รามิพริล (Ramipril)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยารามิพริล (Ramipril) เป็นยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor) ที่นำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและอาการหัวใจล้มเหลว โดยตัวยาจะทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อในผนังหลอดเลือดฝอยจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงและเลือดไหลเวียนได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการ นำยารามิพริลไปรักษาอาการโรคไตในผู้ป่วยโรคเบาหวานและยังใช้เป็นยาป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัว ใจขาดเลือด

ยานี้มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตและห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะ โรคไตอย่างรุนแรง การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้

ผลข้างเคียงจากยานี้ที่พบและดูเป็นปัญหากับผู้ป่วยได้แก่ อาการไอแห้งๆ คลื่นไส้ เป็นลม ซึ่งอาการเหล่านี้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน หากพบอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงดังกล่าวผู้ป่วยควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษา

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาการกระจายตัวยารามิพริลในร่างกายมนุษย์พบว่า ตัวยานี้ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 50 - 60% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 73% ตัวยาจะถูกลำเลียงไปยังตับและเกิดการเผาผลาญและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีจากยารามิพริลไปเป็นสารรามิไพรแลต (Ramiprilat) ซึ่งเป็นตัวออกฤทธิ์ (Active metabolite) ร่าง กายต้องใช้เวลาประมาณ 13 - 17 ชั่วโมงในการกำจัดยาครึ่งหนึ่งทีได้รับออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอาการมีความแตกต่างกัน ในการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย แพทย์จะต้องตรวจคัดกรองความรุนแรงของโรค สุขภาพของผู้ป่วย อีกทั้งมีการแพ้ยาหรือไม่ เข้ามาให้พิจารณาด้วยเช่นกันจึงจะมีคำสั่งจ่ายยานี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

รามิพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

รามิพริล

ยารามิพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาอาการหัวใจล้มเหลว
  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • รักษาการทำลายไตของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

รามิพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยารามิพริลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ต้องถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างของโมเลกุลไปเป็นสารรามิไพรแลต (Ramiprilat) ซึ่งจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสาร Angiotensin I ไปเป็นสาร Angiotensin II และยังทำให้สารรีนิน (Renin) ทั้ง หมดเป็นสารเกี่ยวข้องกับการหดและขยายตัวของหลอดเลือดในกระแสเลือดแสดงฤทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลลดปริมาณฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกาย จากกลไกเหล่านี้จึงส่งผลให้หลอดเลือดเกิดอาการคลายตัว ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง และก่อให้เกิดผลดีต่อภาวะหัวใจล้มเหลว

รามิพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารามิพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาแคปซูล ขนาด 1.25, 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ด ขนาด 1.25, 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

รามิพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยารามิพริลมีขนาดรับประทานขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ขนาดยาจึงขึ้นกับดุล พินิจของแพทย์ผู้รักษา ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะกรณีทั่วไปของการใช้ยานี้ในโรคความดันโลหิตสูงและในภาวะหัวใจล้มเหลวดังนี้เช่น

ก.สำหรับความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 2.5 มิลลิกรัมวันละครั้ง ระดับการใช้ยาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 - 5 มิลลิกรัมครั้งเดียวต่อวัน แต่หากจำเป็นแพทย์สามารถปรับให้รับประทานยานี้ได้สูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน

ข.สำหรับหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 1.25 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุด 10 มิลลิกรัม/วัน หากต้องรับประทานยาตั้งแต่ 2.5 มิลลิกรัมขึ้นไป/วันให้แบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วัน

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: สำหรับการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาการใช้เท่านั้นด้วยมีข้อจำกัดหลายประการในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยารามิพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยารามิพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยารามิพริลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับ ประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

รามิพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยารามิพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีภาวะลมพิษขึ้นที่หน้าและลิ้น เกิดภาวะดีซ่าน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะไอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตรวจเลือดพบค่าไตทำงานผิดปกติ มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง และเกิดภาวะโลหิตจาง

อนึ่งการได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ (เป็นลม ชีพจรเต้นเบา ซีด) มีภาวะช็อก หัวใจเต้นช้า มีภาวะไตวาย หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน สถานพยาบาลอาจใช้วิธีล้างท้องเพื่อกำจัดยาส่วนเกินออกจากกระเพาะอาหาร-ลำไส้และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าสภาพร่างกายจะกลับปกติ

มีข้อควรระวังการใช้รามิพริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารามิพริลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคไตที่มีภาวะโรคเบาหวานร่วมด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และระวังการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นลมพิษหรือที่เรียกว่า Angioedema
  • ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำระหว่างใช้ยานี้
  • ระวังเกิดความเสียหายต่อไต-ตับของผู้ป่วยที่ใช้ยานี้
  • การใช้ยานี้ต้องคอยควบคุมความดันโลหิตและระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดให้ปกติอยู่เสมอตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ
  • แพทย์อาจตรวจเลือดเป็นระยะๆเพื่อควบคุมดูแลการทำงานของไตเมื่อใช้ยารามิพริลในช่วงสัปดาห์แรก
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารามิพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

รามิพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารามิพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยารามิพริลร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่นหรือยาขับปัสสาวะใดๆก็ตามอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยารามิพริลร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs จะเพิ่มความเสี่ยงให้ไตทำงานผิดปกติจึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยารามิพริลร่วมกับยา Lithium ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจาก Lithium ติด ตามมา
  • การใช้ยารามิพริลร่วมกับยา Spironolactone อาจเพิ่มระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดให้มากยิ่งขึ้นส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกสับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษารามิพริลอย่างไร?

ควรเก็บยารามิพริลในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

รามิพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารามิพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Acetate (เอซีเทต) Pond’s Chemical
Corpril (คอร์พริล) Ranbaxy
Gempril (เจมพริล) M. J. Biopharm
Mediram (มิดิแรม) Mediorals
Ramicard (รามิคาร์ด) J.B. Chemicals
Ramiril (รามิริล) Mylan
Tritace (ไตรเทส) sanofi-aventis
Tritazide (ไทรทาไซด์) sanofi-aventis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ramipril [2015,Aug15]
  2. http://www.drugs.com/ramipril.html [2015,Aug15]
  3. https://www.mims.com/India/drug/info/ramipril/ [2015,Aug15]
  4. https://www.mims.com/India/drug/info/ramipril/?type=full&mtype=generic#Actions [2015,Aug15]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Tritace/?type=brief [2015,Aug15]
  6. http://www.medicinesforchildren.org.uk/ramipril-high-blood-pressure [2015,Aug15]
  7. http://www.drugs.com/drug-interactions/ramipril-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug15]
  8. http://www.mims.co.uk/drugs/cardiovascular-system/mi-lvd/ramipril [2015,Aug15]