รอบคอบสักนิด ก่อนคิดให้ขายปลาปักเป้า (ตอนที่ 1)

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นพ. สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข และ นพ. บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 จ.สมุทรสงคราม โดยได้รับรายงานว่ามีปลาปักเป้าติดอวนมาถึงวันละ 100-150 ตัน ซึ่งจะมีมูลค่าถึง 70,000-300,000 บาท ต่อตัน อันจะก่อให้เกิดรายได้ถึงวันละกว่า 10 ล้านบาท

แต่ นพ. สุรวิทย์ ได้ทราบว่า มีกฎหมายห้ามจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้า ทั้งๆที่ปลาปักเป้าจะมีพิษในเพียงบางฤดู และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้พัฒนาเครื่องมือชุดทดสอบภาคสนามตรวจหาสารพิษในปลาปักเป้า รู้ผลใน 20 นาทีเป็นผลสำเร็จ นพ. สุรวิทย์กล่าวว่าจะได้นำประเด็นนี้ไปร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงข้อกฎหมาย เพื่อจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ปลาปักเป้า

อย่างไรก็ตามวันที่ 19 ก.พ. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมากล่าวถึงการทบทวนการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 264 พ.ศ.2545 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2545

นพ. พิพัฒน์ กล่าวว่า อย.ขอเสนอให้พิจารณาให้รอบคอบเพราะในประเทศญี่ปุ่นที่นิยมรับประทานเนื้อปลาปักเป้า ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เรียน 3 ปี ก่อนสอบเพื่อได้รับใบอนุญาตแล่ปลาปักเป้า อีกทั้งยังมีสัตวแพทย์เป็นผู้ควบคุมการคัดแยก ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้เสียชีวิตเพราะการบริโภคปลาปักเป้าทุกปี หากจะมีการแก้ไขกฎหมายจริง ก็ควรพิจารณาให้มีกองทุนชดเชยสำหรับผู้ที่เสียหายจากการบริโภคด้วย

ถัดมาอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เวลา 02.00 น. ลูกเรือชาวมอญ 8 คน ของเรือสุวิทย์การประมงที่ออกหาปลาบริเวณน่านน้ำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ลวกเนื้อปลาปักเป้าและทอดไข่ปลาปักเป้ามารับประทาน ไม่ถึง 10 นาที ก็เกิดอาการหายใจไม่ออก ชาตามร่างกาย และบางรายถึงกับหมดสติ โดยมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่บริโภคไข่ปลาปักเป้าทอด อยู่ในสภาพร่างกายเกร็ง เนื้อตัวเขียวคล้ำน้ำลายฟูมปาก ด้วยอาการรุนแรงมากกว่าคนอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลาที่คร่าชีวิตลูกเรือ 2 คนนี้น่าจะเป็นปลาปักเป้าลายดำ ซึ่งมีลำตัวอ้วนกลม ปากเล็ก ฟันเหมือนนกแก้ว ตากลมโต ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร ตัวสีขาว แต้มด้วยลายจุดดำทั่วตัว ชอบอาศัยอยู่ใกล้พื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน ที่สามารถพบได้ทั่วไปในบริเวณอ่าวไทย

พรุ่งนี้เราจะมาเฉลยกันว่าปลาปักเป้ามีกี่สายพันธุ์ ขนาดที่ใหญ่ที่สุดกว้างได้ถึงกี่เซ็นติเมตร มีพิษอันดับที่เท่าไหร่ในบรรดาสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังและหากรับประทานพิษเข้าไปมีอะไรที่อาจช่วยบรรเทาได้บ้าง

แหล่งข้อมูล:

  1. สาธารณสุขแก้กฎหมายให้ขายเนื้อปลาปักเป้า http://www.dailynews.co.th/thailand/13195 [2012, February 29].
  2. อย.เตือนขายปลาปักเป้าต้องมีมาตรการรองรับ http://www.dailynews.co.th/thailand/13442 [2012, February 29].
  3. หามลูกเรือ 6 รายส่งรพ.หลังเปิบพิสดารเมนูปักเป้าพิษ http://www.dailynews.co.th/thailand/14620 [2012, February 29].