ระบบการแพทย์ทางไกล ใกล้เป็นจริงแล้ว (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีจุดประสงค์ในการลดอัตราการป่วยและการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ระบบดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้กับการแพทย์หลายสาขา [จนประสบผลสำเร็จแล้วในต่างประเทศ] เช่น

Tele-nursing เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการให้บริการการพยาบาล ระหว่างผู้ป่วยและพยาบาล ระบบนี้มีอัตราการเติบโตที่สูงในหลายประเทศเนื่องจากการมีจำนวนผู้ป่วยสูงอายุและเป็นโรคเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น และวิธีนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ Telenursing ยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนพยาบาล และผู้ป่วยไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกด้วย

Tele-pharmacy เป็นการให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับด้านเภสัชศาสตร์ รวมถึงการควบคุมการรักษาด้วยการใช้ยา (Drug therapy) โดยผ่านทางการประชุมปรึกษาหารือกันทางไกล (Video conference)

Tele-rehabilitation เป็นการรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูหรือบำบัด ส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ประเภท คือขั้นการประเมินผลผู้ป่วย และขั้นการรักษา เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องการพูด (Speech-language pathology) และกายภาพบำบัด (Physical therapy) เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยพิการที่ไม่สามารถเดินทางได้ โดยเครื่องมือสื่อสารที่ใช้จะเป็นกล้องวีดีโอ (Webcams) การประชุมปรึกษาหารือกันทางไกล

Tele-trauma เป็นระบบการแพทย์ทางไกลที่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธผลในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ แพทย์สามารถติดต่อกับบุคคลในสถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่มีภัยพิบัติได้โดยผ่านทางอินเทอร์เนตมือถือเพื่อประเมินความรุนแรงของสภาพความเจ็บป่วย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ฯลฯ

Tele-psychiatry เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการประเมินทางจิตเวช และ/หรือการขอปรึกษาผ่านระบบวีดีโอและโทรศัพท์

Tele-radiology เป็นการส่งต่อภาพถ่ายทางรังสีหรือภาพเอกซเรย์แบบดิจิตอล จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อให้แปลผล วินิจฉัย และ/หรือขอคำปรึกษา

Tele-pathology เป็นการส่งภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ หรือส่งรายงานผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เพื่อให้แปลผล วินิจฉัย และ/หรือเพื่อขอปรึกษาความเห็นเพิ่มเติม

Tele-dermatology เป็นการส่งข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคผิวหนังหรือความผิดปกติของผิวหนัง เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังได้ทำการแปลผล วินิจฉัย และ/หรือเพื่อขอปรึกษาเพิ่มเติม

Tele-dentistry เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการรักษาฟัน การให้ความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนทั่วไป [ในเรื่องฟัน]

Tele-audiology เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาให้บริการทางด้านโสตสัมผัสวิทยาซึ่งอาจเป็นการทดสอบผู้ป่วยแล้วส่งผลการทดสอบผ่านอินเตอร์เนตไปให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ผลอีกที หรืออาจเป็นการทดสอบผู้ป่วยโดยพูดคุยตอบโต้กันได้ทันทีในเวลาเดียวกันผ่านทางอินเตอร์เนต

Tele-surgery เป็นการผ่าตัดทางไกลโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาช่วย ทำให้แพทย์ให้บริการผ่าตัดได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลนั้น ทั้งนี้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. นายกฯประชุมร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340272325 [2012, July 4].
  2. Telemedicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Telemedicine [2012, July 4].