วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวาลาไซโคลเวียร์(Valacyclovir หรือ Valaciclovir) เป็นยาที่ใช้ต่อต้านเชื้อไวรัส(ยาต้านไวรัส)ที่เป็นสาเหตุของโรคเริม (Herpes simplex) และโรคงูสวัด (Herpes zoster) ยานี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.1995(พ.ศ.2538) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยานี้จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ ประมาณ 55% ยาวาลาไซโคลเวียร์ในกระแสเลือดจะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 13-18% ยานี้ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันทีด้วยอยู่ในรูปแบบที่เรียกกันว่า โปรดรัก (Prodrug) กล่าวคือ ยาProdrug นี้ จะออกฤทธิ์ได้เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดโดยจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางชีวะโมเลกุลไปเป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ ที่มีชื่อว่า อะไซโคลเวียร์ (Aciclovir) และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.5–3.6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยาในรูปอะไซโคลเวียร์นี้ ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ทางคลินิก มักจะใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์เพื่อรักษาโรคเริมที่เกิดกับริมฝีปากและที่อวัยวะเพศ รวมถึงใช้เป็นยาป้องกันโรคเริมในผู้ป่วยทั่วไป และในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)บกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับการให้ยาเคมีบำบัด ยานี้ยังมีข้อบ่งใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสประเภท Cytomegalovirus (CMV)ซึ่งพบได้กับผู้ที่มีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ หรือเปลี่ยนอวัยวะของร่างกาย

การใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ได้อย่างมีประสิทธิผล จะต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง การหยุดหรือเว้นช่วงการรับประทานยานี้เอง นอกจากอาการโรคจะไม่ทุเลาลง ยังอาจทำให้อาการป่วยด้วยเชื้อไวรัสทุกชนิดดังกล่าวใช้เวลายาวนาน และรบกวนสุขภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น กรณีตัวอย่างเมื่อใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ รักษาการติดเชื้องูสวัด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง หรือวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 7 วัน

ยาวาลาไซโคลเวียร์มีกลไกหน้าที่ยับยั้งการกระจายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในร่างกาย ทำให้ปริมาณไวรัสลดลงเป็นลำดับ จนอาการป่วยทุเลาลง

อนึ่ง ยังมีข้อพึงระวังสำหรับการใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบในเบื้องต้นดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาวาลาไซโคลเวียร์
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายชนิดซึ่งรวมถึงวาลาไซโคลเวียร์ด้วยที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรต้องใช้ยาต่างๆและยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อการทำงานของไตผู้ป่วย ด้วยไตเป็นอวัยวะที่ใช้กำจัดยาทิ้งออกจากร่างกาย ก่อนการใช้ยานี้ จึงควรแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยว่าตนเองมีภาวะการทำงานของไตผิดปกติหรือไม่
  • การใช้ยานี้ในการรักษาโรคเริม หรือโรคงูสวัด ควรต้องกระทำเร็วที่สุดเมื่อพบเห็นหรือสังเกตว่ามีการติดโรคดังกล่าว เช่น มีตุ่มแสบคันขึ้นตามผิวหนัง ควรให้แพทย์ตรวจ ประเมินร่างกายเพื่อรับยานี้ทันที จะทำให้อาการป่วยไม่กำเริบรุนแรง และมีโอกาสรักษาหายได้เร็วมากยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ-บกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุการได้รับยาเคมีบำบัด ป่วยจากโรคเอดส์ หรือผู้ป่วยจากสาเหตุอื่นๆ จะต้องแจ้งให้ แพทย์พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ด้วยขนาดการใช้ยาของผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันเป็นปกติ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีขนาดที่แตกต่างกัน รวมถึงระยะเวลาที่ต้องรับประทานยาก็ไม่เท่ากัน
  • หากผู้ป่วยมีประวัติเพิ่งเปลี่ยนถ่ายไต หรือเพิ่งมีการปลูกถ่ายไขกระดูก ต้องได้รับการปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสม ต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก แพทย์มักใช้เกณฑ์อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น กรณีจำเป็นต้องใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้อง รับประทานยานี้พร้อมดื่มน้ำให้มากเพียงพอ เพื่อช่วยบรรเทามิให้ไตทำงานหนัก จนเกินไป
  • ยาอื่นๆบางรายการ เมื่อใช้ร่วมกับยาวาลาไซโคลเวียร์ อาจทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) และส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงต่อตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วย จึงควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบว่า ตนเองกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่บ้าง
  • การรับประทานยานี้เพื่อรักษาอาการป่วยจะต้องปฏิบัติสม่ำเสมอต่อเนื่องจนครบระยะเวลาของการรักษาตามแพทย์สั่ง
  • *หากเกิดข้อผิดพลาดที่ผู้ป่วยรับประทานยานี้เกินขนาด ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที เพื่อแพทย์ประเมินการเกิดพิษ และเพื่อทำการรักษาได้ทันเวลา
  • ยานี้เป็นยาต้านไวรัส ไม่มีข้อมูลสนับสนุนในการนำไปใช้รักษาโรคที่เกิดจาก แบคทีเรีย หรือจากเชื้อรา ผู้บริโภคควรทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง และห้ามไปซื้อหายานี้มารับประทานโดยมิได้ผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์
  • การรับประทานยาวาลาไซโคลเวียร์ อาจเกิดอาการข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย ปกติอาการข้างเคียงเหล่านี้จะหาย ไปเองเมื่อหยุดใช้ยา แต่กรณีที่พบอาการข้างเคียงที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนิน ชีวิตประจำวัน อาทิเช่น มีไข้ เกิดภาวะเลือดออกง่าย ผิวหนังซีด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นสีชมพูคล้ายมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยควรรีบกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้รักษาอาการ โรคเริม โรคงูสวัด ห้ามมีเพศสัมพันธ์รวมถึงการ สัมผัสผู้อื่นอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรค
  • ศึกษาข้อมูลการใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ และทำความเข้าใจอย่างถูกต้องตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด

ในประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้วาลาไซโคลเวียร์เป็นยาประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาภายใต้ชื่อการค้าว่า “Valtrex”

หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยานี้เพิ่มเติม ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

วาลาไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

วาลาไซโคลเวียร์

ยาวาลาไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาการติดเชื้อเริม ที่อวัยวะเพศ ที่ริมฝีปาก ทั้งนี้ควรรับประทานยาเมื่อเริ่มพบเห็นอาการโรค เช่น แสบ คัน ปวด หรือเริ่มเกิดแผลเริมตามผิวหนัง
  • บำบัดรักษาอาการโรคงูสวัด สำหรับผู้ใหญ่ควรรับประทานยาภายใน 48 ชั่วโมงเมื่อพบเห็นอาการผื่นคันของงูสวัดจะทำให้เกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุด แต่สำหรับเด็กควรรับประทานยาภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อเริ่มมีอาการ
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อ Cytomegalovirus ในผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เช่น การเปลี่ยนไต
  • ใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อเริมในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วาลาไซโคลเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาวาลาไซโคลเวียร์แรกเริ่มจะเป็นยาในรูปแบบ Prodrug ดังได้กล่าวในบทนำ แต่จะถูกเปลี่ยนเป็นตัวยา อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) โดยผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีที่ลำไส้เล็กและที่ตับ ตัวยาอะไซโคลเวียร์จะสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัสเริมและไวรัสงูสวัด ส่งผลให้เชื้อไวรัส หยุดการกระจายพันธุ์ ประกอบกับทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านเชื้อไวรัสดังกล่าว และจากกลไกเหล่านี้เอง เป็นผลให้อาการโรคทุเลาลง

วาลาไซโคลเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาวาลาไซโคลเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยยา Valaciclovir ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด

วาลาไซโคลเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาวาลาไซโคลเวียร์ มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคงูสวัด:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน ควรรับประทานยาภายใน 48 ชั่วโมง เมื่อเริ่มมีอาการ
  • เด็กอายุ 2ปี- ต่ำกว่า 18 ปี: รับประทานยาขนาด 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกินครั้งละ 1 กรัม 3 ครั้ง/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี: ขนาดการใช้ยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับรักษาโรคเริมที่ขึ้นบริเวณริมฝีปาก:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 วัน ควรรับประทานยาเมื่อเริ่มมีอาการ
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ขนาดการใช้ยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Cytomegalovirus ในผู้ที่เปลี่ยนถ่ายไต:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง/วัน ระยะเวลาในการรับประทานขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ง. สำหรับรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 7-10 วัน
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับลดขนาดการรับประทานยาลงมาตามค่าการทำงานของไตที่ได้จากการตรวจเลือด
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด จะก่อให้เกิดอาการไตวาย คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดอาการโคม่า หากพบเหตุการณ์ดังกล่าว ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาวาลาไซโคลเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวาลาไซโคลเวียร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาวาลาไซโคลเวียร์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาที่จะรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การรักษาโรคเริมและโรคงูสวัด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาวาลาไซโคลเวียร์อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้เพื่อให้ระดับยานี้ในกระแสเลือดมีความเข้มข้นที่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสภาวะที่ยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้ดีที่สุด

วาลาไซโคลเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาวาลาไซโคลเวียร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะThrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น มีอาการชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)เพิ่มขึ้น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ประจำเดือนขาด
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม ประสาทหลอน รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ระบบทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คออักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีเกลือแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดข้อ
  • ผลต่อตา: การมองเห็นผิดปกติไป

มีข้อควรระวังการใช้วาลาไซโคลเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามนำไปใช้รักษาการติดเชื้อรา หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง
  • รับประทานยานี้ตรงขนาดและตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์
  • ขณะเกิดการติด เชื้อเริม เชื้องูสวัด ให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสร่างกายอย่างใกล้ชิด จนกว่าอาการของผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ
  • กรณีที่มีอาการของโรคเริม โรคงูสวัด กลับมาเป็นใหม่ ไม่ควรไปซื้อยามารับประทานเอง ควรเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ตรวจคัดกรองอาการโรค ด้วยขนาดการใช้ยาของผู้ป่วยจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพร่างกาย และภูมิต้านทานของผู้ป่วย
  • กรณีใช้ยานี้ครบตามขนาดและตรงตามเวลาที่แพทย์กำหนด แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ดูแลสุขภาพร่างกายหลังหายจากอาการป่วยอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย และเรียนรู้ถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้อาการโรคกำเริบขึ้นอีก
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาวาลาไซโคลเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

วาลาไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวาลาไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน อย่างเช่น Sirolimus , Tacrolimus, อาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่อไตของผู้ป่วย กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ร่วมกับยา Cidofovir (ยาต้านไวรัส) ด้วยจะทำให้เกิดความเสียหายกับไตของผู้ป่วย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปัสสาวะมาก หรือไม่ก็น้อยลง น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลดลง หายใจขัด/หายใจลำบาก กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เหนื่อยง่าย วิงเวียน รู้สึกสับสน และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้ยาวาลาไซโคลเวียร์ร่วมกับยา Entecavir อาจทำให้ความเข้มของยาทั้ง 2 ตัว หรือตัวใดตัวหนึ่ง ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้วาลาไซโคลเวียร์ร่วมกับยา Pemetrexed(ยาเคมีบำบัด) จะทำให้ระดับยา Premetrexed ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เช่น โลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย เส้นประสาทถูกทำลาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาวาลาไซโคลเวียร์อย่างไร?

ควรเก็บยาวาลาไซโคลเวียร์ ในช่วงอุณหภูมิ 15–25 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือเก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

วาลาไซโคลเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวาลาไซโคลเวียร์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Valtrex (วาลเทร็กซ์)GlaxoSmithKline

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Zeltitrex, Valavir, Valcivir, Valamac

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/valacyclovir.html#Usual_Adult_Dose_for_Herpes_Simplex___Mucocutaneous_Immunocompromised_Host[2017,April1]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Valaciclovir#Mechanism_of_action[2017,April1]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/valtrex/?type=brief[2017,April1]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/valaciclovir/?type=brief&mtype=generic[2017,April1]
  5. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/020487s014lbl.pdf[2017,April1]