ลินเดนโลชั่น (Lindane lotion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลินเดน หรือลินเดนโลชั่น (Lindane lotion) หรือในชื่ออื่นเช่น แกมมาซีน (Gammaxene) หรือ แกมมอลลิน (Gammallin) หรือ แกมมา-เฮกซาคลอโรไซโคลเฮกเซน (Gamma-hexachlorocyclohe xane) เป็นสารประเภทอินทรีย์ประเภทคลอไรด์ (Organochloride) ในภาคเกษตรกรรมใช้เป็นยาฆ่าแมลง แต่ในทางคลินิกนำมาเป็นยาฆ่าหิดและฆ่าเหา ยาลินเดนถูกค้นพบและเป็นที่รู้จักกันในวงการวิทยาศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปี ด้วยจัดเป็นสารพิษต่อระบบประสาทโดยสามารถรบกวนการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองบางตัวเช่น กาบา (GABA) รวมถึงก่อให้เกิดพิษกับตับและไตไปจนกระทั่งอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ จึงเป็นเหตุผลให้ประเทศต่างๆจำนวน 52 ประเทศต่อต้านและไม่ยอมให้มีการใช้ยาลินเดนในประเทศของตน แต่ในเวลาต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ได้มีข้อตกลงกันใหม่โดยยอมให้ยาลินเดนเป็นยาทางเลือกที่สองเพื่อใช้ฆ่าหิด - ฆ่าเหาบนศีรษะเมื่อใช้ยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาลินเดนจะเป็นยาทาเฉพาะที่เช่น โลชั่น ครีม แชมพู เป็นต้น หากเกิดเหตุการณ์ที่ยาลินเดนซึมเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 91% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยาลินเดนออกจากกระแสเลือด

ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ยาลินเดนได้เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาลินเดนมาก่อน
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคชัก (Seizures) หรือมีภาวะผิวหนังอักเสบปริแตก
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
  • มีประวัติป่วยด้วยโรคเอชไอวี (HIV) มีบาดแผลที่ศีรษะ ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวไม่ถึง 50 กิโลกรัม ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลินเดน
  • ผู้ที่มีประวัติหรือกำลังใช้ยาต่างๆที่สามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาลินเดนจะทำให้ได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากลินเดนเพิ่มขึ้นเช่นยา Phenothiazine, Isoniazid, Diazepam, Theo phylline รวมถึงยาในกลุ่ม TCAs
  • หลีกเลี่ยงการทาครีม โลชั่น ขี้ผึ้งใดๆ ก่อนการทายาลินเดนด้วยการทาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะทำให้การดูดซึมยาลินเดนเข้าสู่ร่างกายมีมากขึ้น

ผู้ที่ได้ใช้ยาลินเดนอาจได้รับอาการข้างเคียงทางผิวหนังที่พบเห็นบ่อยๆเช่น แสบ คัน เกิดผื่นแดง ในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับตัวยานี้

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาลินเดนเป็นสาร/เป็นยาอันตรายในระดับกลาง การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยเหมาะสมควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยอาจพบเห็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาลินเดนตามร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป

อนึ่งหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลยาลินเดนได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือ เภสัชกรได้โดยทั่วไป

ลินเดนโลชั่นมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ลินเดนโลชั่น

ยาลินเดนโลชั่นมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้เป็นยาฆ่าหิด - ฆ่าเหารวมถึงไข่ของหิด - ของเหาตามผิวหนัง
  • สามารถใช้ยานี้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ *แต่ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนลงมา

ลินเดนโลชั่นมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลินเดนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะแทรกซึมเข้าไปในตัวหิด - ตัวเหารวมถึงไข่ของหิด - ของเหาด้วย ทำให้ระบบการดำรงชีวิตของหิด - ของเหาถูกรบกวนไม่สามารถเจริญเติบโตหรือขยายพันธุ์ต่อไปได้และตายลงในที่สุด จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ลินเดนโลชั่นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลินเดนโลชั่นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • โลชั่นทาผิวที่มีความเข้มข้น 1%
  • ครีมทาผิวที่มีความเข้มข้น 1%
  • แชมพูสระผมขนาดความเข้มข้น 1%
  • เจลทาผิวขนาดความเข้มข้น 0.3%

ลินเดนโลชั่นมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาลินเดนโลชั่นมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก.สำหรับฆ่าเชื้อหิด (Scabies):

  • ผู้ใหญ่: ใช้โลชั่น 1% ทาผิวบริเวณที่ติดเชื้อหิดและทิ้งไว้เป็นเวลาประมาณ 8 - 12 ชั่วโมง จากนั้นให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย
  • เด็กอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม: ทาโลชั่นขนาด 1% อย่างเบาบางและล้างออกหลังทิ้งไว้ประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง

ข.สำหรับฆ่าเหา:

ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม: ใช้แชมพูขนาด 1% ในปริมาณ 15 - 30 มิลลิลิตรสระผมเป็นเวลาประมาณ 4 - 5 นาทีเพียงครั้งเดียว กรณีผู้ที่มีผมยาวอาจต้องใช้แชมพูปริมาณ 60 มิลลิลิตร หลังสระผมให้ล้างทำความสะอาดเส้นผมจนหมดคราบแชมพู เป่าผมให้แห้ง และใช้หวีเสนียด (หวีซี่ละเอียดที่ใช้สางเหา) หวีผมเพื่อกำจัดซากและไข่เหา

*อนึ่งในเด็ก:

  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนลงมา
  • การใช้ยานี้กับเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 50 กิโลกรัมจะต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสมเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลินเดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่โดยเฉพาะยาแอสไพรินหรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด /ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะยาลินเดนอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาลินเดนสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ โดยปกติการใช้ยานี้เพียงครั้งเดียวก็เห็นประสิทธิภาพแล้ว กรณีที่ยังมีอาการอยู่อีกอาจใช้ยานี้อีกหลังจากการใช้ยาครั้งแรกไปแล้วนานประมาณ 1 สัปดาห์ หรือใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์

ลินเดนโลชั่นมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลินเดนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบโลชั่น แชมพู ครีม และเจล อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ก่อให้เกิดอาการวิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ ในเด็กเล็กอาจก่อให้เกิดอาการชักตามมา
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจางชนิด Aplastic anemia
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ลมพิษ อาจพบภาวะผมร่วงจนศีรษะล้าน

*อนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากลินเดนจะมีอาการปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด หัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย มีภาวะชัก อาเจียน หากพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ลินเดนโลชั่นอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลินเดนโลชั่นเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาลินเดน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยามากหรือเกินจากคำสั่งของแพทย์
  • ห้ามรับประทานผลิตภัณฑ์ยาลินเดนโดยเด็ดขาด
  • ห้ามมิให้ยานี้เข้าตารวมถึงผิวหนังที่เป็นแผลเปิด
  • หลังใช้ยานี้แล้วหากมีอาการวิงเวียนต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • สำหรับคู่สามี - ภรรยา หากใครคนใดคนหนึ่งติดเชื้อหิด - เหา ควรแยกห้องนอน เครื่องใช้ส่วนตัว(เช่น ผ้าเช็ดตัว) จนกว่าอีกฝ่ายจะรักษาหาย หรือให้แพทย์ตรวจอาการว่ามีการติดเชื้อหิด – เหาด้วยหรือ ไม่เพื่อทำการรักษาไปพร้อมๆกัน
  • หลังการใช้ยานี้แล้วมีอาการชักให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ขณะทายาลินเดนโลชั่นให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวผู้อื่น
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลินเดน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ลินเดนโลชั่นมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลินเดนโลชั่นมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาลินเดนโลชั่นร่วมกับยาเช่น Tramadol, Phenylpropanolamine, Metrizamide (สี/สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์), Bupropion, Lidocaine, Promethazine และอื่นๆอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้มีภาวะชักในผู้ป่วยเกิดขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาลินเดนโลชั่นอย่างไร?

ควรเก็บยาลินเดนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ลินเดนโลชั่นมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลินเดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Hexin (เฮกซิน) Krungdheb
Jacutin (จาคูติน) Hermal

อนึ่งยาลินเดนในประเทศตะวันตกมียาชื่อการค้าเช่น Gamene, Kwell, Scabene

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Lindane [2016,April23]
  2. http://www.drugs.com/cdi/lindane-lotion.html [2016,April23]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/hexin/ [2016,April23]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/jacutin/ [2016,April23]
  5. http://reference.medscape.com/drug/lindane-topical-343501 [2016,April23]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/lindane-topical-index.html?filter=3&generic_only= [2016,April23]