เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเจริญพันธุ์ ตอนที่ 4

สารบัญ

ระหว่างการตั้งครรภ์ มีวิธีการดูแลสุขภาพอย่างไรบ้าง?

ระหว่างการตั้งครรภ์ สตรีจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก มักจะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5-6 สัปดาห์ คือมีอาการคัดตึงเต้านม/ เต้านมคัดตึง ผิวหน้าคล้ำขึ้น วิงเวียน คลื่นไส้ (แพ้ท้อง) ปัสสาวะบ่อยขึ้น อ่อนเพลีย (บางคนจึงนอนมากขึ้น) เหม็นกลิ่นอะไรที่ไม่เคยเหม็น อยากกินอะไรที่ไม่เคยอยาก เป็นต้น อาการเหล่านี้หากมีเพียงเล็กน้อยก็คงไม่เป็นไร หากมีมากก็อาจใช้ ยา ช่วย เช่น วิตามินบี 6 ขนาด 50 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 เม็ด ตอนเช้าก่อนอาหาร ถ้ายังไม่ทุเลา เช่น ยังอาเจียนมากอยู่ ก็อาจใช้ยาแก้แพ้แก้วิงเวียนที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดเสริม คือ ดรามามีน (Dramamine) รับประทานครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร น้ำขิงร้อนๆก็ช่วยได้มาก แต่ถ้าอาการยังมากอยู่หรือถึงกับรับประทานอะไรไม่ได้เลย ก็ควรไปพบแพทย์ได้แล้วนะครับ เพราะคงจำเป็นต้องใช้ยาที่มีผลข้างเคียง บ้างแล้ว หรือในบางกรณีอาจต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือแทนน้ำและอาหารกันเลย (อาการดีขึ้น จึงค่อยกลับบ้าน)

อาการแพ้ท้องดังกล่าวนี้มักรุนแรงอยู่ไม่เกินอายุครรภ์ 3-4 เดือนหรอกครับ ก็จะทุเลาลงเอง ดังนั้นน้ำหนักของมารดาในช่วง 3 เดือนแรกนี้จะขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1 กิโลกรัมเท่านั้น (บางคนอาจลดลงเพราะกินได้น้อย) อาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องเฟ้อ หรือ ท้องผูก นั่นก็เป็นเพราะฮอร์โมนที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์นั่นเองครับ เรื่องท้องอืด แน่นท้อง (หรือคลื่นไส้) ก็ใช้วิธีการรับประทานน้อยลงแต่บ่อยขึ้นแทนนะครับ ส่วนเรื่องท้องผูกนั้น ควรรับประทานผักให้มาก (ประมาณ 25-50% ของอาหารทั้งหมด) แล้วสร้างนิสัยด้วยการไปนั่งส้วม เป็นเวลาทุกวันนะครับ หาก 48-72 ชั่วโมงแล้ว ก็ยังไม่มีการถ่ายอุจจาระครั้งใหม่เลย ก็ควรใช้ยาระบายได้แล้วครับ อาจเป็นยาเหน็บ (ดัลโคแลกซ์ เรคตัล สัพโพสิตอรี/ Dulcolax rectal suppository) หรือยารับประทาน (บิซาโคดิล/ Bisacodyl) ก็ได้ อย่าปล่อยให้ท้องผูกนานไปกว่านี้นะครับ สารพิษที่คั่งค้างอยู่จากของเสียในลำไส้ จะทำให้เกิดอาการไม่สบายอื่นๆตามมาอีกมาก เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น

อาหารระหว่างการตั้งครรภ์ก็ไม่จำเป็นต้องเสริมพิเศษหรือมีของแสลงแต่อย่างใด ให้รับประทานไปตามปกติเลยครับ เพียงแต่ถ้ามารดารับประทานมังสะวิรัติหรืออาหารเจ อย่างเคร่งครัด ก็ควรเพิ่มโปรตีนจากถั่วหรือนมขึ้นอีกตามแต่ข้ออนุโลมของแนวทางนั้นๆ ที่ควรงด หรือจำกัดปริมาณ ก็เช่น ชา กาแฟ (ไม่เกินวันละ 3 ถ้วย) โกโก้ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิด ส่วนเรื่องสุรา ยาเสพติด สารกระตุ้นหรือกดประสาท และการสูบบุหรี่นั้น คงทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า ต้องห้าม และจะซื้อยาอะไรมาใช้ก็ตาม อย่าลืมแจ้งเภสัชกรหรือแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงยาที่อาจมีผลเสียต่อทารกในครรภ์

แร่ธาตุเสริมที่จำเป็นต้องให้มีเพียงอย่างเดียวคือ เหล็ก ขอแนะนำให้ใช้ยาที่อยู่ในรูปของเฟอรัสฟูมาเรต/Ferrous fumarate (ชื่อการค้าคือ โอบิมิน/Obimin ไตรเฟอร์ดีน/Triferdine เฟอร์ลิซิก/Ferli-6 เอฟบีซี/FBC เป็นต้น) เนื่องจากร่างกายจะดูดซึมเอาไปใช้ได้มากกว่าในปริมาณเท่ากัน โดยใช้รับประทานวันละ 1 เม็ด หลังอาหารหรือก่อนนอนก็ได้เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้จากยานี้ โดยให้เริ่มรับประทานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน (20 สัปดาห์) ก่อนหน้านั้นไม่จำเป็น (ยกเว้นมี ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก อยู่ก่อนแล้ว) ส่วนการเสริมด้วย วิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆที่ไม่ถึงกับจำเป็น แต่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ก็ได้แก่ ไอโอดีน ที่ปนอยู่ในอาหาร โฟลิกเอสิด/Folic acid (วิตามินบี 9) รับประทานวันละ 1-4 มิลลิกรัม ในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ 3เดือน และหลังจากการตั้งครรภ์ไปแล้ว 3 เดือนแรก โดยช่วยในเรื่องการป้องกันโรคสมองเจริญผิดปกติของทารกในครรภ์ และแคลเซียม รับประทานวันละ 600-1,000 มิลลิกรัม ตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อชดเชยที่ลูกดึงไปใช้ ให้แก่แม่ซึ่งอาจได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ (สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตรต้องการแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม แต่ในอาหารไทยตามปกติที่ไม่ได้ดื่มนมเสริม มักมีเพียง 600-800 มิลลิกรัมเท่านั้น) และแคลเซียม ยังอาจป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนแล้ว แพทย์จะให้ วัคซีน ป้องกัน โรคบาดทะยัก 1 เข็มและอีกอย่างน้อย 1 เดือนถัดไปอีก 1 เข็ม เพื่อให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อบาดทะยักที่เพิ่มสูงขึ้นมาในแม่จากการได้รับวัคซีนนี้ ถูกส่งไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก ซึ่งจะให้ผลในการป้องกันโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด แพทย์จะนัดไปตรวจครรภ์ในช่วงแรกนี้ทุก 4 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ (6-7เดือน) ก็จะนัดทุก 2 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ (8-9 เดือน) ก็จะนัดทุก 1 สัปดาห์จนกระทั่งคลอด น้ำหนักของมารดาควรจะขึ้นโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม (อย่างน้อย 0.25 อย่างมาก 0.75 กิโลกรัม) หากมากไป หรือน้อยไป ควรลดหรือเพิ่มอาหาร ผมมักแนะนำให้เพิ่มหรือลดปริมาณนมที่รับประทานในแต่ละวัน เนื่องจากทำได้ง่ายและเห็นผลชัดเจน โดยรวมแล้วตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักควรจะขึ้นอยู่ในช่วง 7-20 กิโลกรัม ผู้ที่ค่อนข้างอ้วนควรจะขึ้นน้อยหน่อย ผู้ที่ค่อนข้างผอมก็ควรจะขึ้นมากหน่อย ถ้าสมส่วนก็ประมาณ 10-12 กิโลกรัม หากน้อยกว่า 7 หรือมากกว่า 20 กิโลกรัม ถือว่าผิดปกติและอาจมีผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้หลายประการครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.