วิตามินเอ (Vitamin A)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

วิตามินเอ (Vitamin A) คือ วิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน เป็นสารอาหารสำคัญในการบำรุงสายตา,  ช่วยการเจริญของเซลล์, และสร้างภูมิคุ้มกันโรค, มนุษย์จะได้รับวิตามินนี้จากอาหารประเภท นม ตับ ชีส (Cheese/เนยแข็ง) ไข่ แครอด ผักใบเขียว และผักใบเหลือง รวมถึงผลไม้ต่างๆโดยเฉพาะที่มีสีเหลือง/แสด/ส้ม

วิตามินเอ เป็นกลุ่มของสารประกอบอินทรีย์ (Organic compounds) ที่รวมถึงสารต่างๆหลายชนิด เข่น Retinol, Retinal, Retinoic acid, Provitamin A, Carotenoids และ Beta-carotene

หน้าที่สำคัญของวิตามินเอที่มีต่อร่างกายมนุษย์ เช่น

  • ช่วยให้การมองเห็นเป็นไปอย่างปกติ
  • สนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
  • เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เซลล์มีการเจริญเติบโต
  • จำเป็นต่อกระบวนการลอกรหัสพันธุกรรมในร่างกาย
  • ทำให้ผิวหนังแข็งแรง

อนึ่ง: สำหรับอาการของผู้ที่ขาดวิตามินเอ(ภาวะขาดวิตามินเอ)อาจแสดงออกมาในลักษณะต่างๆดังนี้ เช่น

  • เกิดภาวะตาบอดกลางคืนหรือการปรับสภาพสายตาในที่มืดไม่ดีเหมือนปกติ
  • มีภาวะตาแห้ง เกิดการหนาตัวของเยื่อตาและของกระจกตาที่ส่งผลต่อการมองเห็น
  • เกิดภาวะกระจกตาเป็นแผล/ กระจกตาอักเสบ
  • เกิดการหลุดร่อนของผิวหนัง
  • หากเป็นเด็กการขาดวิตามินเอจะทำให้เจริญเติบโตช้าและเกิดภาวะติดเชื้อได้ง่าย

ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการขาดวิตามินเอของร่างกายส่วนมากจะมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายได้รับวิตามินเอมากเกินไปจะก่อให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันและอาจมีอาการดังนี้ เช่น ปวดหัว  มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร มีผื่นคัน ง่วงนอน ปวดท้อง บางกรณีอาจพบอาการลอกของผิวหนัง หากเกิดพิษในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์จะส่งผลต่อทารกและทำให้วิกลรูป/พิการแต่กำเนิดได้

ขั้นตอนการบำบัดพิษจากวิตามินเอต้องให้ผู้ป่วยหยุดการใช้วิตามินเอเป็นประการแรก จาก นั้นแพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

สำหรับยาแผนปัจจุบันของยาวิตามินเอจะมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด การเลือกใช้ยาวิตามินเอไม่ว่าจะรูปแบบใดควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว และผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้วิตามินเอได้ตามสถานพยาบาลทั่วไป

วิตามินเอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

วิตามินเอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดอาการจากภาวะขาดวิตามินเอของร่างกาย
  • รักษาอาการตาแห้ง

วิตามินเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของวิตามินเอ คือ จะทำให้เซลล์ทำหน้าที่ต่างๆในร่างกายได้อย่างสมดุลและเหมาะสม โดยช่วยให้การทำงานของตาให้เป็นปกติ รวมถึงช่วยในกระบวนการลอกรหัสพันธุกรรมของร่างกายซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ กระบวนการซ่อมแซมของผิวหนัง, วิตามินเอยังแสดงบทบาทเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างเหมาะสม, จากหน้าที่ดังกล่าวมาทั้งหมดส่ง ผลให้ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการขาดวิตามินเอได้เป็นอย่างดี

วิตามินเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาวิตามินเอมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 8,000; 10,000; และ 25,000 ยูนิตสากล/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5,000; 10,000; 15,000 ยูนิตสากล/เม็ด
  • ยาฉีดขนาด 50,000 ยูนิตสากล/2 มิลลิลิตร

วิตามินเอมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้วิตามินเอรักษาอาการป่วยมีทั้งแบบรับประทานหรือแบบฉีดเข้าร่างกาย ในทางปฏิบัติสามารถใช้ยา/บริหารยาได้ทั้งสองแบบควบคู่กันไป ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะการใช้ยาวิตามินเอสำหรับบำบัดอาการขาดวิตามินเอ เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น
    • รับประทาน 100,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 3 วัน, จากนั้นแพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 50,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 สัปดาห์, และแพทย์จะปรับขนาดรับประทานครั้งสุดท้ายเป็น 10,000 - 20,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 เดือน
    • หรือ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 100,000 ยูนิต /วันเป็นเวลา 3 วัน, จากนั้นแพทย์จะปรับลดขนาดการฉีดเหลือ 50,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วเปลี่ยนมารับประทาน 10,000 - 20,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 เดือน
  • เด็กอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป: เช่น
    • รับประทาน 100,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 3 วัน, จากนั้นแพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 50,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 สัปดาห์, และปรับขนาดรับประทานครั้งสุดท้ายเป็น 10,000 - 20,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 เดือน
    • หรือ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 100,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นปรับลดขนาดการฉีดเหลือ 50,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วเปลี่ยนมารับประทาน 10,000 - 20,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 เดือน
  • เด็กอายุ 1 - 8 ปี: เช่น ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 17,500 - 35,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 10 วัน, จาก นั้นแพทย์ปรับเป็นรับประทานยาขนาด 5,000 - 10,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 เดือน
  • เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี: เช่น ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 7,500 - 15,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 10 วัน, จากนั้นแพทย์ปรับเป็นรับประทานยาขนาด 5,000 - 10,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 2 เดือน

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาวิตามินเอ ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์  พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาวิตามินเออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาวิตามินเอสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาวิตามินเอให้ตรงเวลา

วิตามินเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาวิตามินเอสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • มีภาวะเลือดออกง่าย เช่น เลือดออกจากเหงือก
  • รู้สึกสับสน
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ผิวหนังลอก
  • อาจพบอาการปวดข้อและปวดกระดูก
  • บางกรณีจะพบอาการชัก
  • ผิวแห้ง
  • ปากคอแห้ง
  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย มี
  • อาการผิวแพ้แสงแดด
  • ปัสสาวะบ่อย
  • เบื่ออาหาร
  • ผมร่วง
  • เท้า-มือ-ผิวหนัง-จมูกมีสีออกเหลืองส้ม

มีข้อควรระวังการใช้วิตามินเออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวิตามินเอ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้องค์ประกอบในสูตรตำรับของยาวิตามินเอ
  • ห้ามใช้วิตามินเอชนิดฉีด ฉีดเข้าหลอดเลือดแต่ให้ใช้โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานเพิ่มด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาวิตามินเอกับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยวิตามินเอสามารถทำให้ทารกวิกลรูป/พิการแต่กำเนิดได้
  • การใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้นด้วย วิตามินเอสามารถผ่านไปกับน้ำนมมารดาและเข้าถึงทารกได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิตามินเอด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

วิตามินเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวิตามินเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้วิตามินเอ ร่วมกับยา Doxycycline และ Tetracycline ด้วยอาจเกิดภาวะความดันในกระโหลกศีรษะสูง บางกรณีอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
  • ห้ามใช้วิตามินเอ ร่วมกับยา Isotretinoin และ Tretinoin  ด้วยจะเสี่ยงกับภาวะมีวิตามินเอสูงเกินในเลือด (Hypervitaminosis A) โดยจะมีอาการมองไม่เห็น ความดันในกะโหลกศีรษะสูง มีภาวะไขมันในเลือดสูง มีอาการอักเสบของตับ/ตับอักเสบ และตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
  • การใช้วิตามินเอ ร่วมกับยา Bexarotene   อาจนำมาซึ่งอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของวิตามินเอต่างๆ เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาเจียน ผิวแห้ง-แตก ผมร่วง ผิวเป็นสีเหลือง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาวิตามินเออย่างไร?

ควรเก็บยาวิตามินเอ:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

วิตามินเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวิตามินเอ ยาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aquasol A (อะควอโซล) BIO-TECH
Hospira A-25 (เอ-25)  
RATINOL Forte (แรทินอล ฟอร์ท) Drug International Ltd.
OVIT-A (โอวิท-เอ) Opsonin Pharma Limited
VIS-A SG (วิส-เอ เอสจี) Pacific Pharmaceuticals Ltd.

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_A   [2023,Feb4]
  2. https://www.drugs.com/mtm/vitamin-a.html   [2023,Feb4]
  3. https://www.news-medical.net/health/Vitamin-A-Functions.aspx   [2023,Feb4]
  4. https://www.merckmanuals.com/professional/nutritional-disorders/vitamin-deficiency-dependency-and-toxicity/vitamin-a-deficiency?redirectid=3248?ruleredirectid=30&redirectid=1136?ruleredirectid=30  [2023,Feb4]
  5. https://www.drugs.com/monograph/vitamin-a.html  [2023,Feb4]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/vitamin-a-index.html?filter=3&generic_only=  [2023,Feb4]
  7. https://www.medindia.net/drug-price/retinol-vitamin-a.htm   [2023,Feb4]