วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคบาดทะยัก (Tetanus) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Clostridium tetani ซึ่งเชื้อนี้พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมเช่น ในฝุ่น ในดิน และในลำไส้ของมนุษย์และของสัตว์ เชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลที่สัมผัสกับเชื้อฯหรือสัมผัสเนื้อเยื่อที่มีภาวะแผลเน่าเปื่อยหรือที่มีการอักเสบ จากภาวะไร้ออกซิเจน (Anaerobic) เมื่อเชื้อนี้เจริญเติบโตจะสร้างสารพิษปล่อยเข้ากระแสเลือด ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้กล้ามเนื้อผู้ป่วยหดเกร็ง ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่ทำงานตามปกติ และทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจได้

สาเหตุของการเกิดการติดเชื้อบาดทะยักคือ การเกิดบาดแผลที่สกปรก ลึก ที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เช่น แผลที่ถูกทิ่มด้วยวัสดุสกปรก ลึก แผลถลอกสกปรก บาดแผลที่ถูกสัตว์/คนกัด บาดแผลเรื้อรัง หรือการตัดสายสะดือที่ไม่สะอาด ร่วมกับผู้ป่วยไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อโรคบาดทะยักมาก่อน หรือมีระดับภูมิคุ้มฯกันไม่เพียงพอที่จะต่อต้านการติดเชื้อบาดทะยักได้

ประเทศไทยปัจจุบันอัตราการเกิดโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิดและในผู้ใหญ่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีการให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด, ในเด็กขวบปีแรก และในหญิงตั้งครรภ์ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงการได้รับวัคซีนในโรงพยาบาลได้มากขึ้น โดยชนิดของวัคซีนบาดทะยักที่ใช้บริหารเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันฯตั้งแต่เด็กแรกเกิดเป็นวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)

วัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์/วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus toxoid vaccine) ผลิตโดยนำพิษของแบคทีเรียมาทำให้หมดพิษแต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อพิษของเชื้อบาดทะยักได้ ซึ่งกลไกการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันฯแบบนี้เรียกว่า Active immunization วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการป้องกันโรคบาดทะยักที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียบาดทะยัก ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อจากตัวแบคทีเรียนี้โดยตรง

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ไม่มีรูปแบบที่เป็นวัคซีนชนิดเดี่ยว แต่จะอยู่ในรูปวัคซีนชนิดรวมโดยวัคซีนหนึ่งเข็มจะประกอบด้วย วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและโรคคอตีบ(Diptheria) และอาจประกอบด้วยวัคซีนโรคไอกรน (Pertussis) ร่วมด้วย บางชนิดอาจมีวัคซีนตับอักเสบบีเพิ่มผสมร่วมอีกด้วย

วัคซีนบาดทะยักมี 2 ชนิดคือ วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ และวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus immunoglobulin vaccine) แต่สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์” เท่านั้น ส่วนวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินได้แยกกล่าวในอีกบทความในเว็บ haamor.com บทความชื่อ “วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus immunoglobulin vaccine)”

วัคซีนบาดทะยักมีกี่ประเภท?

วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์

วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก/วัคซีนบาดทะยักปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท/ชนิดดังนี้

1. วัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ (Tetanus toxoid): กล่าวคือ ท็อกซอยด์ (Toxoid) /สารพิษ/สารชีวพิษใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียบาดทะยัก ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อจากตัวแบคทีเรียนี้โดยตรง ผลิตโดยนำพิษของแบคทีเรียนี้มาทำให้หมดพิษแต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯได้เองที่เรียกว่า Active immunization เป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กที่เด็ก ไทยทุกคนควรได้รับตามตารางการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์นี้ไม่มีรูปแบบชนิดเดี่ยว แต่จะอยู่ในรูปแบบ วัคซีนชนิดผสมคือ เป็นวัคซีนรวมที่ผลิตขึ้นเพื่อป้องกัน “โรคคอตีบและโรคบาดทะยัก” หรือเพื่อป้องกัน “โรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก” ซึ่งวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์นี้จะกล่าวถึงในบทความนี้

2. วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus immunoglobulin): ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันโรคบาดทะยักและรักษาโรคบาดทะยักได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯบาดทะยักเพราะเป็นวัคซีนชนิดที่ตัวยาเป็นยาภูมิคุ้มกันฯบาดทะยักซึ่งเรียกภูมิคุ้มกันฯแบบนี้ว่า Passive immunization โดยแพทย์จะเลือกใช้วัคซีนฯชนิดอิมมูโนโกลบูลินกรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อบาดทะยักหรือไม่เคยมีภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อดังกล่าวมาก่อน ซึ่งการฉีดวัคซีนชนิดนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามปริมาณวัคซีนนี้ที่ได้รับ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้แต่สามารถอ่านศึกษาเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus immuneoglobulin vaccine)”

วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์มีกี่ประเภท?

ปัจจุบันไม่มีวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เดี่ยวๆ แต่จะเป็นวัคซีนฯชนิดรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ประกอบอยู่ในวัคซีนอื่นดังนี้

1. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก นิยมเรียกว่า วัคซีน DT, dT (Diphtheria -Tetanus vac cine): เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษ/สารชีวพิษ (Toxin) ของแบคทีเรียโรคคอตีบและแบคทีเรียโรคบาดทะยักที่ทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีและนำมาทำเป็นวัคซีนชนิดท็อกซอยด์ (Toxoid) ใช้สำหรับกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯขึ้นเองเพื่อป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก และวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยักชนิดนี้ยังแบ่งเป็น 2 ชนิดย่อยที่แตกต่างกันที่ปริมาณวัคซีนคอตีบแต่มีปริมาณวัคซีนบาดทะยักเท่ากันทั้ง 2 ชนิดดังนี้

  • 1.1 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีหรือเรียกว่าวัคซีน DT วัคซีนชนิดนี้จะมีปริมาณเชื้อคอตีบสูงกว่าชนิด dT
  • 1.2 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ เรียกว่า วัคซีน dT วัคซีนชนิดนี้จะมีปริมาณเชื้อคอตีบต่ำกว่าชนิด DT จึงลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากวัคซีนคอตีบลงได้

2. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (โดยใช้ทั้งเซลล์แบคทีเรียไอกรน/Whole cell) หรือ เรียกว่าวัคซีน DTwP (Diphtheria-Tetanus-whole cell Pertussis vaccine): เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษ (Toxin) แบคทีเรียคอตีบ, บาดทะยัก และไอกรน และทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีและนำ มาทำเป็นวัคซีนชนิดท็อกซอยด์ (Toxoid) ของเชื้อคอตีบ, บาดทะยัก ส่วนวัคซีนไอกรนจะผลิตจากทั้งเซลล์แบคทีเรียไอกรนที่ทำให้ตายแล้ว (Inactivated pertussis) โดยใช้วัคซีนรวมชนิด 3 ตัวนี้สำ หรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั้ง 3 ในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี

3. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์/Acellular หรือเรียกว่าวัคซีน DtaP (Diphtheria-Tetanus-acellular Pertussis vaccine): เป็นวัคซีนที่ทำจากพิษ (Toxin) ของเชื้อคอตีบและเชื้อบาดทะยักที่ทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมีที่เรียกว่า ท็อกซอยด์ (Toxoid) ส่วนวัคซีนไอกรนทำจากส่วนประกอบเฉพาะบางส่วนของตัวเชื้อไอกรนที่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อโรคไอกรนได้ วัคซีน DTaP จะมีปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆน้อยกว่าวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) เช่น ไข้ อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ใช้สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี

ทั้งนี้ทั้ง DTwP และ DTaP มีขนาดและวิธีใช้ที่เหมือนกัน แต่ DTaP มีราคาแพงกว่าแต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า และ DTaP ไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขไทย

DTaP จะถูกเลือกใช้ในกรณีที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของ DTwP โดยเฉพาะในเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไข้เช่น เด็กที่มีโรคทางสมอง โรคชัก หรือเด็กที่เคยมีปฏิกิริยาข้างเคียง (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) มากต่อ DTwP ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ DTaP เป็นกรณีๆไป ทั้งนี้โดยทั่วไปจะเรียกวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนว่า วัคซีน DTP

4. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์/Acellular สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่หรือเรียกว่า วัคซีน Tdap: เป็นวัคซีนชนิดเดียวกับวัคซีนในข้อ 3 แต่มีการปรับปริมาณเชื้อไอกรนและปริมาณท็อกซอยด์คอตีบลงแต่ปริมาณท็อกซอยด์บาดทะยักเท่าเดิม ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับเด็กโตและกับผู้ใหญ่เพราะเด็กโตและผู้ใหญ่มีความไวต่อวัคซีนคอตีบและไอกรนมากกว่าเด็กเล็ก จึงสามารถลดปริมาณวัคซีนลงได้เพื่อลดผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯทั้ง 2 โรคได้ดี

วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์มีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ข้อบ่งใช้ของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์คือ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯชนิด Active immunization ต่อโรคบาดทะยัก ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้อยู่ในระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุขไทย เพื่อฉีดให้แก่เด็กทั้งหมด 3 เข็ม (จัดเป็นวัคซีนชุดแรกของเด็ก/Primary immunization) เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน วัคซีนดังกล่าวจะเป็นวัคซีนรวมประกอบด้วย วัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก หรือวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และอาจมีวัคซีนตับอักเสบบีรวมอยู่ด้วย ดังนั้นการฉีดวัคซีนชุดนี้จะทำให้เด็กได้ รับภูมิคุ้มกันฯต่อบาดทะยักและโรคอื่นๆดังกล่าวด้วย และแพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นชนิดวัคซีนรวม (คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน) อีก 2 ครั้งเมื่อเด็กอายุ 18 เดือนและในช่วงอายุ 4 - 6 ปี ทั้งนี้ภูมิคุ้ม กันฯต่อโรคบาดทะยักและโรคต่างๆที่ได้รับวัคซีนจะเริ่มเกิดประมาณ 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก ถ้าได้วัคซีน 3 เข็มภูมิคุ้มกันฯจะสูงประมาณ 16 เท่าของภูมิคุ้มกันฯที่ได้จากวัคซีน 1 เข็ม ถ้าได้รับ 4 เข็มร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันฯสูงประมาณ 150 เท่าจากที่ฉีด 1 เข็ม มีผลให้เด็กที่ได้รับวัคซีนครบ 4 เข็มจะมีภูมิคุ้มกันโรคเกิน 10 ปีที่อาจจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์เป็นกรณีไป

วิธีบริหารการฉีดวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์

วิธีฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์จะโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection, IM) โดยมีตำแหน่งในการฉีดที่แนะนำคือ

  • ในทารกและในเด็กวัยหัดเดิน แนะนำฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทาง ด้านนอก
  • สำหรับเด็กพ้นวัยหัดเดินแล้วและในผู้ใหญ่ แนะนำฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน ทั้งนี้ไม่แนะนำฉีดวัคซีนบาดทะยักเข้ากล้ามเนื้อสะโพกเพราะการฉีดวัคซีนนี้บริเวณดังกล่าวอาจกระ ทบกระเทือนเส้นประสาทบริเวณสะโพกได้

วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์จะถูกเก็บรักษาในตู้เย็น ดังนั้นก่อนบริหารยา/ใช้ยาควรตรวจสอบสภาพของสารละลายวัคซีนทุกครั้ง วัคซีนที่พร้อมใช้จะมีลักษณะเป็นน้ำใส และห้ามใช้วัคซีนที่มีลักษณะขุ่นหรือมีตะกอน รวมถึงควรปรับอุณหภูมิของวัคซีนโดยการคลึงกระบอกยา/กระบอกวัคซีน ด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างประมาณ 1 - 2 นาทีเพื่อให้อุณหภูมิวัคซีนเท่ากับอุณหภูมิร่างกายก่อนฉีดให้ผู้ ป่วย

มีข้อห้ามใช้วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์อย่างไร?

มีข้อห้ามใช้วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ดังนี้ กรณีที่เคยได้รับวัคซีนชนิดรวมที่ประกอบด้วย วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ วัคซีนคอตีบ วัคซีนไอกรน มาแล้ว แล้วเกิดอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนรุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยมีอาการเช่น ผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก/ความดันโลหิตต่ำ เรียกอา การที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมด้วยนี้ว่า อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylactic shock) หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นควรได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนรวมชนิดดังกล่าวในครั้งถัดไป แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจพิจารณาจากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้นว่าสามารถใช้วัคซีนนั้นได้

มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เช่น ห้ามฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เข้าหลอดเลือดดำ โดยวิธีการฉีดวัคซีนนี้ที่ถูกต้องคือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ผู้ที่ฉีดให้ควรเป็นพยาบาล ที่มีความชำนาญเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนนี้ฉีดเข้ากล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง เพราะการฉีดวัคซีนนี้เข้าหลอดเลือดดำอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอาการช็อก (Shock: หมดสติ) ได้ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนบาดทะยักนี้อย่างน้อยประมาณ 20 นาที หากกรณีเกิดฉีดวัคซีนนี้เข้าหลอดเลือดดำควรเฝ้าติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง

อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์มีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/ปฏิกิริยา/อาการข้างเคียง) ภายหลังฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ได้แก่

ก. อาการเฉพาะที่ที่ไม่รุนแรง: เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด บริเวณที่ฉีดบวมแดง กดแล้วเจ็บ และ/หรือรู้สึกแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน

ข. ปฏิกิริยาทั่วๆไป: เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ

กรณีรู้สึกปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ ไม่สบายตัว สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล (Paraceta mol: ยาแก้ปวด, ยาลดไข้) เพื่อบรรเทาอาการได้

นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดปฏิกิริยาแพ้ยา/แพ้ต่อวัคซีนบาดทะยักอย่างรุนแรงคือ อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) โดยมีอาการเช่น มีผื่นคันตามร่างกาย อาการหายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก บางกรณีอาจมีความดันโลหิตตก เรียกอาการที่มีภาวะความดันโลหิตตกร่วมว่า อะนาไฟแลกซิส ช็อก (Anaphylactic shock)

ในผู้ที่ได้รับวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์บ่อยเกินไปอาจเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Arthus reaction โดยจะเกิดอาการบวมมากของแขนหรือขาข้างที่ได้รับวัดซีนซึ่งมักเกิดหลังฉีดวัคซีนนี้ภายใน 2 - 12 ชั่วโมง หากเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวควรประคบเย็นในบริเวณที่ฉีดวัคซีนและให้ยาแก้ปวดParacetamol ทั้งนี้การรักษาปฏิกิริยานี้จะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ซึ่งปฏิกิริยานี้ไม่มีอันตรายและจะค่อยๆหายได้เองภายใน 2 - 3 วันหลังเกิดอาการ

แต่เพื่อหลีกเลี่ยงอาการ Arthus reaction ควรพิจารณาเว้นช่วงการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิด ท็อกซอยด์เข็มถัดไปออกไปอย่างน้อย 10 ปี

ตารางเวลาการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์

ตารางเวลาในการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ โดยมีตารางการฉีดขึ้นกับจุดประสงค์และ อายุของผู้ป่วย โดยจะกล่าวในกรณีเป็นวัคซีนรวมบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ดังนี้

1. เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี: ฉีดวัคซีนชนิดรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (วัคซีน DTwP) หรือวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (วัคซีน DTaP) โดยฉีดวัคซีน ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก ทำการฉีดที่อายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และฉีดวัคซีนนี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯอีกครั้งที่อายุ 4 ปี

วัคซีน DTaP สามารถเลือกใช้แทนวัคซีน DTwP ได้ทุกครั้ง และควรเลือกใช้วัคซีน DTaP ในเด็กที่มีโรคทางสมอง โรคชัก หรือมีประวัติเคยมีปฏิกิริยารุนแรงหลังได้รับวัคซีน DTwP

สำหรับวัคซีนรวมนี้เข็มกระตุ้นที่อายุ 4 ปีอาจเลือกฉีดวัคซีนชนิด DTwP, DTaP หรือ Tdap ก็ได้

ทั้งนี้ในเด็กที่มีโรคทางสมองและยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง (Progressive neurological disorder) ซึ่งยังควบคุมโรคได้ไม่ดี หรือเคยได้รับวัคซีนที่มีไอกรนผสมอยู่แล้วเกิดอาการทางสมอง (Encephalo pathy) ที่เกิดภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน จะเป็นข้อห้ามของการฉีดวัคซีนไอกรนทั้งชนิดทั้งเซลล์และชนิดไร้เซลล์ ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองดังกล่าวแพทย์จะพิจารณาฉีดเฉพาะวัคซีนคอตีบและบาดทะยักชนิด DT

2. เด็กอายุ 7 ปีและผู้ใหญ่:

2.1 เด็กอายุ 7 - 10 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อน: ฉีดวัคซีน รวมคอตีบ-บาดทะยักชนิดสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ (วัคซีน dT) หรือวัคซีนรวมคอตีบ -บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สูตรเด็กโตที่อายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ (วัคซีนTdap) โดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางด้านนอก ทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยเข็มแรกฉีดทันที, เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 หลังฉีดเข็มแรก ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap เป็นเข็มแรกจากนั้นเข็มที่ 2 และ 3 สามารถเลือกได้ทั้ง dT หรือ Tdap

2.2 เด็กอายุ 11 - 18 ปีที่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนครบตามจำนวน: แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯด้วยวัคซีน Tdap ณ ช่วงอายุที่ 11 - 12 ปี ทั้งนี้สาเหตุที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap ก็เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนด้วย แต่กรณีเด็กได้รับวัคซีนชนิด dT แทน Tdap ไปแล้วไม่ถือเป็นข้อห้ามฉีด Tdap แต่หากพิจารณาแล้วพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน dT มีความเสี่ยงต่อการติดโรคไอกรนสูงเช่น อยู่ในช่วงที่มีโรคไอกรนระบาดอาจพิจาณาให้วัคซีน Tdap อีกครั้งได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่างจากการฉีดวัคซีน dT ครั้งก่อน ยกเว้นถ้าเคยมีประวัติเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Arthus reaction ซึ่งจะเกิดอาการบวมมากของแขนหรือขาข้างที่ได้รับวัดซีนซึ่งมักเกิดหลังฉีดภายในประมาณ 2 - 12 ชั่วโมง หากเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวควรพิจารณาเว้นช่วงการฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์เข็มถัดไปอย่างน้อย 10 ปี

2.3 ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไปที่เคยได้รับวัคซีนรวมฯมาในวัยเด็กครบถ้วนแล้ว: แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯด้วยวัคซีน dT ทุก 10 ปี และให้ใช้วัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้งหากยังไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาก่อนเลย (เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันฯต่อโรคไอกรน) โดยเฉพาะบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีควรได้รับวัคซีน Tdap ก่อนสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กฯอย่างน้อย 2 สัปดาห์

2.4 ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไปและไม่เคยได้รับวัคซีนมาในวัยเด็กข้างต้นมาก่อน: ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนมาก่อนเลย ให้ฉีดวัคซีน dT จำนวน 3 ครั้งโดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยเข็มแรกทันที, เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และเข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap 1 ครั้งใน 3 ครั้งเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อไอกรนและเมื่อมีโอกาสควรฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน dT ทุก 10 ปี

2.5 ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือมีภูมิคุ้มกันฯบกพร่องอื่นๆ: ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากมีบาดแผลที่มีโอกาสติดเชื้อบาดทะยักควรพิจาณาให้วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อร่วมด้วยเสมอไม่ว่าจะเคยได้รับวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์มาก่อนหน้านี้หรือไม่

3. วิธีให้วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์สำหรับผู้ป่วยที่มีบาดแผล:

3.1 กรณีเคยได้รับวัคซีนรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ครบ 3 เข็มและระยะเวลาหลังฉีดเข็มสุดท้ายอยู่ในช่วงน้อยกว่า 5 ปี: ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิด ท็อกซอยด์เพิ่มเติมแม้ว่าบาดแผลจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก (แผลทิ่มตำด้วยวัสดุสกปรก บาดแผลลึกที่ปากแผลเล็ก บาดแผลฉีกขาดปนเปื้อนเศษดินหิน หรือบาดแผลจากสัตว์/คนกัด เป็นต้น)

3.2 กรณีเคยได้รับวัคซีนรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ครบ 3 เข็มและระยะเวลาหลังฉีดเข็มสุดท้ายอยู่ในช่วง 5 ปี - 10 ปี: พิจารณาวัคซีน dT 1 เข็มในกรณีบาดแผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก (แผลทิ่มตำด้วยวัสดุสกปรก บาดแผลลึกที่ปากแผลเล็ก บาดแผลฉีกขาดปนเปื้อนเศษดินหิน หรือบาดแผลจากสัตว์/คนกัด เป็นต้น) ทั้งนี้สามารถพิจารณาฉีดวัคซีน Tdap แทน dT ได้กรณีไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาเลยหลังจากอายุ 4 ปี

3.3 กรณีเคยได้รับวัคซีนรวมที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ครบ 3 เข็มและระยะเวลาหลังฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 10 ปี: พิจารณาวัคซีน dT 1 เข็มทั้งในกรณีบาดแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก (แผลทิ่มตำด้วยวัสดุสกปรก บาดแผลลึกที่ปากแผลเล็ก บาดแผลฉีกขาดปนเปื้อนเศษดินหิน หรือบาดแผลจากสัตว์/คนกัด เป็นต้น) หรือในกรณีบาดแผลที่สะอาด ทั้งนี้สามารถพิจารณาฉีดวัคซีน Tdap แทน dT ได้กรณีไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาเลยหลังจากอายุ 4 ปี

3.4 กรณีไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์หรือรับวัคซีนฯไม่ครบ 3 เข็ม: พิจารณาใช้วัคซีน dT 3 เข็มโดยฉีดวัคซีนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็มโดยเข็มแรกฉีดทันที, เข็มที่ 2 ณ เดือนที่ 1 และ เข็มที่ 3 ณ เดือนที่ 6 ทั้งในกรณีบาดแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก (แผลทิ่มตำด้วยวัสดุสกปรก บาดแผลลึกที่ปากแผลเล็ก บาดแผลฉีกขาดปนเปื้อนเศษดินหิน หรือบาดแผลจากสัตว์กัด เป็นต้น) และในกรณีบาดแผลที่สะอาด ทั้งนี้สามารถพิจารณาฉีดวัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้งใน 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนกรณีไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาเลยหลังจากอายุ 4 ปี ร่วมกับการให้วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลินโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อคนละตำแหน่งกับวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป

การใช้วัคซีนบาดทะยักช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

การใช้วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ไม่ถือเป็นข้อห้ามระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร อีกทั้งวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ยังเป็นหนึ่งในวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์มาก่อนอีกด้วย

ปัจจุบันวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์/Acellular สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่หรือ Tdap แนะนำให้ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ทุกครรภ์ ในมารดาหลังคลอดบุตร และในมารดาที่ให้นมบุตร โดยมีข้อบ่งใช้วัคซีนนี้ในหญิงตั้งครรภ์ดังนี้

1. ในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีประวัติเคยได้รับ Tdap ไม่ว่าจะเคยรับ dT หรือ T มาครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม แพทย์ควรพิจารณาให้ Tdap ระหว่างตั้งครรภ์ได้โดยแนะนำให้ 1 เข็มเมื่ออายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ห่างจากวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์หรือคอตีบเข็มล่าสุดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันฯส่งผ่านถึงทารกในครรภ์ได้มากที่สุด แต่หากไม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ควรให้เร็วที่สุดหลังคลอด

2. ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์และคอตีบไม่ครบหรือไม่ทราบประวัติ รับวัคซีนฯ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อบาดทะยักและคอตีบแก่แม่และแก่ทารกในครรภ์หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักชนิดทอกซอยด์และคอตีบ (dT) จำนวน 3 ครั้ง แนะนำ 2 เข็มแรกห่างกัน 4 สัปดาห์ ต่อจากนั้นให้ฉีดเข็มที่ 3 อีก 6 - 12 เดือนต่อมานับจากเข็มที่ 2 โดยสามารถพิจารณาฉีดวัคซีน Tdap แทน dT ได้ 1 ครั้งใน 3 ครั้งเพื่อสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯต่อไอกรนให้แก่มารดาและแก่ทารกในครรภ์ โดยแนะนำให้พิจารณาฉีดวัคซีนรวม Tdap ในช่วงอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์

3. ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีบาดแผลโดยที่เคยได้วัคซีนรวมนี้ครบถ้วนจำเป็นต้องใช้วัคซีน dT กระตุ้น แต่หากไม่เคยได้รับวัคซีนชนิด Tdap ควรให้วัคซีน Tdap แทน dT เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯต่อไอกรนให้แก่มารดาและทารกฯ จากนั้นทำการฉีดวัคซีน dT ในเข็มต่อๆไปทุก 10 ปี

ทำอย่างไรกรณีรับวัคซีนบาดทะยักไม่ตรงตารางเวลาที่กำหนด?

กรณีผู้ป่วยมารับการฉีดวัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ไม่ตรงตามตารางเวลาที่กำหนด ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนฯเข็มถัดไปได้ทันทีโดยนับต่อจากเข็มสุดท้ายที่ผู้ป่วยควรได้รับ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี ถ้าเกิน 5 ปีต้องเริ่มต้นฉีดวัคซีนนี้ใหม่ทั้งหมด

มีวิธีเก็บรักษาวัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์อย่างไร?

วัคซีนป้องกันบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนชนิดน้ำใสสำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วิธีการเก็บคือเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา (อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส/Celsius) ห้ามแช่แข็ง เก็บวัคซีนในบรรจุภัณฑ์เดิม หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดและแสงสว่าง นอกจากนั้นควรใช้วัคซีนฯภายหลังการเปิดบรรจุภัณฑ์ทันทีและให้ทิ้งวัคซีนส่วนที่เหลือ

วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิต

วัคซีนบาดทะยักชนิดท็อกซอยด์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยผลิตจากพิษของแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งก่อให้เกิดโรคบาดทะยักที่ทำให้หมดพิษ แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อพิษของเชื้อบาดทะยักได้ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันฯชนิด Active immunization ให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้

ปัจจุบันวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ไม่มีรูปแบบที่เป็นวัคซีนชนิดเดี่ยว แต่จะอยู่ในรูปวัคซีนชนิดรวมโดยวัคซีนชนิดรวมหนึ่งเข็มจะประกอบด้วยวัคซีนป้องกันเชื้อคอตีบร่วมด้วย (วัคซีน 2 ตัว) และอาจ ประกอบด้วยวัคซีนไอกรนเพิ่มอีกตัวเป็นวัคซีน 3 ตัวหรือบางชนิดอาจมีวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีผสมเพิ่มอีกตัวเป็นวัคซีน 4 ตัว

ประเทศไทยวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. TIMS (Thailand). MIMS. 137th ed. Bangkok: UBM Medica; 2014
  3. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เกษวดี ลาภพระ, จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา, ฐิติอร นาคบุญนำ และอัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา; 2556
  4. กำพล สุวรรณพิมลกุล, กมลวรรณ จุติวรกุล, เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ และคณะ. Infectious Disease Emergencies. กรุงเทพฯ: ตรีเทพบุ๊คโปรเสส; 2559
  5. โอฬาร พรหมาลิขิต, อัจฉรา ตั้งสภาพรพงษ์ และอุษา ทิสยากร. วัคซีน 2015. กรุงเทพฯ: นพชัยการพิมพ์; 2558