เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเจริญพันธุ์ ตอนที่ 6

การดูแลสุขภาพหลังคลอดมีวิธีการอย่างไรบ้าง?

การดูแลสุขภาพหลังคลอดแผนโบราณนั้นมีการอยู่ไฟรวมอยู่ด้วย ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นไม่ได้ห้ามนะครับ แต่ก็ขอเตือนไว้ก่อนว่า ไม่ควรนำทารกเข้าไปอยู่ด้วย ส่วนข้อควรปฏิบัติและควรงดเว้นโดยทั่วไปมีดังนี้

  1. อาบน้ำได้ตามปกติ แต่ไม่ควรใช้วิธีการลงไปแช่ในน้ำ เช่น อาบน้ำด้วยการแช่ตัวอยู่ในอ่างอาบน้ำ ในลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ จนกว่าแผลฝีเย็บ (แผลที่ตัดผิวหนังส่วนระหว่างช่องคลอดกับทวารหนัก เพื่อช่วยขยายปากช่องคลอด ให้เด็กคลอดออกมาได้ง่ายขึ้น) จะหายดี และหลังคลอดอย่างน้อย 6 สัปดาห์แล้ว
  2. แผลฝีเย็บ (เนื้อเยื่อ/ผิวหนังส่วนอยู่ระหว่างปากช่องคลอดกับปากทวารหนัก) มักถูกเย็บไว้ด้วยไหมละลายและไม่ต้องทำแผลเลย แต่ควรรักษาความสะอาดโดยการถูสบู่และซับเบาๆ (ไม่ขัดถู) ให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาดหลังการอาบน้ำทุกครั้งก็เพียงพอ
  3. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนครบ 6 สัปดาห์หลังคลอด
  4. ข้อควรปฏิบัติและควรระวังเรื่องอาหารและยาก็เหมือนกันกับระหว่างตั้งครรภ์ ควรรับประทานยาบำรุงธาตุเหล็กเสริมวันละ 1 เม็ด ไปอีก 3 เดือนหลังคลอด เพื่อชดเชยที่ได้สูญเสียเลือดไปกับการคลอด
  5. หากเจ็บป่วยต้องใช้ยา ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า กำลังให้นมบุตร หากกำลังอยู่ในช่วงให้นมของตนเองแก่บุตรอยู่ เพราะยาหลายชนิดผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ และส่งผลข้างเคียงจากยาต่อทารกที่ดื่มนมแม่ได้
  6. แผลผ่าตัดหน้าท้องหรือแผลทำหมันในปัจจุบันนี้มักเย็บไว้ด้วยไหมละลาย ไม่ต้องทำแผลและไม่ต้องตัดไหม แต่ต้องระวังไม่ให้โดนน้ำ หมายรวมทั้งปัสสาวะของลูกและน้ำนมแม่ด้วยนะครับ แล้วควรไปเปิดตรวจดูโดยบุคลากรทางการแพทย์ (เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่สถานีอนามัยก็ได้) เมื่อครบ 7 วัน หากแผลติดดี ไม่มีการติดเชื้อ ก็สามารถอาบน้ำและถูสบู่ตามปกติที่แผลได้เลย แต่ถ้ามีสะเก็ดก็ไม่ควรแกะสะเก็ดนะครับ ปล่อยไว้ให้หลุดเองจะดีกว่า แต่ถ้าแผลติดไม่ดี แพทย์ พยาบาล หรือพนักงานสาธารณสุขจะแนะนำวิธีดูแลรักษาแผล ให้ปฏิบัติไปตามคำแนะนำนั้นครับ
  7. หากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่น เป็นไข้ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น เจ็บแผลมากขึ้น ปวดเต้านม เลือด/น้ำคาวปลาออกจากช่องคลอดผิดปกติ ก็ไม่ควรรอช้า ไปพบแพทย์ได้เลยแม้จะยังไม่ถึงวันนัดนะครับ
  8. เมื่อถึงวันแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขนัด ก็ควรไปตรวจตามนัด แพทย์จะตรวจภายใน ตรวจดูแผล ตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ และสุดท้ายก็จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิด เพื่อที่คุณแม่มือใหม่จะได้พิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตนเองต่อไปนะครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.