วาเรนิคลิน (Varenicline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวาเรนิคลิน(Varenicline)เป็นยาประเภท นิโคตินิก อะโกนิสต์ (Nicotinic agonist)มีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายสารสื่อประสาทซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า Acetylcholine (Ach)ที่อยู่ในเซลล์สมอง ทางคลินิกใช้ยาวาเรนิคลินเป็นยาอดบุหรี่ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีอาการเสพติดสาร Nicotine อย่างรุนแรง อิทธิพลของยานี้มีต่อตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า ตัวรับนิโคตินิก(Nicotinic receptor) ส่งผลทำให้ความรู้สึกอยากเสพบุหรี่บรรเทาเบาบางลงได้เป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การใช้กลุ่มยาที่มีการออกฤทธิ์ต่อสมองอย่างยาวาเรนิคลิน จะต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่รับยานี้ประกอบกัน เช่น มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์อย่างเช่น ซึมเศร้า หรืออยากทำร้ายตนเองหรือไม่ ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยานี้ ญาติของผู้ป่วย ต้องมีบทบาทในการเฝ้าติดตามพฤติกรรมผู้ป่วย ที่อาจเปลี่ยนแปลง และต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที หากพบแนวโน้มการทำร้ายตนเองเกิดขึ้น

ยาวาเรนิคลินมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน โดยแพทย์จะเริ่มต้นให้ยานี้กับผู้ป่วยที่ขนาดยาต่ำๆก่อน จากนั้นจึงค่อยๆปรับเพิ่มขนาดรับประทานขึ้นเป็นลำดับ การใช้ยาวาเรนิคลินให้ได้ผลอย่างจริงจัง จะต้องอาศัยความตั้งใจของผู้ป่วยที่ต้องการเลิกบุหรี่เป็นสำคัญด้วย

สำหรับข้อห้าม/ข้อควรระวังที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนใช้ยาวาเรนิคลินมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาวาเรนิคลิน
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบเกิดอาการ ก้าวร้าว ตัวสั่น ซึมเศร้า มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง แล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
  • *หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น ใบหน้าบวมซึ่งรวมถึงลิ้น ริมฝีปาก และเหงือก หรือเกิดผื่นคันตามตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ผลิตภัณฑ์ยาวาเรนิคลินถูกออกแบบให้ใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น และไม่มีข้อบ่งใช้ในเด็ก
  • หลีกเลี่ยงการปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • รับประทานยานี้ตรงเวลาและเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เสมอ
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจากแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น
  • การจะรับประทานยาชนิดใดร่วมกับยาวาเรนิคลินต้องได้รับคำอนุญาตจากแพทย์ก่อนเสมอ

ยาวาเรนิคลิน จัดเป็นยาที่มีอันตราย และมีผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย การใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยจะพบเห็นยานี้จัดจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Champix”

วาเรนิคลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

วาเรนิคลิน

ยาวาเรนิคลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยใช้เป็นยาอดบุหรี่และบำบัดอาการถอนยาของ Nicotine

วาเรนิคลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาวาเรนิคลินเป็นยาที่ดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร และตัวยานี้จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะโดยที่ยังมีโครงสร้างเคมีแบบเดิม หลังรับประทานยานี้ต้องใช้เวลา ประมาณ 3–4 ชั่วโมงเพื่อทำให้ระดับยานี้ในเลือดขึ้นสูงสุด

กลไกการออกฤทธิ์ของยาวาเรนิคลินจะเกิดขึ้นที่ที่สมองในบริเวณตัวรับที่ชื่อ Alpha4 Beta2 nicotinic acetylcholine receptor ซึ่งตัวยานี้สามารถป้องกันการกระตุ้นของสาร Nicotine ต่อร่างกาย/สมอง จึงส่งผลบรรเทาความต้องการสาร Nicotine ทำให้ลดความอยากสูบบุหรี่ลง นอกจากนี้ยาวาเรนิคลินยังออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับชนิด 5-HT3 receptorที่สมองเช่นกัน และก่อให้เกิดฤทธิ์คล้ายกับมีสารสื่อประสาท Dopamine หลั่งออกมาพอสมควรจากสมอง ส่งผลเกิดอิทธิพลบดบังอาการถอนยาของ Nicotine ซึ่งเป็นกลไกช่วยสนับสนุนการเลิกบุหรี่ได้มากยิ่งขึ้น

วาเรนิคลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาวาเรนิคลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Varenicline 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด

วาเรนิคลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาวาเรนิคลิน มีขนาดรับประทานสำหรับการเลิกบุหรี่ เช่น

  • ผู้ใหญ่: วันที่ 1–3 ให้เริ่มรับประทานยา 0.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, วันที่ 4–7 ให้รับประทานยา 0.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น, วันที่ 8–จนถึงวันหยุดใช้ยา ให้รับประทายยา 1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยสามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหาร หรือ หลังอาหาร ก็ได้
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอในการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • กรณีที่มีการตอบสนองต่อการใช้ยานี้ได้ดี แพทย์อาจลดขนาดการใช้ยาลงมาเป็น 0.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์นับจากวันเริ่มรับประทาน
  • ระยะเวลาการใช้ยานี้อาจยาวนานได้ 12 สัปดาห์ หรืออาจใช้ต่อเนื่องอีกสักระยะตามความเห็นของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวาเรนิคลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะ วาเรนิคลิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยา ระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาวาเรนิคลิน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

อนึ่ง การรับประทานยาวาเรนิคลิน อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง จะทำให้ประสิทธิผลในการอดบุหรี่เกิดได้สูงสุด

วาเรนิคลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาวาเรนิคลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น ฝันร้าย นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก ท้องอืด กรดไหลย้อน ปากแห้ง ปวดฟัน
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็หัวใจเต้นช้า ใบหน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อตา เช่น ปวดตา ตาแห้ง ตาพร่า ตาบอดกลางคืน รูม่านตาขยาย ตากลัวแสง
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น เกิดผื่นคัน ผิวหนังเป็นจ้ำบวม/บวมเป็นแห่งๆ เกิดสิว ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ชัก ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ หายใจขัด/หายใจลำบาก นอนกรน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำลดลง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อไต เช่น ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อตับ เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น เกิดภาวะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้วาเรนิคลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวาเรนิคลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง และต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาวาเรนิคลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

วาเรนิคลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวาเรนิคลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาวาเรนิคลินร่วมกับการดื่มสุรา เพราะจะทำให้มีอาการเมาค้างนานขึ้น
  • ห้ามใช้ยาวาเรนิคลินร่วมกับยา Nicotine หรือใช้ยาพร้อมกับสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยาวาเรนิคลินมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาวาเรนิคลินร่วมกับยา Dolutegravir(ยาต้านไวรัสเอชไอวี) , Ranolazine(ยาโรคหัวใจ) เพราะจะทำให้ระดับยาวาเรนิคลินในเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียงจากยาวาเรนิคลินมากขึ้น

ควรเก็บรักษาวาเรนิคลินอย่างไร?

ควรเก็บยาวาเรนิคลินภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

วาเรนิคลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวาเรนิคลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Chantix (แชนติก)Pfizer
Champix (แชมปิก) Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Varenicline#Mechanism_of_action[2017,Oct28]
  2. https://www.drugs.com/cdi/varenicline.html[2017,Oct28]
  3. http://www.mims.com/philippines/drug/info/champix/dosage[2017,Oct28]
  4. http://www.mims.com/philippines/drug/info/champix[2017,Oct28]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine#Drug_addiction_and_psychostimulants[2017,Oct28]