วิธีการบริหารยา (Routes of drug administration)

บทความที่เกี่ยวข้อง


วิธีการบริหารยา

วิธีการบริหารยาหมายถึงอะไร?

วิธีการบริหารยา/วิธีใช้ยา/วิธีบริหารยา(Route of drug administration) หมายถึง วิธี/ช่องทางต่างๆ ในการนำยาเข้าสู่ร่างกาย เพื่อหวังผลรักษาโรคหรือรักษาความผิดปกติต่างๆ วิธีการบริหารยาที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อความเร็วและต่อปริมาณของยาที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยแต่ละวิธี จะมีข้อดี ข้อเสีย และข้อบ่งใช้ ที่แตกต่างกันออกไป

วิธีการบริหารยามีกี่วิธี?

วิธีการบริหารยา แบ่งตามประเภทวิธีการได้ดังต่อไปนี้ เช่น

1. การให้ยาทางปาก (Oral route): เป็นวิธีที่ให้ยาผ่านทางช่องปาก หลังจากนั้นยาจะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และไปยังบริเวณออกฤทธิ์ (Site of action)

2. การให้ยาโดยการฉีด (Parenteral route): เป็นวิธีที่ให้ แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ฉีดยาที่บริเวณต่างๆ ของร่ายกาย รวมถึงใช้ความลึกในการฉีดยาที่ต่างกัน เช่น การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ(Intramuscular injection, ย่อว่า IM) การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ(Intravenous injection ย่อว่า IV)

3. การให้ยาทางทวารหนัก (Rectal route): เป็นการให้ยาผ่านทางทวารหนักเพื่อหวังผลให้ยาออกฤทธิ์ทั้งเฉพาะที่ทวารหนักและออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย เนื่องจากบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย/ ทวารหนัก มีผนังบางและมีเส้นเลือด/หลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก จึงส่งผลให้ยาถูกดูดซึมได้ดี

4. การให้ยาทางช่องคลอด (Vaginal route): เป็นยาที่ให้ผ่านทางช่องคลอดเพื่อหวังผลให้ยาออกฤทธิ์ทั้งเฉพาะที่ช่องคลอดและออกฤทธิ์ทั่วร่างกายโดยการดูดซึมผ่านทางผนังช่องคลอด การบริหารยาวิธีนี้พบได้บ่อยในการใช้ยากลุ่มฮอร์โมนต่างๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง และในการใช้ยาฆ่าเชื้อกรณีมีการอักเสบของช่องคลอด(ช่องคลอดอักเสบ)

5. การให้ยาทางใต้ลิ้น(Sublingual route) และ/หรือทางกระพุ้งแก้ม (Buccal route): เป็นการให้ยาชนิดที่ต้องการให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านบริเวณเนื้อเยื่อใต้ลิ้นและเยื่อบุช่องปากบริเวณกระพุ้งแก้ม ที่เม็ดยาชนิดที่ใช้ทางช่องทางนี้จะแตกหรือกระจายตัวอย่างรวดเร็วที่ใต้ลิ้น/กระพุ้งแก้ม ส่งผลให้ตัวยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น เช่น ยาในการรักษาอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด

6. การให้ยาทางจมูก (Intranasal route): เป็นการให้ยาผ่านทางจมูกโดยตรง การให้ยาวิธีนี้จะให้ผลเฉพาะที่ โดยตัวยาจะถูกดูดซึมผ่านเยื่อจมูก และหากใช้ยาปริมาณมากพอจะให้ผลการรักษาทั่วร่างกายได้เช่นกัน เช่น ในการรักษาอาการคัดจมูก

7. การให้ยาผ่านทางเดินหายใจ (Respiratory route): เป็นการให้ยาผ่านทางเครื่องมือชนิดต่างๆ ที่พ่นยาให้ออกมามีลักษณะเป็นละอองฝอย (Aerosol) ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางทางเดินหายใจ เช่น ยารักษาโรคหืด

8. การให้ยาทางผิวหนัง (Transdermal route): เป็นการให้ยาผ่านทางผิวหนัง ตัวยาจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังอย่างช้าๆ ติดต่อกันตลอดเวลา และสามารถออกฤทธิ์ได้นานหลายชั่วโมง

9. การให้ยาใช้ภายนอก/ยาใช้เฉพาะที่/การให้ยาเฉพาะที่ (Topical route, Local route): เป็นการให้ยาที่ถูกดูดซึมผ่านทางผิวหนังและเยื่อเมือกต่างๆ มักต้องการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ในบริเวณที่มีการเกิดโรคเท่านั้น ได้แก่ ผิวหนัง ตา(ยาหยอดตา) หู(ยาหยอดหู) และจมูก(ยาหยอดจมูกสำหรับโรคในจมูก)

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อบ่งใช้อย่างไร?

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อบ่งใช้ ดังนี้ เช่น

1. การให้ยาทางปาก เป็นการให้ยาที่ให้ผู้ป่วยกลืนยาหรือเคี้ยวเม็ดยาแล้วกลืนทางปากตามขนาดที่กำหนด ยาที่ให้ทางปากจะอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาเม็ด (Tablet), ยาแคปซูล (Capsule), ยาน้ำเชื่อม (Syrup), ยาน้ำใส (Solution) เป็นต้น

2. การให้ยาโดยการฉีด ใช้ฉีดบริเวณที่ต่างกันของร่างกาย ได้แก่ การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง(เนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างผิวหนังกับกล้ามเนื้อ) (Subcutaneous injection ย่อว่า Subcu), การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ , การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ, การฉีดยาเข้าช่องไขสันหลัง (Intrathecal injection ย่อ IT) ยาที่ใช้ฉีดจะต้องเป็นยาชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile) อาจอยู่ในรูปแบบ ยาน้ำใส ยาน้ำแขวนตะกอน และยาผงสำหรับละลายก่อนการฉีด เป็นต้น

3. การให้ยาทางทวารหนัก มีวิธีใช้ที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบของยาดังต่อไปนี้

  • ยาเหน็บ (Suppository) ให้ผู้ป่วยสอดเม็ดยาเข้าไปในทวารหนักโดยใช้นิ้วมือดันเข้าไปช้าๆ พยายามสอดให้ลึก นอนอยู่ในท่าเดิมสักครู่ (อย่างน้อย 15 นาที) เพื่อไม่ให้แท่งยาหลุดออกมา
  • ยาสวนทวาร (Enema) ให้สอดปลายหลอดยาเข้าไปในทวารหนัก แล้วค่อยๆ บีบยาจากภาชนะบรรจุจนน้ำยาหมดหลอดยา
  • ยาครีมหรือยาขี้ผึ้ง ให้ใช้หลอดพลาสติกที่อยู่ในกล่องยาสวมเข้ากับหลอดยา สอดเข้าไปในทวารหนักแล้วบีบที่หลอดยาเบาๆ เพื่อให้ครีม/ยาผ่านเข้าช่องทวาร

4. การให้ยาทางช่องคลอด มีวิธีใช้ที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบของยาดังต่อไปนี้

  • ยาเหน็บ (Suppository) ให้ผู้ป่วยสอดเม็ดยาเข้าไปในช่องคลอดโดยใช้นิ้วมือหรือเครื่องมือช่วยสอดดันเข้าไปช้าๆ นอนอยู่ในท่าเดิมสักครู่ (อย่างน้อย 15 นาที) พยายามสอดให้ลึกเพื่อไม่ให้แท่งยาหลุดออกมา
  • วงแหวนสอดช่องคลอดหรือวงแหวนคุมกำเนิด (Vaginal ring) ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบวงแหวนแล้วสอดให้ลึกเข้าไปในช่องคลอด ให้ใส่วงแหวนนี้เป็นเวลาครั้งละ 3 สัปดาห์แล้วถอดออกโดยใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในช่องคลอด เกี่ยวรอบวงแหวนแล้วดึงออกมา เว้นระยะ 1 สัปดาห์จึงใส่วงแหวนเข้าไปในช่องคลอดใหม่อีกครั้ง
  • ยาครีมหรือยาเจล(Gel) ให้ใช้หลอดพลาสติกที่อยู่ในกล่องยา สวมเข้ากับหลอดยา สอดเข้าไปในช่องคลอดแล้วบีบที่หลอดยาเบาๆ เพื่อให้ครีม/ยาผ่านเข้าด้านในช่องคลอด

5. การให้ยาทางใต้ลิ้น/กระพุ้งแก้ม

  • ยาอมใต้ลิ้น (Sublingual tablet) ใช้อมยาไว้ใต้ลิ้นแล้วรอให้เม็ดยาละลายจนหมด
  • สเปรย์พ่นใต้ลิ้น (Sublingual spray) ใช้พ่นสเปรย์เข้าในปากบริเวณใต้ลิ้น
  • ยาอมข้างกระพุ้งแก้ม (Buccal tablet) ใช้อมบริเวณกระพุ้งแก้ม หรือบริเวณระหว่างริมฝีปากบนกับเหงือก

6. การให้ยาทางจมูก (Intranasal route)

  • ยาพ่นจมูก (Nasal spray) ใช้สอดปลายพ่นเข้าไปในรูจมูก แล้วกดที่พ่นยาพร้อมกับสูดหายใจเข้าช้าๆ
  • ยาหยอดจมูก (Nasal drop) ใช้หยอดเข้ารูจมูกโดยใช้หลอดหยดตามปริมาณที่กำหนดไว้
  • น้ำยาสวนล้างจมูก (Nasal wash) ใช้ล้างทำความสะอาดจมูกเพื่อให้ภายในโพรงจมูกโล่งสะอาด

7. การให้ยาผ่านทางเดินหายใจ (Respiratory route) เป็นการใช้ยาในรูปแบบของสารละลาย (Solution) หรือยาผงผ่านเครื่องพ่นยาให้ออกมาในลักษณะของละอองฝอย แล้วพ่นเข้าทางปาก หรือต่ออุปกรณ์กับหน้ากาก (Face mask) แล้วหายใจเข้าทางจมูกตามปกติ

8. การให้ยาทางผิวหนัง (Transdermal route) ยาที่ให้ผ่านทางนี้จะอยู่ในรูปแบบแผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch) ก่อนใช้ยานี้ให้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นก่อนแล้วเช็ดให้แห้ง (ห้ามทาครีม โลชั่น หรือน้ำหอมผิวหนังส่วนนั้น) ใช้แผ่นยาปิดผิวหนังบริเวณลำตัว ต้นแขน หรือสะโพก และให้เปลี่ยนที่แปะทุกวันเพื่อลดอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่แปะยา

9. การให้ยาทาภายนอก (Topical route) ยาที่ให้ผ่านวิธีนี้จะเป็นยาใช้ภายนอกซึ่งอยู่ในรูปแบบต่างๆเช่น ครีม (Cream), ขี้ผึ้ง (Ointment), ยาน้ำใส (Solution), ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) ซึ่งใช้ทาบริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ยังเป็นยาใช้เฉพาะที่บริเวณหูและตาซึ่งอยู่ในรูปแบบ ยาหยอดตา (Eye drops) หรือยาหยอดหู (Ear drop) เป็นต้น

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อห้ามใช้อย่างไร?

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อห้ามใช้ เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ยาในรูปแบบที่เป็นยาใช้ภายนอก ห้ามนำมารับประทาน

3. ในขณะที่ผู้ป่วยกำลังใช้ ยาอมใต้ลิ้น ห้ามเคี้ยวยา ห้ามกลืนทั้งเม็ด ห้ามบ้วน หรือกลืนน้ำลาย และห้ามสูบบุหรี่ในระหว่างที่อมยา

4. การใช้ยาพ่นจมูก ห้ามพ่นยาไปที่ผนังกั้นช่องจมูก เพราะอาจทำให้ผนังกั้นช่องจมูกเป็นแผล และมีเลือดกำเดาไหลได้

5. หากผู้ป่วยต้องใช้ยาในรูปแบบ แผ่นแปะผิวหนัง ห้ามตัดแผ่นแปะเพื่อปรับขนาดยา เพราะทำให้ประสิทธิภาพในการปลดปล่อยตัวยาลดลง

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อดีอย่างไร?

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อดี เช่น

1. การให้ยาทางปาก : เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด ข้อดี เช่น

  • ใช้ง่าย สะดวก ผู้ป่วยสามารถใช้ยาด้วยตัวเองได้
  • มีราคาถูกกว่ายาที่ใช้โดยวิธีอื่นๆ

2. การให้ยาโดยการฉีด : ข้อดี เช่น

  • เป็นวิธีที่ยาออกฤทธิ์เร็ว เหมาะกับการรักษาที่ต้องการเห็นผลแบบทันที
  • ตัวยาไม่ถูกทำลายในบริเวณทางเดินอาหาร จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมยา ขนาดยาที่ออกฤทธิ์ถูกต้องและแม่นยำ
  • สามารถใช้กับคนไข้ที่หมดสติได้

3. การให้ยาทางทวารหนัก: ข้อดี เช่น

  • ยาให้ทางทวารหนักชนิดที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ สามารถใช้รักษาโรคที่เกิดบริเวณทวารหนักได้ดี เช่น ริดสีดวงทวาร
  • ใช้กับผู้ป่วยที่หมดสติ มีภาวะกลืนยาก/กลืนลำบาก หรือไม่ชอบรับประทานยา

4. การให้ยาทางช่องคลอด: ข้อดี เช่น

  • เป็นยาชนิดที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ สามารถใช้รักษาโรคที่เกิดบริเวณช่องคลอดได้ดี เช่น ช่องคลอดอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคที่เกิดบริเวณช่องคลอดที่อยู่ในรูปแบบของยารับประทาน

5. การให้ยาทางใต้ลิ้นและกระพุ้งแก้ม : ข้อดี เช่น

  • ฤทธิ์ยาไม่ถูกทำลายโดยกรดในทางเดินอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการเกิด First pass metabolism(กระบวนการทำลายบางส่วนประกอบของยาเมื่อยาเริ่มเข้าสู่ร่างกายที่จะช่วยลดผลข้างเคียงของยาลงได้)ที่ตับ
  • ตัวยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นยา Isosorbide dinitrate สามารถออกฤทธิ์ได้ทันทีเมื่อใช้อมใต้ลิ้นเพื่อบรรเทาอาการปวดเค้นหัวใจ/เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด

6. การให้ยาทางจมูก: ข้อดี เช่น

  • ยาพ่นหรือยาหยอดจมูกบางกลุ่มออกฤทธิ์เร็ว สามารถบรรเทาอาการที่เกิดบริเวณจมูก เช่น คัดจมูก ได้ทันที

7. การให้ยาผ่านทางเดินหายใจ: ข้อดี เช่น

  • ตัวยามีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเข้าไปออกฤทธิ์ที่บริเวณเนื้อเยื่อปอดและหลอดลมได้โดยตรง
  • มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาน้อยกว่ายาในรูปแบบรับประทานและยาฉีด

8. การให้ยาทางผิวหนัง: ข้อดี เช่น

  • ระดับยาในกระแสเลือดคงที่ เพราะตัวยาจะค่อยๆ ถูกปล่อยออกจากแผ่นยา ทำให้ระดับยาไม่ขึ้นสูงมากจนเกินไป จึงสามารถลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้
  • แผ่นแปะผิวหนังมักจะมีช่วงเวลาออกฤทธิ์นาน จึงเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาได้ เพราะผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผ่นแปะบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการเกิด First pass metabolism ที่ตับ

9. การให้ยาใช้ภายนอก: ข้อดี เช่น

  • ใช้ง่าย สะดวก ผู้ป่วยสามารถใช้ยาด้วยตัวเองได้
  • ยาจะออกฤทธิ์ที่อวัยวะนั้นๆเร็วกว่ารูปแบบยารับประทาน เพราะรูปแบบยารับประทานต้องรอให้ยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดก่อน
  • ลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มากกว่ายารูปแบบรับประทานและยาฉีด เพราะยาออกฤทธิ์แค่เฉพาะที่/เฉพาะจุดที่สัมผัสยา ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ก็จะอยู่ในปริมาณที่ค่อนข้างน้อย จึงมีผลข้างเคียงจากยานั้นๆลดลง

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อเสียอย่างไร?

แต่ละวิธีการบริหารยามีข้อเสีย เช่น

1. การให้ยาทางปาก : ข้อเสีย เช่น

  • ไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยที่หมดสติ
  • ไม่สะดวกในผู้ป่วยบางกลุ่มที่มี ภาวะกลืนลำบาก เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยจิตเวช
  • ไม่สะดวกต่อการพกพา ตัวอย่างเช่น ยาในรูปแบบยาน้ำ ส่งผลให้ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยลดลง
  • ออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า จึงไม่สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉินได้
  • ถ้ายามีรสชาติหรือกลิ่นไม่ดี อาจทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทาน หรือไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา
  • ยาบางชนิดอาจถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร และบางส่วนจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์บริเวณตับ (First pass metabolism) ทำให้เหลือยาที่สามารถออกฤทธิ์ได้จริงลดลง

2. การให้ยาโดยการฉีด : ข้อเสีย เช่น

  • เป็นวิธีที่ไม่สะดวกเนื่องจากการให้ยาต้องทำโดยผู้ที่มีทักษะ
  • มีโอกาสเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์จากยาชนิดรุนแรง เพราะตัวยาถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วในขนาดยาที่ค่อนข้างสูง
  • อาจทำให้ผู้ป่วย รู้สึกเจ็บ และกลัวเข็มฉีดยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก
  • มีราคาแพงกว่ายาในรูปแบบอื่น

3. การให้ยาทางทวารหนัก, การให้ยาทางช่องคลอด: ข้อเสีย เช่น

  • วิธีการใช้ยาค่อนข้างยุ่งยาก ไม่สะดวก
  • ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เพิ่งจะได้รับการผ่าตัดบริเวณทวารหนัก หรือ ช่องคลอด

4. การให้ยาทางใต้ลิ้นและกระพุ้งแก้ม : ข้อเสีย เช่น

  • ไม่สะดวก เพราะต้องอมยาไว้ในช่องปากตลอดเวลา รอให้ยาละลายจนหมด ซึ่งในระหว่างนั้นไม่สามารถรับประทานอาหาร และไม่สามารถพูดคุยได้สะดวก

5. การให้ยาทางจมูก: ข้อเสีย เช่น

  • การใช้ยาพ่นจมูกอาจทำให้รู้สึกถึงรสขมของยาได้ เพราะช่องจมูกและคอมีทางเชื่อมต่อถึงกัน
  • การใช้ยาพ่นหรือยาหยอดแก้คัดจมูกติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 5 วัน อาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

6. การให้ยาผ่านทางเดินหายใจ: ข้อเสีย เช่น

  • ต้องอาศัยเทคนิคการพ่นยาและการสูดหายใจที่สัมพันธ์กัน จึงจะทำให้ตัวยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้ดี
  • มีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากตัวยาและเครื่องพ่นยามีราคาแพง

7. การให้ยาทางผิวหนัง: ข้อเสีย เช่น

  • อาจทำให้เกิด ผื่นแดง คัน ระคายเคืองบริเวณผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการแพ้กาวในแผ่น พลาสเตอร์ยา
  • เห็นผลการรักษาช้า เพราะตัวยาจะค่อยๆ ถูกปล่อยออกจากแผ่นยา
  • ตัวแผ่นหลุดออกง่ายเมื่อ เหงื่อออก ว่ายน้ำ หรืออาบน้ำ

8. การให้ยาภายนอก: ข้อเสีย เช่น

  • ยาทาผิวหนังบางชนิดมีโมเลกุลใหญ่ ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังได้น้อยและช้า นอกจากนั้นยังหลุดออกได้ง่ายเมื่อโดนน้ำหรือเหงื่อ
  • ยาในบางรูปแบบ เช่น ขี้ผึ้ง มีความเหนียว เป็นมัน อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว

แต่ละวิธีบริหารยา มีข้อควรระวัง/ควรดูแลตัวเองอย่างไรหลังการบริหารยา?

แต่ละวิธีบริหารยา ผู้ป่วยควรมีข้อควรระวัง/ควรดูแลตัวเองหลังการบริหารยา เช่น

1. การให้ยาทางปาก : ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาแต่ละตัวมีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ยาเม็ดที่ถูกออกแบบมาให้อยู่ในรูปที่ถูกควบคุมการปลดปล่อยตัวยา จะห้ามแบ่ง บด เคี้ยวหรือทำให้เม็ดยาแตก

2. การให้ยาโดยการฉีด : ไม่ควร นวด คลึง หรือสัมผัสบริเวณที่ฉีดยา เพราะจะเพิ่มอาการ ปวด บวม การติดเชื้อ บริเวณนั้นได้

3. การให้ยาทางทวารหนัก และการให้ยาทางช่องคลอด : หลังจากสอดยาเหน็บทวารหนักหรือยาเหน็บช่องคลอดแล้ว ให้ผู้ป่วยนอนอยู่ท่าเดิมสักครู่ประมาณ 15 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้ยาไหลออกมา

4. การให้ยาทางใต้ลิ้นและกระพุ้งแก้ม : ในขณะที่ผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่ให้ทางใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ควรหลีกเลี่ยงการ กิน ดื่ม และสูบบุหรี่ในระหว่างที่อมยา

5. การให้ยาทางจมูก : การใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ จะต้องใช้ยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง เพราะไม่สามารถบรรเทาอาการของโรคได้ทันที นอกจากนี้อุปกรณ์พ่นยาที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจมีวิธีใช้แตกต่างกัน ผู้ป่วยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารกำกับยา และต้องใช้ยาได้ถูกต้องตามวิธีใช้ยานั้นๆจึงจะเกิดประสิทธิภาพทางการรักษา

6. การให้ยาผ่านทางเดินหายใจ : เครื่องพ่นยาที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจมีวิธีใช้แตกต่างกัน ควรศึกษาวิธีใช้และวิธีประกอบเครื่องพ่นยาให้ถูกต้อง

7. การให้ยาทางผิวหนัง : การใช้ยาในรูปแผ่นแปะผิวหนังควรติดผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน ไม่มีบาดแผล ถ้าจำเป็นต้องติดบริเวณที่มีขน ให้ใช้กรรไกรเล็มขนออก ไม่ควรใช้มีดโกนเพราะอาจทำให้ผิวหนังเกิดบาดแผลได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อจากการปิดแผ่นยาได้ง่ายขึ้น

8. การให้ยาใช้ภายนอก : ควรใช้ยาในปริมาณน้อยที่สุดและระยะเวลาสั้นที่สุดเท่านั้น เพราะการใช้ยาขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ทั่วร่างกาย

แต่ละวิธีบริหารยา กรณีใดที่ผู้ป่วยควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด?

ในทุกวิธีการบริหารยา ผู้ป่วยควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเพื่อตรวจติดตามผลการรักษา

แต่หาก อาการของโรคไม่ดีขึ้น ทรุดลงกว่าเดิม หรือมีอาการผิดปกติต่างๆ หรืออาการผิดปกติต่างหลังใช้ยามีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือเมื่อกังวลในอาการที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด

แต่หากมีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคันทั่วร่างกาย ใบหน้าบวม ตาบวม หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน ทันที/ฉุกเฉิน

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Verma, P., and others. Routes of drug Administration. International Journal of Pharmaceutical Studies and Research 1. (July – September 2010) : 54-59.
  2. คณะทำงานพัฒนามาตรฐานทักษะวิชาชีพด้านการเตรียมยา. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม. นนทบุรี : สภาเภสัชกรรม, 2554.
  3. วิภาดา สัมประสิทธิ์ และประณีต โอปณะโสภิต. เทคโนโลยีการผลิตเภสัชภัณฑ์แตกตัวในช่องปาก. ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ 8. (เมษายน – มิถุนายน 2556) : 86-93.
  4. สุชาดา ชุติมาวรพันธ์. บทนำสู่การออกแบบรูปแบบยาเตรียมและขั้นตอนก่อนการตั้งสูตรตำรับ. กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. (อัดสำเนา)