รังแค ขี้รังแค (Pityriasis sicca หรือ Dandruff หรือ Pityriasis capitis)

สารบัญ

บทนำ

ขี้รังแค หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า รังแค (Pityriasis sicca หรือ Dandruff หรือ Pityriasis capitis) คือ อาการแสดงหนึ่งของโรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) ซึ่งโรคเซบเดิร์มนั้นมีความหลากหลายของอาการ ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยคือ มีรังแคบ้าง ไปจนถึงอาการเป็นมาก มีผื่นทั่วตัว

สำหรับรังแคนั้น มีการประมาณว่าพบได้ใน 15-20% ของประชากรทั่วโลก

สาเหตุและกลไกการเกิดขี้รังแคคืออะไร?

รังแค

กลไกการเกิดของขี้รังแคนั้น เช่นเดียวกับของโรคเซบเดิร์ม คือ ไม่ทราบชัดเจน แต่มีหลายปัจจัยร่วมเป็นสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตามขี้รังแค ไม่ใช่โรคติดต่อ

สาเหตุ/ปัจจัยที่ทำให้เกิดขี้รังแค เช่น

  • พันธุกรรม
  • การทำงานที่มากขึ้นของต่อมไขมันทำให้เกิดผิวมัน
  • ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ
  • หนังศีรษะติดเชื้อราชนิดที่ชอบขึ้นบนไขมัน (Lipophilic yeast )

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขี้รังแค?

ขี้รังแค พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้มากขึ้นในคนที่มีผิวมัน และในคนที่เป็นโรคเซบเดิร์ม

อาการของขี้รังแคเป็นอย่างไร?

ขี้รังแคมีลักษณะดังนี้คือ หนังศีรษะลอกเป็นแผ่น เป็นสะเก็ด แบน แห้ง สีขาว อยู่ที่เส้นผม หรือที่หนังศีรษะ มีปริมาณมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค มักพบร่วมกับหนังศีรษะมัน ในรายที่เป็นมากอาจเป็นแผ่นสะเก็ดหนาใหญ่ติดแน่นกับหนังศีรษะ พบอาการคันร่วมด้วยได้ อา การมักเป็นหายๆ และเป็นมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่? แพทย์วินิจฉัยโรคขี้รังแคได้อย่างไร?

หากมีขี้รังแคเพียงเล็กน้อย ไม่มาก สามารถทดลองดูแลรักษาตนเองด้วยแชมพูสูตรขจัดรังแคได้ แต่หากสะเก็ดเป็นมาก ไม่ตอบสนองด้วยแชมพูสูตรขจัดรังแค ก็ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาต่อไปได้

โดยทั่วไปรังแคนั้น สามารถวินิจฉัยได้จากการสอบถามประวัติอาการ ประวัติทางการ แพทย์ต่างๆ และการตรวจร่างกายทั่วๆไป

แพทย์รักษาขี้รังแคอย่างไร?

แพทย์รักษาขี้รังแค โดย

  • การสระผม บางคนที่เป็นรังแคอาจเข้าใจว่า สะเก็ดรังแคนั้น เกิดจากหนังศีรษะแห้ง จึงสระผมนานๆครั้ง แต่กลับทำให้รังแคเป็นมากขึ้น เนื่องจากแท้จริงแล้ว รังแคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโรคเซบเดิร์มที่เกิดจากผิวมัน จึงควรสระผมให้บ่อยขึ้นตามปริมาณของรังแค เช่น ในช่วงที่รังแคมีมาก ก็สระผมทุกวัน เพื่อลดความมันบนหนังศีรษะ และขจัดรังแคออก ช่วงที่อาการไม่กำ เริบ ก็สระผมบ่อยน้อยลงเป็น 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ใช้แชมพูที่ช่วยขจัดรังแคคือ มีส่วนผสมของ 2.5% Selenium sulfide, 1-2% Zinc pyrithione, และ/หรือ 1-2% ketoconazole โดยหลังสระให้ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงสระ/ล้างออก
  • เลี่ยงการใช้ น้ำมันใส่ผม สเปรย์ และ/หรือ เจล แต่งผม
  • หากมีรังแคมาก ติดแน่นกับหนังศีรษะ แพทย์จะแนะนำใช้น้ำมันมะกอก หมักผมค้างคืนไว้ แล้วสระออกในตอนเช้า จะช่วยให้รังแคที่แข็งติดแน่น นุ่มลงสระออกได้ง่ายขึ้น
  • เมื่อมีอาการคันมาก และ/หรือ หนังศีรษะแดงอักเสบ จะใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดความเข้ม ข้นน้อย-ปานกลาง หยอดหนังศีรษะ เช้า-เย็น ช่วงเวลาสั้นๆ เป็นครั้งคราว เพียงแค่อาการหาย ไป โดยจะใช้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์ เช่น หนังศีรษะติดเชื้อได้ง่าย

ขี้รังแคก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากขี้รังแค คือ ทำให้เกิดอาการคัน และความกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ แต่ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพด้านอื่นๆแต่อย่างใด

ขี้รังแคมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคเมื่อมีขี้รังแค คือ เป็นโรคที่มีอาการไม่หายขาด เป็นๆหายๆ ขึ้นกับสุข ภาพทั่วไป และการดูแลหนังศีรษะ

ดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเมื่อมีขี้รังแค คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีกเลี่ยงได้) ที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับการดูแลตนเอง ดังเช่นที่กล่าวในหัวข้อ การรักษา

เมื่อเป็นโรคขี้รังแคมากจนต้องพบแพทย์ ควรพบแพทย์ก่อนนัด หากอาการเป็นมากขึ้นและไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ป้องกันขี้รังแคได้อย่างไร?

เนื่องจากกลไกการเกิดขี้รังแค ยังไม่ทราบชัดเจน จึงไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ แต่สามารถลดโอกาสเกิด และควบคุมอาการได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การสระผม และใช้ยาทา ดังที่ได้กล่าวข้างต้นในหัวข้อ การรักษา

บรรณานุกรม

  1. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; seven edition ; Mc Grawhill medical
  2. Seborrheic dermatitis : Medscape ; http://emedicine.medscape.com/article/1108312-overview [2013,Nov8].
  3. Seborrheic dermatitis : American Family Physician ; http://www.aafp.org/afp/2000/0501/p2703.html [2013,Nov8].
  4. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 231-234.