ราโนลาซีน (Ranolazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาราโนลาซีน (Ranolazine) เป็นอนุพันธ์ของกลุ่มยาพิเพอราซีน (Piperazine derivative) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Angina) โดยได้รับการจดทะเบียนและเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์เมื่อปี ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) ยาราโนลาซีนสามารถใช้ร่วมกับยาต่างๆอีกหลายกลุ่ม อาทิ Beta-blockers, Nitrates, Calcium channel blockers, ยาต้านเกล็ดเลือด, ยาลดไขมันในเลือด, ACE inhibitor, และ Angiotensin receptor blockers

ยาราโนลาซีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาแบบรับประทาน การดูดซึมของยานี้จากระบบทางเดินอาหารทำได้ประมาณ 35–50% การทำลายโครงสร้างของตัวยานี้ จะเกิดที่ตับ ยาราโนลาซีนอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 7 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

มีข้อปฏิบัติที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเมื่อต้องใช้ยาราโนลาซีน ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง ด้วยเป็นอุปสรรคในการทำลายและกำจัดยาราโนลาซีนทิ้งออกจากร่างกาย
  • ยานี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับเด็ก
  • การรับประทานยานี้จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงจะเห็นประสิทธิผล ห้ามเคี้ยวหรือหักแบ่งเม็ดยานี้ หรือบดเป็นผง ให้กลืนยานี้ทั้งเม็ดพร้อม น้ำดื่มอย่างเพียงพอ
  • ข้อบ่งใช้ของยาราโนลาซีน คือ ใช้กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเรื้อรัง (Chronic angina) ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับภาวะหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (Acute angina)
  • การจะรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาราโนลาซีนต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ตามมา
  • หลังรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามผู้ป่วยออกไปขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้กะทันหัน การเลิกหรือหยุดใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรต้องมาปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ขณะรักษาด้วยยาราโนลาซีนแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ยังมีสภาพการเจ็บหน้าอกหรือเป็นมากขึ้น หากพบเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • *ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน เห็นภาพซ้อน มีภาวะซึม ให้สันนิษฐานว่าผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดเข้าแล้ว กรณีนี้ต้องรีบนำ ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยต่อการใช้ยาราโนลาซีนกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

ทั้งนี้คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาราโนลาซีนอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น และสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Ranexa”

ราโนลาซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ราโนลาซีน

ยาราโนลาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาอาการเจ็บหน้าอกด้วยสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเรื้อรัง (Chronic angina)

ราโนลาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาราโนลาซีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งหรือชะลอการนำเกลือโซเดียมเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจ จึงส่งผลต่อเนื่องให้ระดับแคลเซียมในกล้ามเนื้อหัวใจลดลงตามมา กลไกนี้เองที่มีอิทธิพลลดแรงตึงตัว(Tension)ของผนังกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องการปริมาณออกซิเจนน้อยลง นอกจากนี้ยาราโนลาซีนยังมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานเป็นปกติมากขึ้น และช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจในจังหวะที่หัวใจคลายตัวจึงทำให้หัวใจผ่อนคลายมากขึ้น จากขั้นตอน/กลไกที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้อาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดดีขึ้น และเป็นที่มาของสรรพคุณ

ราโนลาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาราโนลาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบใช้เวลาในการปลดปล่อยตัวยายาวนาน (Extended-release tablet) ที่ประกอบด้วยตัวยา Ranolazine ขนาด 375 , 500 และ 750 มิลลิกรัม/เม็ด

ราโนลาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาราโนลาซีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 375 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ จากนั้นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มเป็น 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดอยู่ที่ 750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอถึงความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้

อนึ่ง:

  • แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยานี้ตามความเหมาะสมเมื่อต้องใช้กับผู้ป่วยโรคไต

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาราโนลาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาาโนลาซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาราโนลาซีน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การหยุดรับประทานยานี้ทันทีอาจส่งผลให้อาการเจ็บหน้าอกกำเริบขึ้นมา

ราโนลาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาราโนลาซีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น เกิดภาวะหายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน หูดับ สูญเสียความทรงจำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปากแห้ง เบื่ออาหาร ท้องอืด ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน ประสาทหลอน
  • ผลต่อไต เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น ยูเรีย(Urea)ในเลือดสูง
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น มีภาวะผื่นคัน ลมพิษ เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ข้อบวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อตา เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อตับ เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • อื่นๆ เช่น สมรรถนะทางเพศถดถอย

มีข้อควรระวังการใช้ราโนลาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาราโนลาซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ห้ามรับประทานยาราโนลาซีนขณะที่มีอาการเจ็บหน้าอก เพราะอาจไม่เกิดประสิทธิผลแต่อย่างใด แต่ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลจะเป็นการดีกว่า
  • ระหว่างได้รับยานี้ ผู้ป่วยต้องหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตตลอดจนอัตราการเต้นของหัวใจว่าปกติหรือไม่ ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้กับน้ำผลไม้ประเภท Grapefruit juice ด้วยอาจส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น หรือประสิทธิภาพการรักษาของยานี้ด้อยลง
  • ผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) อาจได้รับผลข้างเคียงจากราโนลาซีนได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาราโนลาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ราโนลาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาราโนลาซีน เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาราโนลาซีนร่วมกับยา Hydrocodone ด้วยจะทำให้ระดับยา Hydrocodone ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงสูงขึ้นจากยา Hydrocodone ตามมา เช่น วิงเวียน การครองสติทำได้ไม่ดี และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบเห็นอาการความดันโลหิตต่ำ หายใจลำบาก เป็นลม โคม่า ตลอดจนถึงขั้นเสียชีวิต
  • ห้ามใช้ยาราโนลาซีนร่วมกับ ยาRitonavir ด้วยจะทำให้ระดับยาราโนลาซีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามรับประทานยาราโนลาซีนร่วมกับ ยาDexamethasone เพราะจะทำให้ระดับยาราโนลาซีนในเลือดลดต่ำลงจนเป็นผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาราโนลาซีนด้อยลงไป
  • ห้ามรับประทานยาราโนลาซีนร่วมกับยา Atorvastatin เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงสร้างความเสียหายกับตับของผู้ป่วย หรือบางกรณีการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตามมา

ควรเก็บรักษาราโนลาซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาราโนลาซีนภายใต้อุณหภูมิห้องทีเย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็นเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

ราโนลาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาราโนลาซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ranexa (ราเนกซา) A.Menarini

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ranolazine[2017,Oct28]
  2. https://www.drugs.com/cdi/ranolazine.html[2017,Oct28]
  3. https://www.drugs.com/dosage/ranolazine.html[2017,Oct28]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/ranolazine-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Oct28]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ranexa/?type=brief[2017,Oct28]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ranexa/mechanism-of-action[2017,Oct28]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ranexa/dosage[2017,Oct28]