รางวัลเจ้าฟ้าฯ กับไวรัสโรต้า (อันตรายในเด็กเล็ก)

วันที่ 13 มีนาคม ศกนี้ นพ. ชนเมธ เตชะแสนสิริ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี ได้ออกมาเปิดเผยว่า ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุของการอุจจาระร่วงรุนแรงเฉียบพลันที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยมีระยะฟักตัว 1-2 วัน จะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ 10-20 ครั้ง ประกอบกับอาเจียน มีไข้สูง

ไวรัสโรต้าเป็นหนึ่งในไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่เรียกว่า “หวัดลงกระเพาะ” (Stomach flu) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับไข้หวัดปรกติ เด็กอายุ 5 ขวบเกือบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง และทุกครั้งที่ติดเชื้อก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเพิ่มขึ้น และความรุนแรงของอาการเมื่อติดเชื้อก็จะน้อยลง และแทบไม่มีอาการในผู้ใหญ่ ไวรัสโรต้ามี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ A, B, C, D และ E โดยสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดในการติดเชื้อของมนุษย์ กว่า 90% เป็นไวรัสโรต้า A

ไวรัสนี้จะมีการติดต่อจากอุจจาระและเข้าทางปาก โดยการสัมผัสอวัยวะหรือของเล่นของเด็กเอง แล้วมีการติดเชื้อและสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ในลำไส้เล็กและทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบกว่าครึ่งของการเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากอาการอุจจาระร่วงของเด็กทารกและเด็กเล็กมีสาเหตุจากไวรัสโรต้า ในวงการสาธารณสุขก็นับว่ายังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากจะมีผลต่อสุขภาพมนุษย์ ไวรัสโรต้าก็ยังสามารถติดเชื้อในสัตว์ได้

ในทุกปี ก่อนที่จะมีวัคซีนป้องกัน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กว่า 5 แสนคนจากทั่วโลกเสียชีวิต และกว่า 2 ล้านคนป่วยหนักจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ก่อนที่จะมีโครงการให้วัคซีนป้องกัน โรต้าไวรัสก็ได้ทำให้เด็ก กว่า 2 ล้าน 7 แสนคน เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบอย่างรุนแรงประมาณ 60,000 คน ต้องเข้าโรงพยาบาล และ 37 คน เสียชีวิต

โดยปรกติหากมีการติดเชื้อไวรัสโรต้า จะสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 3-7 วัน และยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง เนื่องจากเด็กที่ติดเชื้อนี้เป็นครั้งแรกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน หากปล่อยไว้นานไม่รักษาก็อาจทำให้ท้องเสียหลายสัปดาห์ ทำให้เด็กป่วยขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

หากเด็กเริ่มท้องเสีย อุจจาระร่วงด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผู้ปกครองสามารถละลายผงเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย และให้เด็กรับประทานน้ำข้าวต้ม เด็กที่ดื่มนมมารดาก็จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ หากมีอาการท้องเสียอยู่นาน ก็แนะนำให้เปลี่ยนนมเป็นแบบที่มีส่วนผสมน้ำตาลย่อยง่าย

รางวัลเจ้าฟ้าฯ เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยทำการมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีการให้รางวัลสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ดร. รูธ เอฟ. บิชอป (Dr. Ruth F. Bishop) ซึ่งเป็นนักจุลชีววิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ค้นพบว่าโรคท้องร่วงรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า และยังค้นพบว่าทารกแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัสโรต้าได้ อันนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งต่อมาก็พัฒนาระบบให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าจะเป็นแบบหยอดเข้าทางปาก และต้องให้รับครั้งแรกก่อนเด็กอายุครบ 15 สัปดาห์ และให้ซ้ำ ทุก 2 เดือนอีก 2-3 ครั้ง

แหล่งข้อมูล:

  1. รายการสโมสรสุขภาพ ช่อง 9 อสมท. วันที่ 13 มีนาคม 2555 [2012, March 13].
  2. Rotavirus. http://en.wikipedia.org/wiki/Rotavirus [2012, March 16].
  3. ประกาศผลรางวัลเจ้าฟ้าฯ ปี 54 มอบรางวัล “แพทย์-นักเคมี-นักจุลชีววิทยา” 3 นักพัฒนาวิจัยการแพทย์และสาธารณสุข ด้านระบบรักษาโรคซึมเศร้า-ไวรัสโรต้า แก่คนทั่วโลก พร้อมรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ 25 ม.ค.นี้ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000159093 [2012, March 16].