ระบบการแพทย์ทางไกล ใกล้เป็นจริงแล้ว (ตอนที่ 1)

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบายเรื่อง "การสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบปรับปรุงสุขภาพภาครัฐ" (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ 3 เรื่องใหญ่ๆ

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ การพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม เน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ มีหมอประจำครอบครัวไปดูแลสุขภาพถึงบ้านให้คำปรึกษาการเจ็บไข้ได้ป่วย และส่งต่อการรักษาอย่างเหมาะสม

ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือที่ราชบัญฑิตยสถานเรียกว่า “โทรเวชกรรม” หมายถึงระบบการให้บริการการรักษาทางการแพทย์รูปแบบหนึ่ง โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาล เพียงเดินทางมาที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน

ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถเห็นหน้า พบปะ สนทนา และสื่อสารกันโดยผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเป็นผู้ประสานงานให้เกิดการติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งจะคล้ายกับการใช้งานการรักษาผ่านระบบการประชุมปรึกษาหารือกันทางไกล (Video conference)

ระบบการแพทย์ทางไกลเหมาะกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในสถานที่ไกล สามารถพบแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางหรือเสียเวลารอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การแพทย์ผู้รักษาสามารถมองเห็น ให้คำปรึกษา และประเมินผู้ป่วยได้เหมือนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน

ระบบการแพทย์ทางไกลสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสอนบุคลากรทางการแพทย์ในสถานที่ต่างกัน เป็นวิธีการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลโรคเรื้อรังได้เป็นอย่างดี ใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันได้ ลดระยะเวลาเดินทาง และลดระยะเวลาที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้

มีงานวิจัยหลายแห่งระบุว่า ระบบการแพทย์ทางไกลเป็นที่ชื่นชอบของผู้ป่วยในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ระบุว่าองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการแพทย์ทางไกล มี 4 ประการได้แก่

  1. เป็นระบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนด้านการแพทย์
  2. เป็นระบบที่มีเป้าหมายที่จะเอาชนะอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ เชื่อมต่อการบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างสถานที่
  3. มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลายชนิดมาใช้
  4. มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลการรักษาโรคให้ดีขึ้น

[โรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ใช้ประโยชน์จากระบบการแพทย์ทางไกล มาหลายปีแล้ว ในการปรึกษาหารือระหว่างแพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งส่วนใหญ่จะ “กระจุก” ตัวอยู่ในกรุงเทพ กับแพทย์ผู้ด้อยประสบการณ์กว่า แต่ “กระจาย” อยู่ตามเครือข่ายของโรงพยาบาลตามต่างจังหวัด ทั่วประเทศไทย]

แหล่งข้อมูล:

  1. นายกฯประชุมร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340272325 [2012, July 2].
  2. Telemedicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Telemedicine [2012, July 2].
  3. Telemedicine: Opportunities and developments in Member States. http://www.who.int/goe/publications/goe_telemedicine_2010.pdf [2012, July 2].