วัคซีนโรคไข้เหลือง (Yellow Fever Vaccine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คืออะไร?

วัคซีนโรคไข้เหลือง (Yellow fever vaccine) คือ วัคซีนใช้ฉีดป้องกันโรคไข้เหลือง โดยเป็นการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง,  ทั่วไปเป็นการฉีดเพียงครั้งเดียวก่อนเดินทางไปประเทศเสี่ยงอย่างน้อย 10 วัน,  ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า การฉีดวัคซีนนี้เพียงครั้งเดียว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้นานตลอดชีวิต

โรคไข้เหลือง:

โรคไข้เหลือง (Yellow Fever) เป็นโรคติดต่อโดยเชื้อไวรัสในสกุลฟลาวิไวรัส (Flavivirus), โดยมียุงเป็นพาหะโรค ซึ่งอาจเป็นยุงลายบ้าน ยุงลายสวน หรือยุงป่าบางชนิด,  ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ เช่น ไข้  หนาวสั่น คลื่นไส้  ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณแผ่นหลังและศีรษะ  มีเลือดออกทางปาก มีอาการตัวเหลือง-ตาเหลืองหรือดีซ่านซึ่งอาการนี้ทำให้โรคนี้ได้ชื่อว่า "โรคไข้เหลือง" และหากผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ผู้ป่วยมีโอกาสถึงตายได้จากภาวะตับวายและไตวาย

โรคไข้เหลือง เป็นโรคประจำถิ่นของ ทวีปอเมริกาใต้ และ ทวีปแอฟริกา โดยประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ประเทศโบลิเวีย ประเทศบราซิล ประเทศโคลัมเบีย ประเทศเอกวาดอร์ และประเทศเปรู, องค์การอนามัยโลกประเมินว่าทั่วโลกพบโรคนี้ประมาณ 200,000 รายต่อปี   

การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้เหลืองนี้ จะเป็นการแพร่กระจายในสัตว์จำพวกลิงเป็นส่วนใหญ่, การแพร่มายังมนุษย์ เกิดจากมนุษย์เข้าไปในบริเวณป่าและได้รับเชื้อจากสัตว์ผ่านยุงกัด,  เมื่อผู้ติดเชื้อกลับเข้ามาสู่เมืองแล้ว ยุงลายก็สามารถเป็นพาหะนำโรคแพร่กระจายจากผู้ป่วยสู่คนอื่นๆได้

ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เหลืองโดยเฉพาะ, โรคมักไม่ตอบสนองต่อยาต้านไวรัส, ยาอินเตอร์เฟอรอน/Interferon และ/หรือ การให้สารภูมิคุ้มกัน,   โดยทั่วไป เป็นการรักษาในลักษณะประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ในกลุ่มยา พาราเซตามอล (ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดเพราะมักทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารโดยเฉพาะในกระเพาะอาหาร), และให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ,   ดังนั้นการป้องกันโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง/วัคซีนโรคไข้เหลือง/วัคซีนไข้เหลือง (Yellow fever vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนมีประสิทธิภาพสูง,  แม้จะไม่มีการระบาดในประเทศไทยหรือในทวีปเอเชีย แต่การเดินทางไปในประเทศบางประเทศในทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกา ผู้เดินทางควรได้รับวัคซีนนี้ 'ก่อนการเดินทาง' อย่างน้อย 10 วัน

วัคซีนโรคไข้เหลืองมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ วิธีการบริหาร และขนาดการบริหารอย่างไร?

วัคซีนโรคไข้เหลือง-01

วัคซีนโรคไข้เหลือง เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live-virus vaccine) ที่ทำให้เชื้อไวรัสอ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ แต่เพียงพอที่จะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้, โดยเตรียมจากไวรัสไข้เหลืองสายพันธุ์ 17D มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาผงแห้ง (Freeze-dried) ซึ่งต้องนำมาผสมกับสารทำละลายที่ผู้ผลิตเตรียมไว้ เพื่อให้ได้วัคซีนพร้อมใช้ ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตร, โดยในปริมาตรดังกล่าว จะมีเชื้อไวรัสฯไม่น้อยกว่า 1,000 ยูนิต, ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injection)   

ทั่วไป  แนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคไข้เหลืองเพียงครั้งเดียว, ก่อนเดินทางอย่างน้อย 10 วัน,  ซึ่งร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้นานอย่างน้อย 10 ปี หรือตลอดชีวิต

วัคซีนโรคไข้เหลืองมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้อะไรบ้าง?

วัคซีนโรคไข้เหลืองมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ เช่น

  • ห้ามใช้วัคซีนนี้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้วัคซีนนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนนี้
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ไข่, หรือแพ้โปรตีนจากไก่, เนื่องจากมีการใช้ไข่ไก่ฟักในกระบวนการผลิตวัคซีนนี้   
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ แพ้ หรือไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance)
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (Immunosuppressant, เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์), ผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษาโดยรังสีรักษา,  หรือผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น มีความผิดปกติของต่อมไทมัส, ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งที่แสดงอาการ และ ที่ไม่แสดงอาการแต่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ, ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • หากมีอาการป่วย ไม่สบาย เช่น มีไข้  ไข้หวัด  ให้เลื่อนนัดการรับวัคซีนนี้ออกไป โดยติดต่อสถานพยาบาลเพื่อการนัดวันรับวัคซีนเมื่อหายเป็นปกติแล้ว
  • ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงการฉีดวัคซีนนี้ในด้านความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีนนี้ต่อตัวอ่อนในครรภ์ของมนุษย์ โดยทั่วไป จึงยังไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในหญิงตั้งครรภ์ เว้นเสียแต่ว่า แพทย์ได้พิจารณาแล้วว่า วัคซีนนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลของวัคซีนนี้ต่อทารกในครรภ์ เช่น ความพิการแต่กำเนิด
  • ควรหลีกเลี่ยงการให้วัคซีนนี้ในหญิงที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร เพราะยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลของวัคซีนนี้ต่อทารก

วัคซีนโรคไข้เหลืองก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง?

โดยทั่วไป อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ได้รับวัคซีนโรคไข้เหลือง จะเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่มีความรุนแรง กล่าวคือ มีอาการเล็กน้อย ณ บริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง หรือมีอาการคัน  ซึ่งอาการจะหายไปเองใน 1-2 วัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการใช้ยารักษา

ผู้ได้รับวัคซีนนี้บางคน อาจมีไข้ต่ำๆหลังฉีดวัคซีนนี้ ซึ่งดูแลตนเองได้ด้วยการรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล,    *แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือไข้สูงมากขึ้น  หรือมี อาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง,  ผู้รับวัคซีน ควรรีบไปโรงพยาบาล ทันที/ฉุกเฉิน

*ผู้รับวัคซีนนี้บางคนอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ซึ่งพบได้น้อย เช่น

*ก. อาการแพ้แบบเฉียบพลัน (มักภายในประมาณ30นาทีหลังได้รับวัตซีน):  โดยจะมีอาการแสดง เช่น มีผื่นคัน ผื่นลมพิษขึ้นตามตัว,  ใบหน้า- ริมฝีปาก-และ/หรือเปลือกตา/หนังตาบวม,  หลอดลมตีบทำให้หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก

*ข. อาการทางสมองหลังฉีดวัคซีนนี้ (Yellow fever vaccine-associated neurologic diseases) เช่น โรคสมองอักเสบ

*ค. การทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายล้มเหลว (Yellow fever vaccine-associated viscerotropic disease) ซึ่งอาการแสดงของผลข้างเคียงนี้  มักไม่มีความจำเพาะเจาะจง  แต่สามารถสังเกตได้หากผู้รับวัคซีนนี้แล้วเกิดอาการ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง,  ปวดศีรษะรุนแรง,   หน้ามืด/เป็นลมเนื่องจากความดันโลหิตต่ำ,  มีอาการดีซ่าน (ตา-ตัวเหลือง), หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก  

***ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหลังรับวัคซีนนี้แล้ว มีอาการรุนแรงดังกล่าวข้างต้น (ข้อ ก., ข., และค. ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

*อนึ่ง: โดยทั่วไป หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นภายในประมาณ 10 วัน นับจากวันที่ได้รับวัคซีนนี้

วัคซีนโรคไข้เหลืองเหมาะสำหรับใคร? และมีกำหนดการฉีดวัคซีนอย่างไร?

วัคซีนโรคไข้เหลืองเหมาะสำหรับบุคคลดังต่อไปนี้ เช่น

  • วัคซีนโรคไข้เหลืองเหมาะสำหรับบุคคลอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป ถึงอายุ 60 ปี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เหลือง, หรือ บุคคลที่ต้องการเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้
  • สำหรับเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 6-9 เดือน โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ เว้นแต่ว่า อาศัยในบริเวณที่มีการระบาดของโรค, ดังนั้นการให้วัคซีนนี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพนิจของแพทย์เป็นกรณีไป
  • สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงทีจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรงจากวัคซีนนี้มากกว่าบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี, แพทย์สามารถพิจารณาให้วัคซีนนี้ได้ หากประโยชน์จากการได้รับวัคซีนนี้ มีมากกว่าความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนนี้

*สำหรับประเทศไทย ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโรคไข้เหลือง ควรติดต่อสถานพยาบาลและปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าเนิ่นๆ, เนื่องจากผู้ป่วยควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนโรคไข้เหลืองอย่างน้อย 10 วัน ก่อนการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือมีการระบาดของเชื้อโรคไข้เหลือง และโรงพยาบาลทั่วไป มักไม่มีการสำรองวัคซีนนี้เก็บไว้

ตามกฎขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยสาธารณสุขสากล (International Health Regulations) ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคบางชนิด ต้องได้รับวัคซีนป้องกัน ซึ่งโรคไข้เหลืองเป็นหนึ่งในโรคควบคุมที่ผู้เดินทางเข้าพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือมีการระบาด  ต้องได้รับวัคซีนก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน   เมื่อฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะออกหนังสือรับรองให้ ซึ่งจะมีการระบุวันที่เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนตามกฎขององค์การอนามัยโลกนั้น จำเป็นต้องมีการระบุเลขที่ของหนังสือเดินทาง (Passport) ไว้ด้วย, ผู้เข้ารับวัคซีนนี้ จึงควรต้องพกหนังสือเดินทางไปยังสถานพยาบาลที่จะเข้ารับวัคซีนนี้ในวันที่ฉีดวัคซีนด้วย

การเข้าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือมีการระบาดของเชื้อโรคไข้เหลืองโดยไม่มีการฉีดวัคซีนนั้น เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของพื้นที่เสี่ยงนั้นๆ อาจปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Yellow_fever [2022, Aug6]
  2. https://www.cdc.gov/yellowfever/vaccine/index.html [2022, Aug6]
  3. http://dcd.ddc.moph.go.th/2016/knowledges/view/9 [2022, Aug6]
  4. http://nvi.go.th/uploads/default/files/vaccine-knowledge/recommended-vaccine-for-travelers/yellow-fever.pdf [2022, Aug6]
  5. https://www.cdc.gov/yellowfever/vaccine/vaccine-pregnancy.html [2022, Aug6]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/9846 [2022, Aug6]
  7. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/yellow-fever [2022, Aug6]
  8. https://www.who.int/health-topics/international-health-regulations#tab=tab_2 [2022, Aug6]
  9. https://www.fda.gov/media/76015/download [2022, Aug6]