ระบบ P4P มีดีมีเสีย (ตอนที่ 2)

การจ่ายตามภาระงาน (Pay for Performance : P4P) เป็นการเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นในวงการประกันสุขภาพ (Health insurance) ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ และต่อมาในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ให้บริการภายในโครงการนี้จะได้รับผลตอบแทนเมื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดขึ้นล่วงหน้า (Pre-established) สำหรับบริการดูแลสุขภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน (Fundamental) จากการจ่ายตามบริการ (Fee for service) แบบดั้งเดิม

โครงการนี้ ยังเป็นที่รู้จักกันในนาม “การซื้อ [บริการ] เชิงคุณค่า” (Value-based purchasing) ซึ่งเป็นรูปแบบ (Model) ที่ตอบแทนแพทย์ โรงพยาบาล และกลุ่มการแพทย์ (Medical groups) และผู้ให้บริการดูแลสุขภาพอื่นๆ ที่บรรลุดมาตรการวัดภาระงาน (Performance) ที่ปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอมาตรการเชิงลงโทษ (Disincentive) อาทิ การงดจ่ายเงินกรณีที่เกิดผลลัพธ์ในเชิงลบจากการดูแลรักษา กล่าวคือ ข้อผิดพลลาดทางการแพทย์ (Medical errors) หรือการเพิ่มต้นทุน (Increased costs) ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรผู้สูงอายุ ได้ทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว พอๆ กับต้นทุนการดูแลสุขภาพที่ทวีขึ้นเช่นกัน ทำให้การจ่ายตามภาระงานได้ขึ้นมาสู่แนวหน้า (Forefront) ของการถกเถียงเรื่องนโยบายสุขภาพ

การศึกษาโครงการนำร่อง (Pilot) ในระบบการดูแลสุขภาพขนาดใหญ่ ได้แสดงผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ในบางกรณีเฉพาะ อาทิ ประสิทธิภาพ แต่ไม่มีการประหยัดจากต้นทุน เนื่องจากข้อกำหนดทางการบริหารที่เพิ่มขึ้น โดยทั่วไปองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ มักสนับสนุนโปรแกรมที่เพิ่มพูนคุณภาพของการดูแลสุขภาพ แต่แสดงความกังวลเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดที่ได้ประสิทธิผล (Validity) ความเป็นอิสระ (ของแพทย์) และความเป็นส่วนตัว (ของผู้ป่วย) ตลอดจนภาระของการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้นตาม

ระบบการจ่ายตามภาระงาน เชื่อมโยงกับการจ่ายผลตอบแทน (Compensation) เพื่อวัดคุณภาพงานหรือการบรรลุจุดมุ่งหมาย ณ ปี พ.ศ. 2548 ประมาณ 75% ของบริษัทในสหรัฐอเมริกา เชื่อมโยงการจ่ายเงินพนักงานกับผลงาน และในภาคดูแลสุขภาพ กว่า 100 โครงการนำร่องก็กำลังดำเนินอยู่ ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน

แต่อันที่จริงแล้ว วิธีการปัจจุบันของการจ่ายค่าดูแลสุขภาพ มักตอบแทนการดูแลที่มีความปลอดภัยน้อยกว่า เนื่องจากองค์กร/บริษัทประกันสุขภาพ ไม่ยอมจ่ายค่าปฏิบัติการ (Practices) ใหม่ๆ เพื่อลดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ ในขณะที่แพทย์และโรงพยาบาล อาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับบริการที่เพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากข้อผิดพลาดทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า คุณภาพของการบริการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่คุ้มค่าการเงินที่ใช้จ่ายไป และหลักฐานเชิงประจักษ์ แสดงถึงผลตามมา (Consequence) ที่ไม่คาดคิดมาก่อนเมื่อเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น อาทิ ผู้ให้บริการหลีกเลี่ยงผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง

สำหรับประเด็นในประเทศไทย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าวว่า เรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายควรพูดคุยกันถึงเหตุผลในการปรับเปลี่ยน [เข้าใจว่า] กระทรวง สธ. ไม่ได้ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทิ้ง แค่ปรับลดลงบางส่วน ซึ่งคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครถูกหรือใครผิด แต่น่าจะยืดหยุ่นต่อรองกันได้ โดยต้องยึดถือผลประโยชน์ที่ให้แก่ประชาชนเป็นหลัก เพราะทุกฝ่ายก็มีเจตนาดีที่จะทำให้วงการสาธารณสุขมีความยั่งยืน [และเจริญก้าวหน้า]

แหล่งข้อมูล:

  1. Pay for performacne - http://en.wikipedia.org/wiki/Pay_for_performance_%28healthcare%29 [2013, April 30].
  2. หมอชนบทจวก “ประดิษฐ” พบงานวิจัย P4P ล้มเหลว กลับนำมาใช้ในไทย - http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000032113&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2013, April 30].