ริทูซิแมบ (Rituximab)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

         ริทูซิแมบ(Rituximab) หรือ ชื่อการค้าในต่างประเทศ คือ  ‘Rituxan’ เป็นยาประเภท โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies) คือ ยาที่ทำงานโดยเลียนแบบการทำ งานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคหรือแอนติบอดี/สารภูมิต้านทานของร่างกาย โดยมีฤทธิ์ แบบจำเพาะเจาะจงต่อแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานชนิดหนึ่งๆเท่านั้น

         ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อร่างกายของมนุษย์และต่อสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป ระบบภูมิคุ้มกันฯช่วยป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆจากภายนอกที่อาจมาทำร้ายร่างกายได้

         ระบบภูมิคุ้มกันฯประกอบไปด้วยระบบใหญ่ 2 ระบบคือ

ก. ระบบภูมิคุ้มกันฯที่มีมาแต่กำเนิด (Innate immunity) เช่น

  • ผิวหนังที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายโดยง่าย หรือ
  • สารคัดหลั่งจำพวกกรดในกระเพาะอาหารที่ทำลายเชื้อโรคต่างๆในอาหารที่รับประทาน

ข. อีกระบบหนึ่ง คือ ระบบภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired immunity) เช่น เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมหรือเกิดการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันฯภายในร่างกายที่เรียกว่า สารภูมิต้านทาน (Antibody) จะพยายามกำจัดสิ่งเหล่านั้นโดยอาศัยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆรวมไปถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญคือ “บี-เซลล์ (B-cell)” ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภทลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) สร้างจากไขกระดูกมีหน้าที่ในการจับกับสิ่งแปลกปลอม หรือ สารก่อภูมิต้านทาน/แอนติเจน(Antigen) โดยมีการทำงานแบบจำเพาะกับสิ่งแปลกปลอมหรือกับแอนติเจนเป็นรายชนิดไป  

          ทั่วไป ยานี้ใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (NHL; Non-Hodgkin Lymphomas) ซึ่งเชื่อว่าเป็นมะเร็งเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ภูมิคุ้มกันฯประเภทลิมโฟไซต์ (Lympho cytes) โดยเฉพาะเซลล์ประเภทที่เรียกว่า บี-เซลล์ (B-cell) บนผิวของบี-เซลล์มีตัวรับหรือแอนติเจนที่เรียกว่า ซีดี-20 (CD-20 /Cluster of differentiation 20) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมวงจรการแบ่งเซลล์ (Cell cycle) โดยยาริทูซิแมบซึ่งทำหน้าที่เสมือนแอนติบอดีจะเข้าจับกับตัวรับหรือแอนติเจนที่เรียกว่า ซีดี-20 นี้

 นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) จะมีปริมาณบี-เซลล์มากกว่าคนปกติ จึงมีการนำยาริทูซิแมบมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ด้วย

         ปัจจุบัน ยาริทูซิแมบเป็นยาควบคุมพิเศษในประเทศไทย ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ อย่างใกล้ชิดเท่านั้น

ยาริทูซิแมบมีสรรพคุณอย่างไร?

ยาริทูซิแมบมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

         1.  รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (NHL; Non-Hodgkin Lymphomas)
         2.  รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอล(CLL; Chronic Lymphocytic Leukemia)
         3.  รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ที่รุนแรงขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรงร่วมกับยาเมโธรเทรกเซต (Methotrexate)
         4.  รักษาโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดเวเกเนอร์สแทรนูโลมาโทซิส (WG; Wegener’s Granulomatosis) หรือโรคหลอดเลือดอักเสบที่มีก้อนเนื้อเกิดร่วมด้วย
         5.  รักษาโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดไมโครสโกปิกโพลีแอนไจทิส (MPA; Microscopic Polyangiitis) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับการแพ้ภูมิตัวเอง/โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune)ชนิดหนึ่งทำให้เกิดการอักเสบและการตายของเส้นเลือดฝอย, ใช้ร่วมกับยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ส (Glucocorticoids)  

         ในบางกรณี อาจมีการนำยาริทูซิแมบมาใช้ในการรักษาโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับการกดภูมิคุ้มกันฯซึ่งไม่ได้เป็นข้อบ่งใช้ที่ได้ขึ้นทะเบียนยาไว้ (Unlabeled use) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา เช่น

  1. Autoimmune Hemolytic Anemia (IHA) หรือ ภาวะที่ผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันฯขึ้นต้าน ทานเม็ดเลือดแดงของตัวเอง
  2. Chronic Immune Thrombocytopenia (ITP) หรือภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯ ทำลายเกล็ดเลือดของตัวเอง
  3. โรคไตชนิดเนโฟรติด(โรคไตรั่ว)ระยะดื้อยา (Refractory Nephrotic Syndrome)
  4. Chronic Graft-versus-host disease (GVHD:สเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย แบบเรื้อรัง) หรือภาวะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์-ไขกระดูกในโรคมะเร็ง แต่ไขกระดูกของผู้ให้มีปฏิกิริยาต่อต้านกับเซลล์ในร่างกายของผู้รับการปลูกถ่าย
  5. Idiopathic Membranous Nephropathy (IMN) เป็นภาวะที่เซลล์ของไตเปลี่ยนรูป ร่างไปซึ่งเกิดมาจากปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกันฯผิดปกติของร่างกาย
  6. โรคไตอักเสบที่เกิดจากโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (Lupus Nephritis)
  7. Pemphigus vulgaris หรือภาวะที่ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายต่อต้านเซลล์ผิวหนังของตัว เอง
  8. Post-transplant lymphoproliferative disorder หรือภาวะที่ร่างกายสร้างเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบต่อมน้ำเหลือง ม้าม ไขกระดูก โดยเฉพาะบี-เซลล์ (B-cell) มากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง
  9. Thrombotic Thrombocytopenic Purpura (TTP) เป็นภาวะที่เกล็ดเลือดในร่างกายเกาะกันผิดปกติส่งผลทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และเกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆจากมีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดนั้นๆ

ยาริทูซิแมบออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาริทูซิแมบ ออกฤทธิ์โดยการจับสารก่อภูมิต้านทาน/แอนติเจนชนิด ซีดี-20 (CD-20) อย่างจำเพาะเจาะจง

แอนติเจนซีดี-20 มีหน้าที่ในการกำหนดวงจรการแบ่งเซลล์ (Cell cycle) โดยอยู่บนผิวเซลล์ของบี-เซลล์ (B-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย

เมื่อยาริทูซิแมบเข้าจับกับบี-เซลล์แล้วจะกระตุ้นให้เกิดการตายของบี-เซลล์ผ่านวงจรที่เรียกว่า Complement-dependent B-cell cytotoxicity

ยาริทูซิแมบมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาริทูซิแมบมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์/รูปแบบจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาฉีดปราศจากเชื้อ ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (10 mg/ml)

ยาริทูซิแมบมีขนาดบริหารยาอย่างไร?

ยาริทูซิมแมบ มีขนาดบริหารยา/การใช้ยาที่โดยทั่วไป คือ 375 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวของร่างกายหนึ่งตารางเมตร (375 mg/m2; 375 mg/skin surface area/square meter) ต่อหนึ่งครั้งการบริหารยา

ทั้งนี้จำนวนครั้งในการบริหารยาและขนาดยาขึ้นอยู่กับข้อบ่งใช้และดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงจากยาริทูซิแมบในระหว่างการบริหารยาและที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับยานี้ แพทย์อาจให้ยาพาราเซตามอลและ/หรือยาในกลุ่มยับยั้งสารฮีสตามีน (Antihistamines)หรือกลุ่มยาแก้แพ้ โดยให้ก่อนการบริหารยาริทูซิแมบ ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

 เมื่อมีการสั่งยาริทูซิมแมบควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้สารเคมี และแพ้อาหาร
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังใช้
    • กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน /ยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ เช่น ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab) ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ (Etanercept) ยาโกลิมูแมบ (Golimumab) ยาอินฟลิซิแมบ (Inflizimab) ยาอะซาไธโอพรีน (Azthioprine) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาซิโรลิมัส (Silorimus) และยาทาโครลิมัส (Tacrolimus)
    • กลุ่มยาต้านมะเร็ง เช่น ยาซิสพลาติน (Cisplatin)
  • ประวัติโรคประจำตัว โรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคไต โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือโรคไวรัสตับอักเสบซี หรือโรคอื่นที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคงูสวัด เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • สอบถามแพทย์ว่าผู้ป่วยควรได้รับวัคซีนใดบ้างก่อนการเริ่มต้นการรักษาด้วยยาริทูซิแมบ ผู้ป่วยที่ใช้ยาริทูซิแมบไม่ควรได้รับวัคซีนขณะกำลังใช้ยาริทูซิแมบเพราะยังไม่มีรายงานประโยชน์ที่ชัดเจนของวัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ และยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้เช่นกัน

หากลืมไปรับยาตามนัดควรทำอย่างไร?

หากลืมไปรับยาริทูซิแมบหรือไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด ให้รีบติดต่อแพทย์/โรงพยาบาลโดยทันที

ยาริทูซิแมบมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาริทูซิแมบอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการ ข้างเคียง) เช่น  ท้องเสีย  ปวดข้อ  ปวดหลัง  ใบหน้าแดง เหงื่อออกขณะนอนหลับ รู้สึกวิตกกังวล  น้ำมูกไหล หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

 ยาริทูซิแมบ อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอย่างรุนแรง เช่น การเกิดอาการเลือดไหลตามอวัยวะต่างๆ (เช่น เหงือก)  เจ็บคอ/คออักเสบ  มีไข้  หนาวสั่น หรือมีอาการเหมือนเกิดการติดเชื้อ ปวดหู  มีอาการปวดเวลาปัสสาวะ เกิดการบวมแดงที่ผิวหนัง หรืออาการปวดตึงตามตัว มีอาการปวดแน่นบริเวณหน้าอก หรือ หากใช้ยาแล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน เปลือกตา/หนังตา ริมฝีปากบวม  หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

ยาริทูซิแมบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาริทูซิแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ: ไม่ควรใช้ยาริทูซิแมบร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาต้าน/รักษามะเร็ง เช่น ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab) ยาซิสพลาติน (Cisplatin) ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ (Etanercept) ยาโกลิมูแมบ (Golimumab) ยาอินฟลิซิแมบ (Inflizimab) ยาอะซาไธโอพรีน (Azthioprine) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาซิโรลิมัส (Silorimus) และยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันฯที่ต่ำลงไปอีกจนอาจเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  • และระหว่างที่ใช้ยาริทูซิแมบ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนด้วย จึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนการฉีดวัคซีนต่างๆ

มีข้อควรระวังในการใช้ยาริทูซิแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาริทูซิแมบ เช่น

  • ไม่ใช้ยาริทูซิแมบกับผู้ที่แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หากตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรเพราะยาริทูซิแมบสามารถก่ออันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ ผู้ป่วยหญิงที่ใช้ยานี้ควรได้รับการคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยานี้และต่อเนื่องหลังจากใช้ยานี้ไปนานอีก 12 เดือน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาริทูซิแมบ) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาริทูซิแมบอย่างไร?

ยาริทูซิแมบที่ได้รับจากบริษัทผู้ผลิต:

  • ให้เก็บยาในตู้เย็นอุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซล เซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะหรือในกล่องที่มิดชิด
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

ในส่วนของยานี้ที่ได้รับการผสมให้มีความพร้อมใช้ยาแล้ว:

  • ให้เก็บยาในตู้เย็นอุณหภูมิระ หว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียสเช่นกัน
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • โดยทั่วไปยาผสมฯนี้จะมีความคงตัวอยู่ได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง
  • *อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ผสมยาริทูซิแมบต่อเมื่อมีความต้องการใช้ยา

ยาริทูซิแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาริทูซิแมบ  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
แมบธีรา (MABTHERA) บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. ปวีณา ปราชญ์นิวัฒน์. http://www.microscopy.ahs.chula.ac.th/newmicros/lecture/images/clinhema/ha.pdf [2022,June4]
  2. พลรังสิตย์ กรุดภู่, เอกรัฐ รัฐฤทธิ์ธำรง, ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา, อดิศักดิ์ ตันติวรวิทย์, ชาตรีชัยอดิศักดิ์โสภาและ วีระศักดิ์ นาวารวงศ์. ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย Thrombotic thrombocytopenic purpura (TTP) ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่. J Hematol Transfus Med. 23(3):2013; 217-226
  3. พัชราภรณ์ สุดชาฎา, สินธุ์วิสุทธิ์ สุธีชัย. การป้องกันและเฝ้าระวังผู้ป่วย Tumor Lysis Syndrome ใน วารสารโรคมะเร็ง. 2011;31(4):172-180.
  4. สถาบันโรคผิวหนัง. Pemphigus vulgaris. CPG for Pemphigus Vulgaris 63-67.
  5. อรุณี เจตศรีสุภาพ. https://haamor.com/ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ [2022,June4]
  1. อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์, บัญชา สถิระพจน์ และสุมาภา ชัยอำนวย. โรคไตลูปัส. แผนกโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า.
  2. American Pharmacists Association. Rituximab. Drug Information Handbook with Trade names index. 23;2014:1857-1860.
  3. Janeway, C. et. al. Immunobiology 6thedition Garland Science Publishing, 2005.
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=L&rctype=1C&rcno=6200002&lpvncd=10&lcntpcd=%E0%B8%99%E0%B8%A21&lcnno=6200008&licensee_no=8/2562 [2022,June4]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/2570 [2022,June4]
  6. https://medlineplus.gov/ency/article/000472.htm [2022,June4]
  7. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT00104299 [2022,June4]