ริสเพอริโดน (Risperidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาริสเพอริโดน (Risperidone) คือ ยารักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับ/หน่วยรับความรู้สึก(Receptor)ที่สมองทั้ง ตัวรับ Dopamine receptor และ Serotonin receptor (ทั้ง 2 ตัวรับนี้เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท โดพามีน/Dopamine และ เซโรโทนิน /Serotonin ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และ การตื่นตัวของสมอง) จึงอาจกล่าวได้ว่า ยาริสเพอริโดนเป็นสารเคมีที่อยู่ทั้งในกลุ่ม Dopamine antagonist (ยาต้านสารสื่อประสาท Dopamine) และกลุ่ม Serotonin antagonist (ยาต้านสารสื่อประสาท Serotonin) และยาริสเพอริโดนยังมีคุณสมบัติเป็น Sympatholytic หรือ Anti-adrenergic (ยาต้านการทำงานของ ระบบประสาทอัตโนมัติ)อีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนายานี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 - 1992 (พ.ศ. 2531 - 2535) และขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรคจิตเภทในเวลาอีก 2 ปีถัดมา รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะมีทั้งชนิดรับ ประทานและยาฉีด

ยาริสเพอริโดนสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 70% จากนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาริสเพอริโดนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระบบสาธารณสุขในระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุริสเพอริโดนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรคทางจิตเภทเช่นเดียวกัน

ริสเพอริโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ริสเพอริโดน

ยาริสเพอริโดนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia)
  • รักษาโรคไบโพลาร์/โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)

ริสเพอริโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาริสเพอริโดนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับในสมองที่มีชื่อว่า Dopamine receptor และ Serotonin receptor และเกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลทางเคมีต่างๆในลักษณะของการต้านการทำงาน (Antagonist) ที่ผิดปกติของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้อง คือ Dopamine และ Serotonin จนมีฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

ริสเพอริโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาริสเพอริโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.5, 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 25 และ 37.5 มิลลิกรัม/ขวด

ริสเพอริโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาริสเพอริโดนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 2 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจปรับเพิ่มเป็น 4 มิลลิกรัม/วันในวันถัดมา ซึ่งการปรับเพิ่มหรือลดขนาดรับประทานสามารถทำได้ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และอาจรับประ ทานยาวันละครั้งหรือแบ่งเป็นวันละ 2 ครั้งก็ได้ ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ที่ 4 - 6 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการจัดทำขนาดการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข. สำหรับรักษาอาการอารมณ์สองขั้ว(Bipolar disorder): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 2 - 3 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทาน 1 มิลลิ กรัม/วันตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีการจัดทำขนาดการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดรับประทานและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาริสเพอริโดน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาริสเพอริโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาริสเพอริโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ริสเพอริโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาริสเพอริโดนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • กระวนกระวาย
  • สับสน
  • วิตกกังวล
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ท้องผูก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง
  • ตาพร่า
  • สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • เยื่อจมูกอักเสบ
  • มีผื่นคัน
  • เต้านมโตขึ้น และอาจมีอาการน้ำนมไหล
  • ประจำเดือนผิดปกติ (ในผู้หญิง)
  • ตัวบวม
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์อาจรักษาโดยใช้วิธีล้างท้อง และใช้ยาถ่านกัมมันต์ ร่วมด้วยการให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ประกอบกับควบคุมการเต้นของหัวใจจากเฝ้าติดตามโดย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี และสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา

มีข้อควรระวังการใช้ริสเพอริโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาริสเพอริโดน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ: หลอดเลือดหัวใจ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบความผิดปกติของผู้ป่วยเช่น ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้เช่น ลิ้น ริมฝีปาก แขน ขา (ภาวะ Tardive dyskinesia)
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ ป่วยโรคพาร์กินสัน
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเสมอ เพราะยานี้อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาริสเพอริโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ริสเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาริสเพอริโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาริสเพอริโดน ร่วมกับ ยากลุ่ม Dopamine และ Levodopa ด้วยมีฤทธิ์ต่อต้านซึ่งกันและกัน
  • การใช้ยาริสเพอริโดน ร่วมกับ ยา Carbamazepine จะส่งผลให้ระดับยาริสเพอริโดนในร่างกายลดต่ำลง แต่กลับเพิ่มระดับความเข้มข้นของยา Carbamazepine ในกระแสเลือด การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาริสเพอริโดน ร่วมกับ ยา Bupropion อาจก่อให้เกิดอาการชักกับผู้ป่วยอีกทั้งยังทำให้ระดับยารีสเพอริโดนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆติดตามมาจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาริสเพอริโดน ร่วมกับ ยา Haloperidol อาจนำมาซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจ เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาริสเพอริโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาริสเพอริโดน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ริสเพอริโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาริสเพอริโดน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Neuris (นูริส) NeuPharma
Risperdal Consta (ริสเพอร์ดอล คอนสตา) Janssen-Cilag
Risperdal/Risperdal Quicklet (ริสเพอร์ดอล/ริสเพอร์ดอล ควิกเลท) Janssen-Cilag
Risperidone GPO (ริสเพอริโดน จีพีโอ) GPO

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Risperidone [2021,June26]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=risperidone[2021,June26]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/risperidone%20gpo%20oral%20solution [2021,June26]
  4. https://www.mims.co.uk/drugs/central-nervous-system/psychosis-mania/risperidone [2021,June26]
  5. https://www.mims.com/philippines/drug/info/risperidone?mtype=generic [2021,June26]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_receptor_antagonist [2021,June26]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine_antagonist [2021,June26]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Sympatholytic#Antiadrenergic [2021,June26]
  9. https://www.drugs.com/risperidone.html [2021,June26]