รีวิวตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

รีวิวตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

สวัสดีครับ blog โพสคราวนี้เราจะพาไปดูการตรวจสุขภาพแบบ Advance ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กันนะครับ โพสนี้ทีมงาน haamor.com ต้องขอขอบคุณทางโรงพยาบาลที่ช่วยอำนวยความสะดวก รวมถึงการจัดหาเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้ามาตอบคำถามในตอนท้ายของ blog นี้ ถ้าผู้อ่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ package ต่างๆ สามารถฝากคำถามในช่อง comment ด้านท้ายของ blog ได้ครับ

ส่วนรายละเอียดของ package ที่เราจะพาไปทัวร์ในวันนี้ เป็น แพคเกจการตรวจสุขภาพขั้น Advance (สามารถตรวจสอบรายละเอียดการตรวจได้ตามตารางเลยครับ)


*อ้างอิงจาก www.samitivejhospitals.com/price_package_detail/โปรแกรมตรวจสุขภาพ_545/th

การเดินทางมาที่โรงพยาบาลก็ไม่ยากครับ สามารถเข้าได้จาก ซอยสุขุมวิท 39, 49 หรือ 55 (ซอยทองหล่อ) ตามแผนที่ได้เลยครับ


*อ้างอิงจาก www.samitivejhospitals.com/Map_Site.aspx?site=svh&lid=th

ถ้ามาทาง รถไฟฟ้า BTS สามารถลงได้ทั้งสถานี พร้อมพงษ์ หรือ ทองหล่อ แล้วมองหารถของโรงพยาบาลที่จะวิ่งรับทุกๆ 1 ชั่วโมง

วันนี้ผู้ร่วมตรวจสุขภาพกับเราเป็นผู้หญิง ชื่อคุณนุช นะครับ เราเริ่มกันที่ “ศูนย์สุขภาพ” ชั้น 3 อาคาร 2 (ตึกหน้าสุดที่ติดกับถนน) โดยมีหัวหน้าพยาบาล คุณปุ้ย และ คุณพยาบาลอุ๋มคอยดูแลครับ ศูนย์สุขภาพนี้เปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น (คนจะเยอะที่สุดระหว่าง 8 – 10 โมงเช้าครับ)

*ในการตรวจสุขภาพ แนะนำให้งดอาหาร / น้ำ มาก่อนตรวจ 8 ชม. หากอยากมีเวลาสอบถามพูดคุยกับแพทย์มากกว่าปกติ แนะนำให้มาช่วงบ่าย โดยถ้ามาตรวจช่วงบ่ายให้ทานข้าวเช้าก่อน 06.00 น.แล้วทำการงดอาหาร / น้ำ จนกว่าจะได้รับการตรวจ และเจ้าหน้าที่แจ้งให้กิน/ดื่มได้

*หากต้องทานยา ถ้าเป็นยาไม่สำคัญ เช่น วิตามิน ควรงดยาในมื้อสุดท้ายที่ต้องทานมาก่อนทำการตรวจ และพกยามาด้วย (เพราะยาบางชนิดอาจทำให้การเต้นของหัวใจให้ผลผิดไป) แต่ถ้าเป็นยาสำคัญ เช่น ยาโรคเบาหวาน ควรโทรสอบถามแพทย์ พยาบาลก่อนว่าควรทำอย่างไร?

*ถ้ามีไข้ควรทำการรักษาให้หายก่อนแล้วจึงกลับมาตรวจ จะได้ผลตรวจที่แม่นยำกว่าการตรวจขณะมีไข้

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาในการกรอกประวัติและเลือกแพคเกจ คุณพยาบาลอุ๋มแนะนำให้โทรฯ นัดหมายก่อนเข้ามาตรวจ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้สามารถอธิบายแพคเกจต่างๆ รวมถึงการเตรียมตัวก่อนมาตรวจล่วงหน้าให้คนไข้ได้ทราบ สามารถโทรฯ สอบถามข้อมูลได้ที่ 0-2711-8200

ลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ (08:25)

เราเริ่มกันด้วยการลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ (ใครเป็นคนไข้ประจำของโรงพยาบาลอยู่แล้วสามารถแจ้งชื่อที่เคาน์เตอร์ด้านหน้าได้เลยครับ) สามารถเลือกช่องทางจัดส่งใบผลตรวจได้ทางไปรษณีย์ส่งถึงบ้าน หรือ email ก็ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมครับ

ซักถามประวัติทั่วไป (08:28)

ขั้นตอนแรกหลังลงทะเบียน คุณพยาบาลจะคุยรายละเอียดการตรวจก่อนครับ ถ้าช่วงที่มีคนไข้เยอะจะมีห้องด้านในสามารถรับรองคนไข้เพิ่มเติมเพื่อลดขั้นตอนที่อาจเป็นคอขวดได้ ในขั้นตอนแรกสามารถรับคนไข้พร้อมกันได้ถึง 6–8 คนครับ คุณพยาบาลปุ้ยบอกว่า แต่ละวันจะมีคนไข้มาตรวจสุขภาพ 100 – 150 คนแล้วแต่ช่วงของปี ต้นปีจะมีคนไข้น้อยกว่าปลายปีซึ่งจะมีพนักงานบริษัทต่างๆมาใช้บริการก่อนที่สัญญาประจำปีของบริษัทที่ทำไว้กับโรงพยาบาลจะหมดลง

ขั้นตอนนี้เป็นการซักถามประวัติทั่วไปเพื่อยืนยันสิ่งที่คนไข้จะได้ตรวจจริง รวมถึงคลายข้อสงสัยเบื้องต้นที่คนไข้อาจจะมีกับการตรวจในวันนั้น พร้อมให้คูปองทานอาหาร คูปองนี้สามารถใช้ได้ทั้งที่ศูนย์อาหารชั้น G ของโรงพยาบาลหรือร้าน au bon pain ที่ชั้น 1 อาคาร 1 ครับ หลังจากนั้น จะส่งไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และให้คำปรึกษาการตรวจเพิ่มเติมเมื่อมีข้อบ่งชี้

เจาะเลือด ตรวจชีพจร วัดความดันโลหิต (vital signs) (08:31)

จากนั้นคุณพยาบาลจะพาไปส่วนด้านในเพื่อรอเจาะเลือด ตรวจชีพจร วัดความดันโลหิต (vital signs) และเก็บตัวอย่างอุจจาระ/ปัสสาวะ

โรงพยาบาลสมิติเวชแนะนำว่าการตรวจอุจจาระ ไม่ควรทิ้งอุจจาระไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ จึงไม่แนะนำให้เก็บตัวอย่างมาจากบ้าน ถ้าในช่วงเช้าไม่รู้สึกปวด สามารถถ่ายหลังทานข้าวเที่ยงได้

เจ้าหน้าที่จะเช็คซ้ำอีกครั้งว่าชื่อคนไข้ตรงกับฉลากที่ print บนหลอดเก็บเลือดหรือไม่ก่อนทำการเจาะเลือด ปริมาณของเลือดที่ต้องการเจาะคือประมาณ 15 ซีซี โดยแบ่งเก็บ 3 หลอด หลอดสีม่วง 1 หลอด สีแดง 2 หลอด (สีม่วงตรวจเม็ดเลือด, สีแดง 1 หลอดใช้ตรวจน้ำตาล ไขมันในเลือด และอื่นๆ ถ้ามีรายการตรวจเพิ่มหลายๆ รายการ อาจต้องเพิ่มสีแดงอีก 1 หลอด) หากกลัวเข็มสามารถแจ้งพยาบาลให้เจาะเลือดโดยการนอนเจาะได้

เสร็จจากการเจาะเลือดแล้ว ค่อยเข้าห้องตรวจชีพจร(อยู่ตรงข้ามกับที่เจาะเลือด) โดยเครื่องมือตรวจ vital signs ต่างๆจะรวมอยู่ในห้องตรวจห้องเดียว

อาคาร 1 ที่สถาบันหัวใจ Samitivej Heart Institute (08:50)

ต่อไปเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยการวิ่งสายพาน ขั้นตอนนี้คนไข้ต้องเดินข้ามมาที่อาคาร 1 ที่สถาบันหัวใจ Samitivej Heart Institute

ตรวจการไหลเวียนของเลือด (ABI: Ankle Brachial Index) (09:15)

เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ คุณพยาบาลจะให้ตรวจการไหลเวียนของเลือด (ABI: Ankle Brachial Index) ซึ่งสามารถดูได้ว่าเลือดแข็งตัวดีหรือไม่ก่อนวิ่งสายพาน การตรวจ ABI ยังสามารถตรวจเบาหวานเบื้องต้นได้อีกด้วย ทีม marketing เล่าให้ฟังว่าการตรวจ ABI นี้ โรงพยาบาลทั่วไปจะไม่รวมในแพคเกจตรวจสุขภาพ แต่ที่นี่มีรวมให้แล้วในแพคเกจครับ

จากนั้นจะเป็นการวัดการเต้นปกติของหัวใจ (คลื่นไฟฟ้าหัวใจ) ก่อนวิ่ง ค่าที่ได้จะนำมาเป็น baseline ให้คุณหมอวินิจฉัยเพื่อเปรียบเทียบกับ ค่าที่เก็บหลังจากวิ่งเสร็จครับ

วิ่งสายพาน (09:42)

เมื่อวัดค่าต่างๆเรียบร้อยแล้ว จะเป็นขั้นตอนการวิ่งจริง คุณพยาบาลจะช่วยอธิบายวิธีการวิ่ง ข้อควรระวัง และขั้นตอนต่างๆที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการวิ่ง โดยเครื่องจะเก็บค่าทุกๆ 1 นาที และความเร็วจะเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 นาที จนกว่าจะวิ่งไม่ไหวโดยที่จะมีคุณหมอและคุณพยาบาลคอยเฝ้าอยู่ข้างๆตลอดการวิ่ง เพื่อให้คำแนะนำและดูแลความปลอดภัยของคนไข้

ในการวิ่งสายพานนั้น ถ้าคนไข้เป็นผู้สูงอายุ หรือไม่สามารถออกกำลังกายปกติได้ โรงพยาบาลแนะนำให้ข้ามการตรวจนี้ไป เพราะถ้าไม่สามารถวิ่งให้เหนื่อยจนอัตราการเต้นของหัวใจขึ้นถึง 85% ของการเต้นของหัวใจสูงสุดที่ร่างกายจะรับได้ คำนวนโดยใช้สูตร 85% x (220 – อายุ) ค่าที่วัดได้อาจจะไม่พอให้คุณหมอใช้วินิจฉัยเบื้องต้น

วันนี้เราได้พบกับคุณหมอ อรพิน (รายชื่อแพทย์ทั้งหมดในการตรวจครั้งนี้มีรวบรวมไว้ที่ด้านล่างของ blog นะครับ) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมหัวใจ เป็นผู้ให้คำแนะนำครับ

ตรวจสายตา (10:27)

ถัดมาเป็นการตรวจสายตาและช่องปาก เราข้ามกลับมากันที่อาคาร 2 เริ่มด้วยการตรวจสายตา คุณพยาบาลจะเช็คค่าสายตาต่างๆในเบื้องต้น เช่น วัดสายตาสั้น/ยาว ความดันลูกตา เช็คตาบอดสี ก่อนที่จะส่งคนไข้ให้พบกับคุณหมอ/จักษุแพทย์ เพื่อฟังคำแนะนำต่างๆ

เช้านี้เราได้พบกับคุณหมออภิวัฒน์ จักษุแพทย์ ในห้องตรวจตามีจอ LCD ติดข้างฝา ไฮโซมากครับ คุณหมอสามารถถ่าย รูปดวงตาเดี๋ยวนั้นแล้วนำขึ้นจอเพื่ออธิบายคนไข้ได้อย่างสะดวก

ตรวจช่องปาก (10:46)

เสร็จจากการตรวจตาแล้วเรามาต่อกันด้วยการตรวจฟันครับ นี่ก็เป็นอีก 1 การตรวจที่ทีม marketing แจ้งว่าไม่รวมอยู่ในการตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลทั่วไป ขั้นตอนนี้เราได้พบกับ คุณหมอเสมอแข เป็นผู้ตรวจและให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลรักษาฟันในผู้ใหญ่ครับ คุณหมอจะซักถามประวัติทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับทันตกรรม และทางทันตกรรมคร่าวๆ เช่น มีโรคประจำตัวอะไรบ้างไหม? หาหมอฟันครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? ฟันที่เคยอุดยังปกติดีอยู่ไหม? มีอาการเสียวฟันที่ซี่ไหนบ้าง? ใครที่มีข้อสงสัยแนะนำให้เตรียมคำถามมาก่อนตรวจครับ เพราะในเวลาการตรวจจริงคนไข้จะเยอะ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติคุณหมอมักจะผ่านค่อนข้างเร็ว ถ้ามีอะไรสงสัยแนะนำให้รีบถามครับ

ตรวจเอกซเรย์ (11:08)

ขั้นตอนต่อไป เป็นการตรวจเอกซเรย์ เราต้องเดินกลับไปอาคาร 1 อีกทีครับ (อย่าเพิ่งเหนื่อยก่อนนะครับ ใกล้จะครบแล้วครับ) การตรวจด้านรังสีวิทยาเป็นการตรวจภาพหาสิ่งผิดปกติภายในร่างกายของเราซึ่งประกอบด้วยระบบและอวัยวะหลายอย่างที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะอยู่ข้างในตัวคนเราครับ

ขั้นตอนนี้จะแตกต่างกันระหว่างคนไข้ผู้หญิงกับผู้ชายเพราะกายวิภาคต่างกัน การตรวจจึงเป็นการตรวจหาความผิดปกติต่างอวัยวะกัน เช่น ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเอกซเรย์ Mammogram ในผู้หญิงกับการเช็คขนาดต่อมลูกหมากในผู้ชาย คุณหมอชนิตา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวินิจฉัย เป็นผู้ตรวจด้านรังสีวิทยา หรือที่เรามักเรียกว่าตรวจเอกซเรย์ครับ ทำ ultrasound ช่องท้อง และให้คำแนะนำในวันนี้ครับ

จากรูป จะเห็นว่ามีจอติดอยู่ที่กำแพงฝั่งตรงข้าม ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นในโรงพยาบาลอื่นๆ คนไข้สามารถเห็นภาพไปพร้อมๆ กับคุณหมอในระหว่างการตรวจครับ (คล้ายๆกับในห้องตรวจตา)

การตรวจทางเอกซเรย์ เป็นการตรวจขั้นตอนสุดท้ายแล้วครับ ต่อจากนี้เหลือแค่ฟังผลกับคุณหมอนรินทร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ซึ่งต้องเดินกลับไปที่อาคาร 2 อีกครั้ง ถึงตอนนี้ผลตรวจเลือดในตอนเช้าก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าหิวสามารถไปทานอาหารก่อนได้ครับ สามารถใช้คูปองอาหารที่คุณพยาบาลให้มาในตอนลงทะเบียนไปเลือกทานได้ เพราะร้านอาหารอยู่ที่อาคาร 1 (อาคารเดียวกับที่ตรวจทางเอกซเรย์)

ฟังผลตรวจ (12:07)

กลับมาที่อาคาร 2 เพื่อฟังผลตรวจครับ คุณหมอนรินทร ตรวจเบื้องต้นอีกนิดหน่อย แล้วอธิบายผลตรวจที่ผ่านมาทั้งหมด (อ่านรายละเอียดวิธีอ่านใบผลตรวจที่โรงพยาบาลจะจัดส่งไปให้ที่บ้านหรือ email ตามที่แจ้งเอาไว้ในตอนต้นได้ตาม Check-up Result Section ด้านล่างนี้นะครับ) รวมถึงข้อแนะนำต่างๆในการตรวจครั้งนี้ครับ คุณหมอได้แนะนำ fanpage Dr. Care Bear ของโรงพยาบาลสมิติเวช ให้เข้าไปอ่านถ้าสนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านสุขภาพด้วยครับ

https://www.facebook.com/DrCareBear

เมื่อคุณได้รับผลตรวจที่โรงพยาบาลส่งไปให้แล้ว ถ้ามีข้อสงสัยในผลตรวจ สามารถโทรกลับมาสอบถามเพิ่มเติมได้ จากเบอร์โทรฯ โทร 0-2711-8200 ซึ่งจะมีพยาบาลคอยให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ครับ

กรณีที่รีบ ไม่รอฟังผล สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลทราบ และให้คุณหมอแจ้งผลการตรวจทางโทรศัพท์ได้ นอกจากนี้ หากต้องการผลเลือดย้อนหลัง สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.samitivejhospital.com/myhealthprofile โดยต้องทำการสมัครเป็นสมาชิกก่อนจึงจะใช้บริการได้


ผลการตรวจสุขภาพ

ใบสรุปผลการตรวจสุขภาพ ซึ่งแพทย์แนะนำว่า เราควรจัดเก็บเข้าแฟ้มเป็นประวัติสุขภาพส่วนตัว เมื่อไปโรงพยาบาล หรือพบแพทย์ในทุกครั้ง ควรนำไปด้วย เพราะจะช่วยในการสื่อสารกับแพทย์ พยาบาล การวินิจฉัยโรค และลดความผิดพลาดทางการแพทย์ลงได้อย่างมาก

ข้อมูลส่วนบุคคล: เป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่จะช่วยดูว่าเราอ้วนหรือผอมเกินปกติหรือไม่ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพโดยรวมได้

สัญญาณชีพ: เป็นข้อมูลสำคัญมาก เป็นตัวบอกเบื้องต้น ถึงสุขภาพปัจจุบัน และความรุนแรงของสุขภาพ ช่วยการวินิจฉัยในเรื่องของการติดเชื้อ ความดันโลหิต โรคทางหัวใจ โรคทางปอด และสุขภาพโดยรวม

ประวัติการตรวจรักษา
-ประวัติส่วนตัว: เป็นตัวช่วยบอกปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ
-ประวัติการแพ้: เป็นตัวช่วยให้การรักษาและการให้ยาของแพทย์เหมาะสม ถูกต้อง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะจากการใช้ยา
-โรคประจำตัว และยาประจำ: เป็นตัวช่วยแพทย์วินิจฉัยโรค และให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม ป้องกันการให้ยาซ้ำซ้อน
-ประวัติอดีต: ช่วยให้แพทย์ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่ออาการปัจจุบัน และช่วยการรักษาโรคปัจจุบันได้เหมาะสม ถูกต้องขึ้น
-ประวัติครอบครัว: ช่วยให้รู้ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น จึงเพิ่มโอกาสการรักษาโรคให้มีประสิทธิภาพขึ้น

การตรวจร่างกาย: เป็นการตรวจร่างกายทุกระบบที่สำคัญ และมีรายงานสรุปให้ว่า แพทย์ตรวจพบความผิดปกติหรือไม่
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ซึ่งจะมีค่าปกติกำกับไว้ให้เราสามารถแปลผลเองได้ว่าปกติหรือผิดปกติ โดยค่าการตรวจปกติจะเป็นช่วงตัวเลข ไม่ใช่ตัวเลขตัวเดียว ซึ่งค่าปกติจะขึ้นกับหลายๆปัจจัย เช่น ชนิดของแต่ละเครื่องที่ใช้ตรวจ เทคนิค น้ำยา ดังนั้น การแปลผลจึงต้องรู้ค่าปกติของแต่ละห้องปฏิบัติการด้วย

hematology: คือการตรวจเลือดดูการทำงานของไขกระดูก คือ ดูเม็ดเลือดขาว (บอกภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย) เม็ดเลือดแดง (ดูภาวะซีด) เกล็ดเลือด (ดูโอกาสเลือดออกง่ายผิดปกติ) และดูรูปร่างของเม็ดเลือด รวมทั้งปริมาณเม็ดเลือด ซึ่งช่วยวินิจฉัยภาวการณ์ติดเชื้อ และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

biochemistry: คือ การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
--fasting blood sugar คือค่าน้ำตาลในเลือด ดูโรคเบาหวาน
--uric acid คือสารที่ใช้วินิจฉัยโรคเกาต์
--lipid คือค่าไขมันในเลือด แบ่งเป็นแต่ละชนิดที่สำคัญ
--Liver คือ ค่าต่างๆที่จะบอกการทำงานของตับ
--GFR comment ไปจนถึง GFR (GFR African-amrican) คือ ค่าดูการทำงานของไต และวิธีการแปลผลซึ่งต้องใช้เพศเป็นตัวคูณร่วมด้วย (แพทย์เป็นผู้แปลผล)
--Creatinine ดูการทำงานของไตในเบื้องต้น

Immunology: ตรวจสารภูมิต้านทาน ในบางโรค
--AFP ค่าช่วยบ่งชี้โรคมะเร็งตับ
--CEA อาจช่วยบ่งชี้ มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือ มะเร็งปอด (บางชนิด)
--TSH ค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์

Urinalysis: ผลตรวจปัสสาวะ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แปลผลให้

Stool examination: ผลตรวจอุจจาระ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แปลผลให้

และ

การตรวจการไหลเวียนของเลือด (ABI: Ankle Brachial Index): เพื่อดูการไหลเวียนของเลือด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แปลผลให้เช่นกัน
general X-ray: คือ เอกซเรย์ทั่วไป

chest PA upright, Lt lateral: คือ เอกซเรย์ปอด ซึ่งรายงานเป็นศัพท์ทางแพทย์ แพทย์จะเป็นผู้แปลผลให้ทราบ
ultrasound lower abdomen: คือ การตรวจอัลตราซาวด์ในส่วนของช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน (เช่น ในผู้หญิง จะตรวจมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ ส่วนในผู้ชายจะตรวจ ต่อมลูกหมาก และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น) ซึ่งรายงานเป็นศัพท์ทางแพทย์ แพทย์จะเป็นผู้แปลผลให้
ultrasound upper abdomen: คือ อัลตราซาวด์ดูอวัยวะในช่องท้อง (เช่น ตับ ถุงน้ำดี ไต ตับอ่อน ม้าม กระเพาะอาหาร และลำไส้) ซึ่งรายงานเป็นศัพท์ทางแพทย์ แพทย์จะเป็นผู้แปลผลให้
ที่เป็นรูปกราฟ คือ การตรวจ: คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ซึ่งแพทย์จะแปลผลให้
exercise stress test report: คือ การตรวจหัวใจขณะออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้มีประสิทธิภาพกว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพียงอย่างเดียว ซึ่งรายงานเป็นศัพท์ทางแพทย์ แพทย์จึงจะเป็นผู้แปลผลให้
สรุป คือ สรุปผลตรวจทุกอย่างที่ได้ตรวจไปแล้ว ว่า ปกติ หรือมีอะไรผิดปกติ

-ในส่วนที่ผิดปกติ ได้มีการแนะนำการดูแลว่า ควรทำอย่างไร ซึ่งถ้าผู้ตรวจสุขภาพ ยังกังวล สามารถสอบถามแพทย์ผู้แปลผลเพิ่มเติม จนสามารถเข้าใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำได้