ลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการโรคลมชัก (Epilepsy) โดยแพทย์อาจใช้ร่วมกับยากันชักตัวอื่นในการรักษา รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งยารับประทาน และยาฉีด ประเทศไทยจะพบเห็นการใช้ยาชนิดรับประทานตามสถานพยาบาลมากกว่ายาฉีด

ยาลีวีไทราซีแทมเป็นยาที่ใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ทั่วไป ตัวยาลีวีไทราซีแทมจะต้องใช้ เวลาประมาณ 6 - 8 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย สำหรับผู้ป่วยโรคไตแพทยอาจต้องปรับขนาดการรับประทานลดลงเพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของไตและช่วยลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยานี้ลงอีกด้วย

ทั้งนี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาลีวีไทราซีแทมรวมถึงเงื่อนไขทางสุขภาพหรือโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังหากต้องใช้ยานี้เช่น

  • เป็นผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ป่วยด้วยโรคไตหรือต้องล้างไตเป็นประจำ
  • มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าหรือเคยคิดทำร้ายตนเองมาก่อนหรือไม่ ด้วยกลุ่มยารักษาอาการลมชักสามารถทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าหรือการคิดทำร้ายตัวเองเพิ่มได้มากขึ้น
  • ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถได้รับผลกระทบหรือเกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยานี้ ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน หากเกิดอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ยาลีวีไทราซีแทมสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงทางผิวหนังหรือที่เรียกว่า Stevens- Johnson syndrome กับผู้ป่วยบางรายโดยมักพบเกิดในช่วงระยะเวลาประมาณ 14 - 17 วันหลัง จากใช้ยานี้ ซึ่งหากเกิดอาการนี้เช่น ผิวหนังลอก บวม ตาแดง เป็นแผลในปาก - ในคอและในจมูก ควรพาผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ต้องรอวันนัดเพื่อแพทย์บำบัดรักษาอาการดังกล่าว
  • กรณีที่ใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีลงมาควรต้องตรวจความดันโลหิตควบคู่กันไปตามแพทย์แนะนำเพราะยานี้อาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงได้

อนึ่งยาลีวีไทราซีแทมสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้เหมือนกับยาชนิดอื่นๆเช่น ทำให้ เกิดอาการไอ เบื่ออาหาร ท้องเสีย วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ โดยอาการข้างเคียงหลายอาการที่ร่างกายสามารถปรับตัวได้จนผู้ป่วยคุ้นเคยหรืออาการหายไปเองโดยไม่ต้องใช้ยาใดๆมารักษา

ทางคลินิกเคยศึกษาใช้ยาลีวีไทราซีแทมรักษากลุ่มอาการ Tourette syndrome โรควิตกกังวลและโรคอัลไซเมอร์ แต่กลับพบว่าตัวยานี้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงกับผู้ป่วยมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์ จึงยังหาข้อสรุปไม่ได้ที่จะระบุสรรพคุณของยานี้ในการรักษาโรคดังกล่าวเพิ่มเติม

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ตัวยาลีวีไทราซีแทมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยจัดเป็นประเภทยาอันตราย และมีเงื่อนไขของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชักที่มีการทำงานของตับบกพร่องหรือผู้ป่วยโรคลมชักที่ใช้ยาอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล และต้องใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเท่านั้น สิ่งสำคัญของการใช้ยานี้คือผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดไม่ปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง

ลีวีไทราซีแทมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ลีวีไทราซีแทม

ยาลีวีไทราซีแทมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคลมชัก

ลีวีไทราซีแทมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาลีวีไทราซีแทมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (การกระจายตัวของยาเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด) พบว่าตัวยาลีวีไทราซีแทมจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนที่มีชื่อว่า Synaptic vesicle glycoprotein ในสมอง ทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานในบริเวณสมองที่มีชื่อเรียกว่า Presynaptic calcium channels จากกลไกเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้อาการของโรคลมชักสงบและดีขึ้น

ลีวีไทราซีแทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลีวีไทราซีแทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 250, 500, 700 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นานขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดขนาด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ลีวีไทราซีแทมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาลีวีไทราซีแทมมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัมวัน ละ 2 ครั้งเช้า - เย็นทุกๆ 2 สัปดาห์ แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาขึ้นเป็น 1,000 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับ ประทานสูงสุดไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4 ปี - ต่ำกว่า 16 ปี: รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยรับประทานวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นทุกๆ 2 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีก 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีลงมาให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่งยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลีวีไทราซีแทม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาลีวีไทราซีแทมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลีวีไทราซีแทมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาลีวีไทราซีแทมตรงเวลา

ลีวีไทราซีแทมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลีวีไทราซีแทมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เดินเซ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการไอ โพรงจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ คอหอยอักเสบ
  • ผลต่อจิตประสาท: เช่น มีอารมณ์ซึมเศร้า กระสับกระส่าย วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ รู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดทุกชนิดต่ำหรือเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น การทำงานของตับผิดปกติ มีภาวะตับอักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดบริเวณต้นคอ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร

*อนึ่งลักษณะของผู้ที่ได้รับยาลีวีไทราซีแทมเกินขนาดจะพบอาการง่วงนอน กระสับกระส่าย มีอารมณ์ก้าวร้าว ซึมเศร้า หายใจลำบาก จนอาจถึงขั้นโคม่า เมื่อพบมีอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันทีฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ลีวีไทราซีแทมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลีวีไทราซีแทมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ไม่ใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่ง ของแพทย์
  • การหยุดใช้ยานี้ทันทีอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะถอนยา แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ปรับลดขนาดยานี้ได้อย่างเหมาะสมโดยใช้เวลาทุก 2 - 4 สัปดาห์เพื่อปรับขนาดรับประทานลง
  • ญาติควรเฝ้าระวังเรื่องการทำร้ายตัวเองอันเนื่องมาจากฤทธิ์ต่ออารมณ์ของยานี้
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลีวีไทราซีแทมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ลีวีไทราซีแทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลีวีไทราซีแทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาลีวีไทราซีแทมร่วมกับยา Aripiprazole, Dexbrompheniramine, Hydrocodone, Propoxyphene อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาลีวีไทราซีแทมร่วมกับยา Buprenorphine อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของประสาทส่วนกลางเช่น หายใจไม่ค่อยออก/หายใจลำบาก เกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามรับประทานยาลีวีไทราซีแทมร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และขาดสมาธิ

ควรเก็บรักษาลีวีไทราซีแทมอย่างไร

ควรเก็บยาลีวีไทราซีแทมในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ลีวีไทราซีแทมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลีวีไทราซีแทมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Keppra (เคปปรา) GlaxoSmithKline
Lecetam (เลเซแทม) Unison
Spritam (สปริแทม) Aprecia Pharmaceutical
Elepsia XR (อีเลปเซีย เอ็กซ์อาร์) Sun Pharmacetical

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Levetiracetam [2016,Feb27]
  2. http://www.drugs.com/dosage/levetiracetam.html [2016,Feb27]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/79#item-8548 [2016,Feb27]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Keppra/?type=full#Indications [2016,Feb27]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/levetiracetam-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Feb27]