เรื่องเฉพาะสตรี...วัยทอง ตอนที่ 5

การรับประทานฮอร์โมนทดแทน

การรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพื่อทดแทนส่วนที่รังไข่ผลิตได้ลดลง จะช่วยทำให้ร่างกายยังคงมีระดับฮอร์โมนเท่าๆเดิมอยู่ ซึ่งจะทำให้อาการผิดปกติต่างๆข้างต้นลดน้อยลงหรือหายไป

การรับประทานฮอร์โมนทดแทนมีข้อบ่งชี้อะไรบ้าง? ข้อบ่งชี้ต่างๆ ได้แก่

  1. บรรเทาอาการร้อนวูบในสตรีวัยทอง
  2. ทดแทนในรายที่เข้าสู่วัยทองเร็วเกินไป หรือเข้าสู่วัยทองจากได้รับการตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง
  3. ป้องกันโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง
  4. เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตในสตรีวัยทอง

มีข้อห้ามในการรับประทานฮอร์โมนทดแทนหรือไม่? มีครับ ได้แก่

  1. โรคมะเร็งเต้านม
  2. โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  3. มีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  4. โรคตับระยะเฉียบพลัน
  5. โรคหลอดเลือดอุดตัน

ควรรับประทานฮอร์โมนทดแทนไปนานเท่าไร?

ควรรับประทานไปนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการรับประทานฮอร์โมนทดแทนในสตรีรายนั้นๆครับ กล่าวคือ

  • เพื่อรักษาอาการสืบเนื่องจากวัยทองที่เกิดขึ้นหลังหมดประจำเดือนใหม่ๆ โดยเฉพาะอาการร้อนวูบ ก็ใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน
  • เพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ขาดไปเนื่องจากเข้าสู่วัยทองเร็วเกินไป หรือเข้าสู่วัยทองจากได้รับการตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ควรใช้ต่อไปเป็นระยะเวลายาวนานหรือไม่ยังไม่เป็นที่สรุป แต่ผมเห็นว่าควรให้ไปอย่างน้อยจนถึงอายุ 50 ปี ซึ่งเป็นอายุที่หากไม่ได้รับการตัดรังไข่ออก หรือรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควรแล้วล่ะก็ จะเป็นเวลาที่รังไข่หยุดทำงานเองตามธรรมชาติอยู่แล้วครับ
  • เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนก็ต้องรับประทานไปนานประมาณ 5 ปี เป็นอย่างน้อย และควรมีแผนในการตรวจติดตาม และแผนในการหยุดยาอย่างเหมาะสม
  • เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ก็ควรใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ และในขนาดต่ำที่สุดเท่าที่ยังได้ผลอยู่ครับ

การรับประทานฮอร์โมนทดแทนมีอาการข้างเคียงหรือผลเสียหรือไม่? มีอยู่บ้างครับ เช่น

  1. มีอาการเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
  2. มีอาการ เต้านมคัดตึง
  3. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด แต่ก็ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด นะครับ กล่าวคือ

ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่มขึ้น ถ้าได้รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนเพียงอย่างเดียวในรายที่ยังมีมดลูกอยู่ อย่างไรก็ตาม สามารถป้องกันได้โดยการรับประทานฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตโรนสังเคราะห์ (Synthetic progesterone) ร่วมไปด้วยครับ พิจารณาดูได้จากตัวเลขอุบัติการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หากไม่ได้รับประทานฮอร์โมนเป็น 242.2 ราย ต่อประชากรหญิง 100,000 คน หากรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวเพิ่มเป็น 434.4 รายต่อประชากรหญิง100,000 คน แต่ถ้าหากรับประทานฮอร์โมนเอสโตเจนร่วมกับโปรเจสโตเจนแล้วละก็ จะลดลงเป็น 72.8 รายต่อ ประชากรหญิง 100,000 คน ซึ่งต่ำกว่าไม่ได้รับประทานฮอร์โมนเสียอีกครับ

ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้ารับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนมานานมากกว่า 5 ปี ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนทดแทนอยู่ จึงควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และตรวจเอกซเรย์เต้านม (การตรวจภาพรังสีเต้านม) ปีละครั้ง เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม)ให้พบเสียตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะยังได้ผลดี

ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงประมาณ 50% จากการรับประทานฮอร์โมนทดแทน ส่วนความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการรับประทานฮอร์โมนทดแทน

เอสโตรเจนจากพืช คืออะไร?

เอสโตรเจนจากพืช คือ สารที่มีคุณสมบัติของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีอยู่ในพืชผักธัญญาหารต่างๆ ยกตัวอย่างได้ดังต่อไปนี้ คือ

  • ข้าวฟ่าง
  • ผักแว่น
  • จมูกข้าว
  • ถั่วเหลือง
  • ถั่วต่างๆ

ในสตรีที่มีอาการสืบเนื่องจากวัยทอง แต่ไม่ได้รับประทานฮอร์โมนทดแทน การรับประทานพืชผักธัญญาหารเหล่านี้ให้มากขึ้น อาจช่วยให้อาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้น ลดน้อยลงได้ครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.