รัลทิเทรกเซด (Raltitrexed)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยารัลทิเทรกเซด(Raltitrexed) จัดว่าเป็นหนึ่งรายการของยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่(Colorectal cancer) บางกรณีแพทย์ก็นำมาใช้บำบัดโรคมะเร็งของเยื่อหุ้มปอด (Malignant mesothelioma) มีกลไกการออกฤทธิ์ในลักษณะที่เรียกว่า แอนติเมตาโบไลท์ (Antimetabolite) โดยตัวยาชนิดนี้จะยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรม อย่างเช่น DNA หรือ RNA ของเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติไปพร้อมกัน การใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งจะให้เป็นรอบการรักษาทุกๆ 3 สัปดาห์

ยารัลทิเทรกเซดมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 93% ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 198 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาชนิดนี้/ยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

การใช้ยารัลทิเทรกเซดมีข้อจำกัดและข้อควรระวังที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือโรคไต หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการ ได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยารัลทิเทรกเซดได้มากและรุนแรง จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
  • ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ขณะที่ได้รับยารัลทิเทรกเซด สตรีสามารถกลับมาตั้งครรภ์ ได้หลังจากหยุดการใช้ยานี้ไปแล้วนาน 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ด้วยตัวยามีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการหรือไม่ก็เสียชีวิต
  • การจะใช้ยารัลทิเทรกเซดกับสตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องเปลี่ยนการเลี้ยงนมมารดา ไปเป็นนมผงดัดแปลงกับทารก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการส่งผ่านตัวยารัลทิเทรกเซดไปทางน้ำนมของมารดา
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ไปแล้ว 2–3 วัน จะเริ่มมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน แพทย์มักจะ สั่งจ่ายยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน/ยาแก้คลื่นไส้ อย่างเช่น Metoclopramide มาให้ด้วย
  • ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียหลายครั้ง/วัน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เหล่านี้ แพทย์จะทำการปรับขนาดการใช้ยานี้ลดลง
  • *กรณีได้รับยานี้เกินขนาด แพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการใช้ ยาLeucovorin เพื่อ ต้านพิษของยารัลทิเทรกเซด

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยจากการได้รับยารัลทิเทรกเซด ผู้ป่วยจะต้องมารับการตรวจร่างกายเป็นระยะๆตามแพทย์นัดเพื่อดูผลการตรวจเลือดว่า เกิดภาวะโลหิตจางหรือไม่ ตรวจสภาพการทำงานของหัวใจว่า ยังเต้นเป็นปกติ หรือมีอาการบวมตามร่างกายเกิดขึ้นและอื่นๆอีกหลายประการ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

รัลทิเทรกเซดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

รัลทิเทรกเซด

รัลทิเทรกเซดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • บำบัดโรคมะเร็งของเยื่อหุ้มปอด

รัลทิเทรกเซดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยารัลทิเทรกเซดเป็นยาในกลุ่ม Folate antimetabolites สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์หลายตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Thymidylate synthase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมอย่างเช่น DNA ของเซลล์มะเร็ง จากกลไกนี้ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการสร้างสารพันธุกรรมของตัวมัน ทำให้ขาดคุณสมบัติในการแบ่งเซลล์ และส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายลง

รัลทิเทรกเซดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารัลทิเทรกเซดมีขนาดการบริหารยารัลทิเทรกเซดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Raltitrexed ขนาด 2 มิลลิกรัม/ขวด

รัลทิเทรกเซดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

บทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการบริหารยา/ใช้ยารัลทิเทรกเซดเฉพาะเพื่อสำหรับรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้ยาโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ 3 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร และใช้เวลาให้ยานานแต่ละครั้งมากกว่า 15 นาทีขึ้นไป ผู้ป่วยต้องมารับยานี้ทุก 3 สัปดาห์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้เกิน 3 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร
  • การเตรียมยาฉีด ให้ละลายยารัลทิเทรกเซดกับน้ำกลั่นที่ปราศจากเชื้อปริมาณ 4 มิลลิลตร เขย่าจนตัวยาละลายหมด จากนั้นนำสารละลายยาไปผสมกับ 0.9% Sodium Chloride หรือสารละลาย 5% dextrose เป็นปริมาณ 50–250 มิลลิลิตร แล้วจึงหยดสารละลายยาเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย
  • ห้ามผสมยาชนิดอื่นใดลงในสารละลายยารัลทิเทรกเซดเพื่อฉีดให้ผู้ป่วย พร้อมๆกันในครั้งเดียว
  • ผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจต้องลดขนาดการใช้ยานี้ลงมา โดยประเมินจากค่าครีอะตินีน เคลียรานซ์(Creatinine clearance)ของผู้ป่วย เช่น

    ก. ครีอะตินีนเคลียรานซ์ มากกว่า 65 มิลลิลิตร/นาที ใช้ยานี้ขนาด 3 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร ทุกๆ 3 สัปดาห์

    ข. ครีอะตินีนเคลียรานซ์ น้อยกว่า 25 มิลลิลิตร/นาที ห้ามใช้ยารัลทิเทรกเซดเด็ดขาด

    ค. ครีอะตินีนเคลียรานซ์อยู่ในช่วง 25–54 มิลลิลิตร/นาที ใช้ยานี้ขนาด 1.5 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร ทุกๆ 4 สัปดาห์

    ง. ครีอะตินีนเคลียรานซ์อยู่ในช่วง 55–65 มิลลิลิตร/นาที ใช้ยาขนาด 2.25 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร ทุกๆ 4 สัปดาห์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยารัลทิเทรกเซด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต หร์อ มีภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารัลทิเทรกเซดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาเคมีบำบัดซึ่งรวมถึงยารัลทิเทรกเซดต้องอาศัยความต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้จนครบเทอมของการรักษา และต้องเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายผู้ป่วยเพื่อมารับการให้ยานี้ตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มารับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดหมาย ให้รีบแจ้งและทำการนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการรับยาครั้งใหม่โดยเร็ว

รัลทิเทรกเซดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยารัลทิเทรกเซดสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาหารไม่ย่อย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด:เช่น มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีอะตินีน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้รัลทิเทรกเซดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารัลทิเทรกเซด เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีค่า Creatinine clearance น้อยกว่า 25 มิลลิลิตร/นาที
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามใช้ร่วมกับวัคซีนชนิดต่างๆ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆ และการกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่สำเร็จ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด เช่น การพักผ่อน การรับประทานอาหารตามที่ คณะแพทย์ฯ แนะนำ
  • มารับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษาและตรวจความสมบูรณ์ของระบบเลือด(CBC) การทำงานของไตว่า เหมาะสมต่อการฉีดยาouhในครั้งถัดไปหรือไม่
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด(รวมยารัลทิเทรกเซดด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและโทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

รัลทิเทรกเซดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารัลทิเทรกเซดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยารัลทิเทรกเซดร่วมกับ กรดโฟลิก ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยารัลทิเทรกเซดด้อยลงไป
  • ห้ามใช้ยาร่วมกับ ยาClozapine เพราะเสี่ยงกับการเกิดผลข้างเคียง ของการใช้ยาทั้งสองตัวอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษารัลทิเทรกเซดอย่างไร?

เก็บยารัลทิเทรกเซดภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

รัลทิเทรกเซดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารัลทิเทรกเซด มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tomudex (โทมิวเดกซ์)AstraZeneca

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/raltitrexed/?type=brief&mtype=generic [2018,March10]
  2. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00293 [2018,March10]
  3. http://www.bccancer.bc.ca/drug-database-site/Drug%20Index/Raltitrexed_monograph_1June2013_formatted.pdf [2018,March10]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.5500.pdf [2018,March10]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00293 [2018,March10]