วิธีพ่นยาในเด็ก (How to give breathing treatment to a child)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

วิธีพ่นยา (Breathing treatment)ในเด็ก หรือ การให้ยาพ่นฝอยละอองในเด็ก เป็นการรักษาโรคทางระบบทางเดินหายใจ โดยใช้ยาละอองฝอยขนาดเล็ก ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของยาฝอยละออง ที่จะเดินทางผ่านทางเดินหายใจที่ดีที่สุดคือ 1-5 ไมครอน (Micron) ในปัจจุ บันถือเป็นการบริหารยา (การให้ยา) ที่มีความสำคัญ และใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคที่มีการอุดกั้นของหลอดลมขนาดเล็ก เช่น โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากคุณสมบัติของฝอยละอองที่มีอนุภาคเล็กมาก ยาจึงสามารถเข้าสู่ปอดและออกฤทธิ์ที่ปอดได้โดยตรง นอกจากนั้นยายังออกฤทธิ์ได้ทันที ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการให้ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ และมีฤทธิ์อยู่นานพอๆกับการฉีด หรือ รับประทานยา รวมทั้ง ยังใช้ยาในปริมาณที่มีขนาดยา (Dose) น้อยกว่า ทั้งหมดช่วยให้อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาลด ลง จากการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง

 

การพ่นยาในเด็กมีวัตถุประสงค์อย่างไร?

วิธีพ่นยาในเด็ก

การพ่นยาในเด็กมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ ดังนี้

  • ส่งเสริมสุขวิทยาภายในหลอดลม โดยทำให้เกิดความชุ่มชื้นในหลอดลม เสมหะที่เหนียวจึงอ่อนตัวลง ง่ายต่อการระบายเสมหะออกจากปอด เพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
  • เป็นหนทางในการบริหารยา (การให้ยา) ทางระบบหายใจโดยตรง

 

มีวิธีเลือกใช้ยาพ่นในเด็กอย่างไร?

การเลือกใช้ยาพ่นในเด็ก แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน โดยทั่ว ไป จะพิจารณาดังนี้

  • อายุของเด็ก
  • ความรุนแรงของโรค
  • ผู้ปกครองสามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ยามีประสิทธิภาพดี พกพาง่าย การทำความสะอาดอุปกรณ์การพ่นยาไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์ทนทาน ใช้งานได้นาน

 

ทั้งนี้ ถ้าต้องใช้ยาพ่นฝอยละอองหลายชนิดร่วมกัน แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาพ่นที่ใช้เทคนิคเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้

 

รูปแบบของวิธีพ่นยาในเด็กมีรูปแบบใดบ้าง?

ยาพ่นฝอยละอองบำบัดในเด็กมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีข้อดี ข้อเสีย และข้อบ่งชี้ที่แตกต่างกัน เช่น

 

ก. วิธีพ่นยาฝอยละอองแบบก๊าซผ่านผิวน้ำ (Jet nebulizer หรือ Small volume nebulizer: SVN) : เป็นการพ่นยาโดยใช้เครื่องพ่นที่ผลิตแรงอัดอากาศ เพื่อทำฝอยละอองขนาดเล็ก ที่จะไหลไปตามก๊าซ เข้าสู่ทางเดินหายใจ นิยมให้แบบครั้งคราว ส่วนใหญ่เป็นการให้ในปริมาณยาที่น้อย

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้คือ ใช้รักษาโรคระบบทางเดินหายใจในรายที่ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากเด็ก เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในเด็กที่กำลังมีอาการหอบ เนื่องจากสามารถให้ออกซิเจนไปพร้อมการพ่นฝอยละอองยาได้

 

ข้อดีของการพ่นยาชนิดนี้คือ ใช้ง่าย สะดวก ใช้ได้ทุกกลุ่มอายุ สามารถให้ออกซิเจนแก่เด็กขณะพ่นยาได้ ให้ยาได้หลายชนิดร่วมกัน และมีส่วนผสมที่เป็นน้ำเกลือ (Normal saline) ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ทางเดินหายใจ

 

ข้อเสียของการพ่นยาชนิดนี้คือ ราคาแพง เครื่องพ่นยา หรือถังออกซิเจนมีขนาดใหญ่ ขนย้ายไม่สะดวก ใช้เวลาในการพ่นนานประมาณ 10 -15 นาที และมีโอกาสติดเชื้อจากการปน เปื้อนมากกว่าวิธีอื่น

 

ข. วิธีพ่นยาฝอยละอองแบบต่อเนื่อง (Continuous nebulization therapy):

เป็นการพ่นยาโดย ฝอยละอองขนาดเล็กจะไหลตามก๊าซ เข้าไปในทางเดินหายใจของเด็กอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้คือ มักใช้ในเด็กที่มีอาการหอบขั้นรุนแรง ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่า นั้น

 

ข้อดีของการพ่นยาชนิดนี้คือ สามารถให้ยาขนาดสูงต่อเนื่อง เด็กได้พักผ่อนไม่ต้องถูกปลุกมาพ่นยา

 

ข้อเสีย คือ การปรับอัตราความเร็วของการให้ยาอย่างเหมาะสม ยุ่งยากกว่า

 

ค. วิธีพ่นยาฝอยละอองด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic nebulizer):

 

เป็นเครื่องผลิตฝอยละออง โดยอาศัยกระแสไฟฟ้าผ่านตัวนำ ทำให้เกิดคลื่นเสียงความ ถี่สูง เมื่อมากระทบของเหลว ทำให้เกิดเป็นฝอยละอองขนาด 1-6 ไมครอนผ่านเข้าไปในทาง เดินหายใจของเด็กได้

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้คือ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการให้น้ำเกลือหรือน้ำ เพื่อช่วยให้เสมหะอ่อนตัว และเพิ่มการระบายเสมหะให้ดีขึ้น เหมาะสำหรับเด็กที่เสมหะเหนียวมาก และประสิทธิภาพในการไอน้อย

 

ข้อดีของการพ่นยาชนิดนี้คือ สามารถให้ในเด็กที่ไม่ร่วมมือได้ ไม่ต้องใช้เทคนิคยุ่งยากในการสูดยา ไม่ต้องกลั้นหายใจ ให้ยาได้รวดเร็ว และปริมาณมาก สามารถผสมยาได้หลายอย่าง ไม่มีเสียงดังรบกวนจากเครื่อง

 

ข้อเสียของการพ่นยาชนิดนี้คือ ใช้เวลานานในการสูดยาแต่ละครั้งประมาณ 5 -10 นาทีไม่สามารถใช้กับยาที่มีความหนืดสูง เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด ราคาแพง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการปนเปื้อนในระบบง่าย

 

ง. วิธีพ่นยาฝอยละอองด้วยเอ็ม ดี ไอ (Metered dose inhaler: MDI):

 

เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยใช้ก๊าซเป็นตัวขับเคลื่อน ในการกดพ่นยาจากกระบอกยา

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้ คือ ใช้ในการพ่น ยาขยายหลอดลม ยาสเตอรอยด์ เหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการเหนื่อยด้วย

 

ข้อดีของการพ่นยาวิธีนี้ คือ สะดวก ประหยัดเวลา ใช้เวลาน้อยในการพ่นยาและไม่ต้องเตรียมยา เครื่องมือดูแลรักษาง่าย โอกาสติดเชื้อปนเปื้อนน้อย ราคาถูกกว่า

 

ข้อเสียของการพ่นยาวิธีนี้คือ จำเป็นต้องใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการใช้ยา อาจมีการตก ค้างของยาในช่องปากและลำคอ และอุปกรณ์ไม่มีตัวเลขบอกปริมาณยาที่เหลือ

 

จ. วิธีพ่นยาฝอยละอองแบบแห้ง (Dry powder inhaler: DPI):

 

เป็นการใช้ยาสูดชนิดผง ที่ต้องใช้แรงในการสูดอนุภาคยาที่เป็นผงด้วยอัตราเร็วสูง เพื่อ ให้อนุภาคเหล่านี้หลุดจากกันจนเป็นฝอยละอองยา ผ่านแผงกั้นขนาดเล็กๆ หรือช่องที่ขดอยู่เพื่อให้อนุภาคของยามีขนาดพอเหมาะ

 

ข้อบ่งชี้ของวิธีนี้ คือ เหมาะสำหรับเด็กโตที่สามารถสูดหายใจเข้าได้แรงพอ ไม่ควรใช้ในเด็กที่ป่วยหนัก ไม่มีแรงสูด

 

ข้อดีของวิธีนี้คือ ใช้เวลาน้อยในการใช้ยา ไม่ต้องใช้เทคนิคยุ่งยากในการสูดยา มีขนาดเล็ก จึงพกพาสะดวก มีจำนวนเลขบอกจำนวนยาที่เหลืออยู่ และราคาถูก

 

ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องใช้แรงสูดมาก และมีโอกาสตกค้างที่บริเวณช่องปากและลำคอ

 

มีวิธีเตรียมตัวอย่างไรก่อนการพ่นยาฝอยละออง?

การเตรียมก่อนการพ่นยาฝอยละอองในเด็ก คือ

  • ถ้าเป็นเด็กโต ควรบอกวัตถุประสงค์และวิธีการพ่นยา เพื่อให้เกิดความร่วมมือ เพราะถ้าเด็กร้องไห้ จะทำให้ละอองยาเข้าสู่ปอดได้น้อยลง
  • เตรียมอุปกรณ์สำหรับพ่นยา ยาสารละลาย และควรตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
  • ล้างมือให้สะอาด
  • จัดให้เด็กนอนศีรษะสูง หรือนั่ง

 

มีวิธีพ่นยาฝอยละอองอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด?

วิธีพ่นยามีความแตกต่างกันตามชนิดของเครื่องพ่นยา เด็กและผู้ดูแลควรทำความเข้าใจถึงวิธีการใช้ให้เข้าใจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย

ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะวิธีการพ่นยาฝอยละอองที่นิยมใช้มากที่สุด ในกรณีที่ต้องนำไป ใช้พ่นเองที่บ้านได้ นั่นคือ วิธีพ่นยาด้วย เอ็ม ดี ไอ ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

 

ก. การสูดยาจากกระบอกยาโดยตรง (แบบไม่มีกระบอกพักยา):

เหมาะสำหรับเด็กโตที่สามารถกำหนดจังหวะการหายใจ ให้สัมพันธ์กับการกดยาพ่นได้ดี มีวิธีพ่นดังนี้

 

  • จับกระบอกยาให้ตั้งตรงในแนวดิ่ง เปิดฝาครอบกระบอกยาออก ถ้าเคยเปิดใช้ยามาแล้ว ให้เช็ดทำความสะอาดบริเวณปากกระบอกหรือช่องพ่นยา (Mouthpiece) ก่อนด้วยผ้าสะอาด ถ้าพ่นครั้งแรกหรือหยุดพ่นไปนานกว่าเดือน ให้พ่นยาทิ้งไปก่อน 1 ครั้ง
  • เขย่ากระบอกยาแรงๆในแนวดิ่ง 3-4 ครั้ง ให้ยาผสมกันดี
  • หายใจออกให้สุดทางปาก ระวังไม่ให้ลมหายใจเข้าไปในหลอดยา
  • ใช้ปากอมรอบช่องพ่นยา ปิดปากให้สนิท หรือ ถือให้ช่องพ่นยาห่างจากปากประมาณ 2 นิ้ว
  • กดกระบอกยาพร้อมกับหายใจเข้าช้าๆ หรือหายใจเข้านานประมาณ 3-5 วินาที กลั้นลมหายใจไว้นาน 10 วินาที (อาจใช้วิธีนับ 1 ถึง 10) นำกระบอกยาออกพร้อมกับหายใจออกช้าๆ
  • เช็ดทำความสะอาดปากกระบอกยา (ตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ) หลังพ่นยาแล้ว ปิดฝาครอบกระบอกยา
  • ถ้าต้องการกดยาครั้งต่อไป ควรเว้นระยะห่างจากครั้งแรกประมาณ 20-30 วินาที และถ้าเป็นยาชนิดสเตียรอยด์ (Steroid) ควรอมน้ำกลั้วปากและคอ เพื่อล้างยาที่ไปเกาะช่องปาก หลังพ่นยาทุกครั้ง เพราะการมียาสเตียรอยด์ตกค้างในปาก เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อราในช่องปากได้

 

ข. การสูดยาผ่านกระเปาะพักยา (Spacer):

การพ่นยาผ่านกระเปาะพักยา ซึ่งเป็นแหล่งเก็บละอองฝอยที่พ่นมาจากกระบอกยา จะทำให้ยาเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างและปอดในปริมาณสูงขึ้น ลดการตกค้างของยาในช่องปากและลำคอ เนื่องจากละอองยาวิ่งช้าลง ทำให้อนุภาคขนาดใหญ่กระทบกับผนังของกระเปาะพักยา จนเหลือขนาดยาที่เล็กลง โดยมีวิธีพ่นยาดังนี้

  • เปิดฝาครอบกระบอกยา แล้วเขย่ากระบอกยาในแนวดิ่งหลายๆครั้ง
  • ต่อกระบอกยากับกระเปาะพักยา โดยจับให้กระบอกยาตั้งตรงในแนวดิ่ง กรณีที่ใช้กระเปาะพักยาแบบพลาสติก อาจมีประจุไฟฟ้าสถิต ทำให้อนุภาคยาถูกพลาสติกดูด ปริมาณยาจะเจือจางลง การแก้ไขโดยเลือกแบบที่ทำจากโลหะ หรือล้างกระเปาะพักยาด้วยน้ำยาล้างจานเป็นระยะๆ หรือเคลือบผิวกระเปาะด้วยการกดยาเข้าไปในกระเปาะ 8-10 ครั้ง ก่อนการใช้งานจริงในครั้งแรก
  • ใช้ปากอมรอบช่องพ่นยา (Mouthpiece) ให้สนิท ในเด็กเล็กที่ไม่สามารถสูดหายใจทางปากได้ ต้องต่อกระเปาะพักยากับหน้ากาก (Face mask) และครอบให้แนบสนิทกับปากและจมูก
  • กดยาให้พุ่งออกเต็มที่ เข้าไปในกระเปาะพักยา 1 ครั้ง
  • ในเด็กเล็กให้หายใจเข้าออกธรรมดาประมาณ 5-6 ครั้ง ในเด็กโตที่ร่วมมือดี ให้หายใจเข้าช้าๆและลึกๆ กลั้นลมหายใจ 10 วินาที (อาจใช้วิธีนับ 1 ถึง 10) นำกระบอกยาออกพร้อมกับหายใจออกช้าๆ
  • ถ้าต้องการกดยาครั้งต่อไป ควรเว้นระยะห่างจากครั้งแรกประมาณ 20-30 วินาที

 

อนึ่ง แพทย์ และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย จะสอนผู้ป่วย และ/หรือ ผู้ดูแล ก่อนการใช้ยาพ่นเสมอ เพื่อให้ฝึกทำจนเข้าใจ และสามารถให้ยาได้เองอย่างถูกต้องเมื่อใช้ยาที่บ้าน ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจ หรือ ยังไม่มั่นใจ ให้สอบถาม และฝึกกับพยาบาล จนมั่นใจ

 

มีวิธีดูแลความสะอาดอุปกรณ์พ่นยาอย่างไร?

ควรถอดหลอดยาส่วนที่เป็นโลหะออกจากส่วนที่เป็นพลาสติก เช็ดด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดหมาดๆ ทิ้งไว้จนแห้ง แล้วประกอบกลับเข้าที่เดิม ส่วนกระเปาะพักยาควรทำความสะอาดเดือนละครั้ง หรือทำความสะอาดเมื่อสกปรก โดยล้างด้วยน้ำยาล้างจานเจือจาง ทิ้งไว้ให้แห้ง ไม่ควรเช็ดด้วยผ้าหรือล้างด้วยน้ำ เพราะจะทำให้ผนังด้านในเกิดประจุไฟฟ้า

 

สรุป

การพ่นยาหรือการบำบัดรักษาด้วยยาฝอยละอองในเด็ก เป็นวิธีบริหารยา/ให้ยาที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ วิธีพ่นยามีหลายรูปแบบที่แพทย์เลือกใช้ ให้เหมาะสมกับ วัย สุขภาพ และโรคของเด็ก จึงควรรู้วิธีพ่นยาอย่างถูกวิธี รวมทั้งดูแลอุปกรณ์พ่นยาอย่างถูกต้อง เพื่อให้การรักษาได้ผลมากที่สุด

 

บรรณานุกรม

  1. ยุพยงค์ ทังสุบุตร และคณะ. (บรรณาธิการ). (2552). หลักและเทคนิคปฏิบัติการพยาบาลเด็ก. นนทบุรี: ยุทธรินทร์ การพิมพ์.
  2. อรุรวรรณ พฤทธิพันธุ์ และคณะ. (บรรณาธิการ). (2549). ตำราการบำบัดรักษาทางระบบหายใจในเด็ก สำหรับแพทย์และพยาบาล. กรุงเทพ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์.
  3. สุชาดา ศรีทิพยวรรณ และคณะ. (บรรณาธิการ). (2553) . แนวทางการบำบัดรักษาทางระบบหายใจในเด็ก. กรุงเทพ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์.
  4. ทนันชัย บุญบูรพงศ์. (2553). การบำบัดรักษาระบบหายใจในเวชปฏิบัติ. กรุงเทพ: ช่อระกาการพิมพ์.
  5. Ruth, C.B., Jame, W.B. (2008). Clinical Skills Manual for Pediatric Nursing Caring for Children. New Jersey: Pearson Education.