เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเจริญพันธุ์ ตอนที่ 3

สารบัญ

การตั้งครรภ์โดยปกติ ยาวนานเท่าใด?

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การตั้งครรภ์ โดยปกตินั้นยาวนานประมาณ 9เดือน แต่แพทย์จะนับเป็นสัปดาห์ โดยกำหนดคลอดเฉลี่ยนั้นอยู่ที่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ (280 วัน) นับจากวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย หากการตั้งครรภ์นั้นมีอายุครรภ์ไม่ถึง 20 สัปดาห์ (บางแห่งใช้ 24 บางแห่งใช้ 28 สัปดาห์) แต่ต้องยุติลงเสียก่อน จะเรียกการยุติการตั้งครรภ์ครั้งนั้นว่า “การแท้ง” หากอายุครรภ์อยู่ระหว่าง 20 (อาจใช้ 24 หรือ 28) ถึง 37 สัปดาห์ จะเรียกการยุติการตั้งครรภ์ครั้งนั้นว่า “การคลอดก่อนกำหนด” หากอายุครรภ์อยู่ระหว่าง 37 ถึง 42 สัปดาห์ จะเรียกการยุติการตั้งครรภ์ครั้งนั้นว่า “การคลอดครบกำหนด” แต่ถ้าหากอายุครรภ์มากกว่า 42 สัปดาห์ไปแล้วยังไม่คลอดอีก จะเรียกการตั้งครรภ์ครั้งนั้นว่า “การตั้งครรภ์เกินกำหนด” ซึ่งอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ได้มาก

จากที่กล่าวมานี้ก็คงพอจะเข้าใจแล้วนะครับว่า ทำไมสูตินรีแพทย์จึงมักจะถามถึงวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้ายอยู่เสมอ (เป็นคำถามแรกๆเลยล่ะ) ก็คือเหตุผลที่ว่า หากสตรีวัยเจริญพันธุ์มาพบแพทย์โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าตนเองตั้งครรภ์ แพทย์เองก็อาจเฉลียวใจขึ้นมาได้จากการซักประวัตินี้แล้วพบว่าประจำเดือนขาดไปเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว หรือมาล่าช้ากว่ากำหนด ส่วนผู้ที่ทราบอยู่แล้วว่าตนเองตั้งครรภ์ แพทย์ก็จะใช้วันที่ซึ่งเป็นวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้ายนี้เอง มาคำนวณหากำหนดคลอดโดยประมาณ (วันที่อายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์) ให้ โดยบวกไปอีก 7 วันก่อนแล้วลบด้วย 3 เดือน เช่น ถ้าวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้ายเป็นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ของปีที่มี 29 วัน กำหนดคลอดก็จะเป็นวันที่ 3 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เป็นต้น

เมื่อประมวลข้อมูลที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการปฏิสนธิเข้ากับเรื่องนี้ ก็จะพบว่า อายุครรภ์โดยวิธีนับมาตรฐานซึ่งนับตามประจำเดือนนั้น ไม่ได้ตรงกันกับอายุครรภ์โดยวิธีนับตามวันที่มีการปฏิสนธิ โดยอายุครรภ์ที่นับตามประจำเดือนนั้นจะมากกว่าอยู่ประมาณ 14 วัน ในสตรีที่มีระยะห่างระหว่างรอบเดือน 28 วัน หรือมากกว่าอยู่ประมาณ 16 วัน ในสตรีที่มีระยะห่างระหว่างรอบเดือน 30 วัน เป็นต้น การนับแบบหลังนี้ใช้กันในวงการศึกษาเกี่ยวกับตัวอ่อน (คัพภวิทยา) เท่านั้น ไม่ได้ใช้กันทั่วไป แต่การนำมากล่าวถึงไว้ในที่นี้ ก็ด้วยหวังว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการนับอายุครรภ์มากยิ่งขึ้น และเข้าใจด้วยว่า อายุครรภ์ที่ใช้นับกันอยู่ทั่วไปนั้น เป็นเพียงการกะประมาณอายุของทารกในครรภ์เท่านั้น การคลอดบุตรเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์นั้นก็ยังถือเป็นการคลอดครบกำหนด (อยู่ในเกณฑ์ปกติ) นะครับ ไม่ใช่ก่อนกำหนด และการตั้งครรภ์มากกว่า 42 สัปดาห์นั้นก็ถือว่าผิดปกติ (เกินกำหนด) และต้องการการดูแลรักษาเป็นพิเศษจากแพทย์แล้ว

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.