหลวในบางเรื่อง แต่ก็ยังมีกิจกรรมดีๆคอยประคับประ คองให้เขามีความรู้สึกว่า ถึงอย่างไรเขาก็ไม่ล้มเหลวไปเสียหมด ยังมองตัวเองในแง่ดีได้

  • ใช้ปมด้อยสร้างปมเด่น ใช้ปมด้อยของตัวเองเป็นเครื่องกระตุ้นให้มีความมานะ พยา ยามในเรื่องอื่นๆ เช่น ถ้าหน้าตาไม่สวยไม่หล่อ อาจเล่นกีฬาเก่ง ตัวเล็กแต่คล่องแคล่ว ว่องไว และพูดเก่ง เรียนไม่เก่งแต่สังคมดี เรื่องนี้พ่อแม่ต้องไม่มองเด็กมีปมด้อยเป็นปัญหาเสียก่อน แต่ควรให้การยอมรับลูกทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของลูก ให้กำลังใจลูกเสมอ เมื่อเด็กไม่ถูกตอกย้ำเรื่องปมด้อยจากครอบครัว เขาก็จะมีกำลังใจที่จะพัฒนาจุดดีอื่นๆให้ก้าวหน้าขึ้น
  • พ่อแม่ภาคภูมิใจในตนเอง พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้ลูกเห็น เด็กจะเกิดการเรียนรู้ เลียนแบบ และสร้างความภาคภูมิใจในสิ่งนั้นๆ พ่อแม่ที่ยากจนแต่มีความภาคภูมิใจในความซื่อสัตย์ของตน ทำให้ลูกอยากเป็นคนซื่อสัตย์ แม่ไม่สวย แต่มีความบากบั่นมานะพยายามในเรื่องงาน ทำให้ลูกอยากเป็นคนขยัน เด็กจะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อพ่อแม่ และถ่ายทอดแบบเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และไม่รู้สึกว่ามีปมด้อย

มีวิธีพัฒนาตนเองอย่างไรให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง?

วิธีพัฒนาตนเองให้เกิดความภาคภูมิใจ ได้แก่

  • สร้างความตระหนักในตนเอง รู้ทันความคิดที่มีผลให้เรารู้สึกดีขึ้น หรือทำให้เรารู้สึกแย่ลง เลือกความคิดที่ช่วยสร้างพลังใจ เช่น เมื่อต้องทำงาน หรือเรียนในวิชาที่เราไม่ชอบ แต่เราก็จำเป็นต้องทำในสิ่งนั้น หากเราคิดทางลบว่า “แย่จัง ฉันทำไม่ได้หรอก” เราก็ยิ่งรู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจที่จะพยายามทำสิ่งนั้น แต่หากเราคิดว่า “ฉันจะพยายาม ถ้าคนอื่นเขาเรียนได้ฉันก็ต้องทำได้” เลือกคำพูดบอกตัวเองในการสร้างพลังเสมอๆ เช่น “ฉันทำได้” “ไม่มีอะไรยากเกิน ไปหรอก ถ้าเรามีความพยายามเรียนรู้” เราก็จะมีกำลังใจที่จะสามารถฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆที่ต้องเผชิญได้
  • ค้นหาความสนใจ ความถนัด จุดมุ่งหมาย และจุดเด่นของตนเอง แล้วบ่มเพาะให้เกิดเป็นผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจ การที่เราจะค้นพบความถนัดของตนเองนั้น “ขอแนะนำให้เราเปิดโอ กาสตัวเองในการเรียนรู้” ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมชมรม การเข้าค่ายกิจกรรม กิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ แล้วค่อยๆเรียนรู้ว่า มีกิจกรรมอะไรที่เราทำแล้วเราชอบ เรามีความสุข ความสนุก หรือมีความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งนั้น หรือเราทำได้ดี หรือ มีคนชมเชยว่าเราทำสิ่งนั้นได้ดี เช่น เราอาจพบว่าเรามีจุดเด่นที่ เป็นคนสนุกสนาน เป็นผู้ นำในการทำกิจกรรมนันทนาการได้ดี เราเป็นนักจัดการที่ดี ชอบการประสานงานติดต่อกับผู้อื่น เราเป็นผู้ฟังที่ดี และมีความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น เราเป็นนักพูดที่สามารถจูงใจคนอื่นได้ดี เรามีความสุขกับการทำกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติ เราชอบงานด้านศิลปะ ชอบกีฬา ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อค้นหาความถนัด ความสนใจ และจุดเด่นของตนเองได้แล้ว เราก็จะสามารถตั้งจุด มุ่งหมายในชีวิตว่า เราต้องการเป็นอย่างไรในอนาคต และเริ่มลงมือพัฒนาในสิ่งดีที่เราค้นพบ ด้วยการหมั่นฝึกฝน และเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆพัฒนากิจกรรมนั้นๆ จนกลายเป็นความสามารถ ความถนัดพิเศษ จะทำให้เรามีความภาคภูมิใจในตนเอง และยังเป็นการวางราก ฐานสู่ความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย

  • ฝึกมองโลกในแง่ดี มองตนเอง และคนอื่นในแง่ดีไว้ก่อน เช่น วันนี้โดนแม่ว่าแต่เช้าตรู่ ก็ให้คิดว่า : แม่ว่าเรา แสดงว่าแม่ยังรักและห่วงใยเราอยู่ หรือ วันหยุดครูให้การบ้านเพียบ ก็คิดว่า สบายมาก..คุณครูกำลังท้าทายความสามารถของเรา (อีกแล้ว) ได้ฝึกตัวเองให้เป็นคนสู้งานหนัก ถ้าเราสู้ไม่ถอย อนาคตไปโลดแน่ ถ้าเพื่อนนินทา : ก็ไม่โกรธ ให้คิดว่าเพราะเพื่อนๆสนใจเรา
  • ยอมรับข้อดีข้อเสียของตัวเอง ไม่คิดเปรียบเทียบกับคนอื่น ที่ทำให้เรารู้สึกด้อยกว่า ลองค่อยๆทบทวนตัวเอง แล้วเขียนเป็นข้อๆว่า เรามีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง หรือลองเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนสนิทที่เราไว้วางใจ ช่วยกันมองว่าแต่ละคนมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง จากนั้นพิจารณาว่า ข้อเสียใดที่เราแก้ไขได้แล้ว จะทำให้เราได้รับสิ่งดีๆ หรือจำเป็นต้องแก้ไข เพราะหากไม่แก้ไข จะทำให้ชีวิตเราประสบปัญหาได้ เช่น นิสัยขี้โมโห ทำให้มีเรื่องทะเลาะกับเพื่อนบ่อยๆ หรือนิสัยชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ทำให้ผลการเรียนไม่ดีเท่าที่ควร การชอบตามใจปาก ทำให้รูปร่างอ้วน เป็นต้น และข้อเสียใดที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่เราเก็บมาคิดเป็นปมด้อย เช่น เราเป็นคนไม่สวย ไม่หล่อ บ้านเราฐานะไม่ดีเท่าเพื่อนๆ เป็นต้น การคิดเปรียบเทียบเช่นนั้น ยิ่งทำให้เราท้อแท้ใจ แต่ควรคิดถึงข้อดีของเราทดแทน เช่น ถึงบ้านเราไม่รวย แต่พ่อแม่เราก็เป็นคนดี ให้ความรักเรา ถึงเราจะไม่หล่อไม่สวย แต่เราก็เป็นนักกีฬาที่แข็งแรง ขอให้ยอมรับสิ่งดีๆที่เรามี เราเป็น และค่อยๆแก้ไขข้อเสียที่ควรจะแก้ไข ก็จะทำให้เรามีการพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต
  • หมั่นดูแลร่างกายและจิตใจให้สดชื่น แข็งแรง อยู่เสมอ การที่เราจะรู้สึกดีต่อตัวเองได้นั้น เราต้องเริ่มต้นด้วยความรักตัวเอง ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรง และมีอารมณ์ที่ร่าเริงเบิกบาน เราจึงจะมีกำลังที่จะทำสิ่งต่างๆด้วยความกระตือรือร้น และกระฉับกระเฉง เราจึงควรฝึกตัวเอง ให้มีวินัยในการดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองในแต่ละวัน ไม่ควรปล่อยเวลาอยู่กับสิ่งบันเทิงที่ไม่จำเป็นมากเกินไป เช่น การดูทีวี การเล่นเกม

สิ่งสำคัญในการดูแลตัวเอง ได้แก่ การสร้างนิสัยให้มีการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน และไม่ต่ำกว่าครั้งละ 1 ชั่วโมง การเลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ทานอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น ไม่ควรดื่มน้ำอัดลม หรือ อาหารขยะต่างๆ มากเกินไป การพักผ่อนนอนหลับให้พอเพียง และมีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

  • ฝึกเลือกรับสื่อที่ดี ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ โฆษณา เพลง ฯลฯ รู้เท่าทันว่าสื่อส่วนใหญ่คือ ความบันเทิงและการตลาด ไม่ใช่ความเป็นจริงของชีวิตทั้งหมด ควรระวังไม่ให้สื่อมีอิทธิพลทางลบกับตัวเรา เมื่อดูสื่อต่างๆ ลองทบทวนว่า สื่อนั้นทำให้เราคิดและรู้สึกอย่างไร เช่น สื่อโฆษณามักจะจูงใจว่า ผู้หญิงที่มีเสน่ห์ต้องมีผิวหน้าขาวใส ต้องมีรูปร่างผอมเพรียว อาจทำให้วัยรุ่นที่ไม่มีภาพลักษณ์เช่นนั้น รู้สึกว่าตัวเองเป็นปมด้อย เราจึงควรเลือกรับสื่อที่หลาก หลาย และสื่อที่สร้างสรรค์ ไม่ดูแต่สื่อด้านบันเทิงมากเกินไป หมั่นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เห็นกับเพื่อนๆ หลายๆกลุ่ม จะทำให้เรามีความคิดที่กว้างขวางมากขึ้น
  • เมื่อทำงานชิ้นใดที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ให้ค่อยๆลงมือทำ นึกถึงความสำเร็จไปทีละขั้น ตอน มากกว่ากังวลแต่ผลลัพธ์ที่ต้องสำเร็จปลายทาง แต่ให้ทำอย่างต่อเนื่อง ทุกสิ่งก็จะสำเร็จได้ เช่น ทำรายงานให้เสร็จทีละบท จากบทที่ 1 ไปบทที่ 2 ,3 ทำไปเรื่อยๆ ตามแผนเวลาที่เรากำหนดไว้ งานทุกอย่างก็สำเร็จได้เอง โดยไม่ต้องเสียเวลามาคิดกังวล ท้อแท้ใจ หรือคิดว่าตัว เองทำไม่ได้ ไปเสียก่อน
  • ให้เวลาและโอกาสกับตัวเองในการเริ่มต้นใหม่ ควรจำไว้ว่าบางครั้งคุณก็อาจทำผิดได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความล้มเหลวตลอดไป เมื่อพบความล้มเหลว ให้คิดว่าคนเราทำอะไรแรกๆ ย่อมมีการผิดพลาดได้เป็นธรรมดา คนที่ประสบความสำเร็จได้ ล้วนแล้วแต่ต้องเคยผิดพลาดหรือล้มเหลวมาก่อน แต่เราจะลุกขึ้นมาใหม่ ด้วยบทเรียนจากความผิดพลาดนั้น ดังนั้นไม่ควรจมอยู่กับความรู้สึกล้มเหลว แต่ให้คิดทบทวนว่าเราผิดพลาดอะไร หรือ อาจปรึกษาพ่อแม่หรือคนที่เราไว้ใจได้ ให้ช่วยทบทวนว่าเราผิดพลาดอะไรบ้าง แล้วเริ่มต้นทำใหม่ สร้างกำลัง ใจให้ตัวเอง เช่น บอกตัวเองว่า “ปัญหาอุปสรรคอยู่ข้างหน้า พร้อมกับชัยชนะก็อยู่ข้างหน้าเช่นกัน”
  • จงมองด้านดีของตัวเอง และใช้คำพูดที่ดีๆกับตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เช่น ฉันเป็นคนมีความสามารถ ฉันเป็นคนมีความรับผิดชอบ ฉันเป็นคนมีเสน่ห์น่ารัก เป็นต้น
  • พยายามเรียนรู้แบบอย่างความคิดดีๆจากบุคคลหรือสิ่งต่างๆรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน ครอบครัว สื่อในสังคมต่างๆ ที่รับรู้แล้วว่าทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง และสร้างกำ ลังใจให้ตัวเอง เช่น เรื่องราวของคนพิการ หรือเจ็บป่วย แต่ก็ไม่ท้อแท้ ยังรู้สึกดีกับตัวเอง และยืนหยัดกับอุปสรรคปัญหาต่างๆในชีวิตได้

สรุป

การแก้ปัญหาของวัยรุ่น กว่าที่จะผ่านอุปสรรคแต่ละขั้นตอน จนเขาสามารถจัดการปัญหาเสร็จสิ้นลงได้นั้น เขาจะต้องรู้จักการสร้างความรู้สึกที่ดี และสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ซึ่งครอบ ครัวคือ รากฐานสำคัญที่จะช่วยวางรากฐานของความภาคภูมใจในตัวเองให้เขา ด้วยความเชื่อ มั่นในความรักที่ครอบครัวมีให้เขา และพร้อมจะอยู่เคียงข้าง เป็นกำลังใจให้เขาเสมอ เมื่อผ่านบทเรียนทั้งความสำเร็จบ้าง ผิดหวังบ้าง ล้มแล้วบ้าง เขาก็จะสามารถลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้

การเรียนรู้ผ่านบทเรียนทั้งหลาย จะหล่อหลอมจิตใจให้เขา เป็นเขาที่เข้มแข็ง ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเขาเคยผ่านปัญหาหนึ่งมาได้แล้ว ปัญหาอื่นที่ตามมา เขาก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้อีกเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. กรมสุขภาพจิต. (2544). คู่มือส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนมัธยมศึกษา สำหรับครู. นนทบุรี: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.
  2. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล. (2550). แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การสร้างความเข้มแข็งทางใจ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา. นนทบุรี: สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต .
  3. สุวรรณี สุทธิศรี .การพัฒนาความนับถือในตนเองในเด็กและเยาวชน
  4. American psychological Association. (2002). Developing Adolescents: A Reference for Professionals. Washington, DC 15-19.