เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเจริญพันธุ์ ตอนที่ 9

การคุมกำเนิดฉุกเฉินคืออะไร? ทำอย่างไร?

การคุมกำเนิดฉุกเฉิน หากหมายถึงวิธีการคุมกำเนิดที่จำเป็นต้องใช้เมื่อมีเวลาเตรียมตัวน้อย (แต่พอมี) ล่ะก็ อาจนำวิธีการข้างต้น เช่น ถุงยางอนามัยบุรุษ ถุงยางอนามัยสตรี กะบังกั้น ยาฆ่าเชื้ออสุจิ การหลั่งข้างนอก มาใช้ได้ แต่ถ้าหากได้มีเพศสัมพันธ์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว ต้องการป้องกันไม่ให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วได้ฝังตัวลงไปบนเยื่อบุโพรงมดลูกสำเร็จ (อันจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์) ก็อาจใช้วิธีที่เรียกว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหลังร่วมเพศก็ได้ครับ ที่มักจะนำมาใช้กันมีอยู่สองวิธีคือ การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีตัวยาเอทินิลเอสตราไดออล/ Ethinyl estradiol ขนาด 50 ไมโครกรัมรวมอยู่ในเม็ดยาด้วย (เช่นยาที่มีชื่อการค้าคือ ยูไกนอน/Eugynon หรือ ออฟรอล/Ovral) โดยเริ่มรับประทาน ครั้งแรก 2 เม็ด และอีก 12 ชั่วโมงต่อมาอีก 2 เม็ด ข้อเสียคืออาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้มาก ควรรับประทานหลังอาหารทันที หรือก่อนนอนแล้วหลับไปเลย อีกวิธีหนึ่งคือ การรับประทานยาเม็ด เลโวนอร์เจสเตรล/Levonorgestrel (ชื่อการค้าคือ โพสทินอร์/Postinor) ขนาด 0.75 มิลลิกรัม ครั้งแรก 1 เม็ด และอีก 12 ชั่งโมงต่อมาอีก 1 เม็ด ทั้งสองวิธีนี้ต้องรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงแรก หลังการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามทั้งสองวิธีนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึงร้อยละ 100 นะครับ (ได้ผลเพียง 58-95% เท่านั้น โดยยิ่งกินได้เร็วยิ่งได้ผลดี) ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าใช้ดีกว่า นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีประจำเดือนมาผิดปกติ หรือถ้าหากพลาดพลั้งตั้งครรภ์ไป ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูกอีกด้วยครับ โดยเฉพาะวิธีหลัง ผมเคยพบกรณีตัวอย่างมาแล้วถึง 3 ราย

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.