รองช้ำเพราะอะไร (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

รองช้ำเพราะอะไร-3

ทั้งนี้ อาการปวดจะลดลงใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าหลัง 6 สัปดาห์ วิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้

  • ใช้กายอุปกรณ์เสริม (Custom-made orthotics) เช่น ตัดรองเท้าพิเศษที่เสริมแผ่นรองเท้าหรืออุ้งเท้า
  • ใส่เฝือกอ่อนตอนกลางคืน (Night splints) เพื่อยึดเท้าให้ตั้งตรง 90 องศา
  • ใส่เฝือกตอนเดิน (Walking cast) เพื่อให้เท้าได้พัก

การจะให้อาการปวดหายไปเลยอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน หรือ 1 ปี แต่โดยส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 ปี ส่วนวิธีการผ่าตัดจะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ เพราะร้อยละ 95 สามารถหายได้โดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ต้องอาศัยการผ่าตัดช่วย อย่างไรก็ดี ยิ่งเริ่มรักษาได้เร็วเท่าไรก็จะหายเจ็บได้เร็วเท่านั้น

แต่หากไม่ทำการรักษา อาจมีผลทำให้เกิดอาการเจ็บส้นเท้าเรื้อรัง ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมปกติได้ หรือความเจ็บปวดเป็นสาเหตุทำให้ท่าเดินผิดปกติไป ซึ่งอาจมีผลให้เกิดปัญหาที่เท้า เข่า สะโพก หรือหลังตามมา

สำหรับการป้องกันโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบทำได้ด้วยการ

  • ดูแลสุขภาพเท้า ใส่รองเท้าที่มีการเสริมอุ้งเท้าและส้นเท้า อย่าเดินเท้าเปล่าหรือใส่รองเท้าแตะ (Slippers)
  • หากทำงานที่ต้องยืนบนพื้นผิวที่แข็ง ให้ยืนบนพรมยางที่หนาเพื่อลดแรงกดลงที่เท้า
  • ออกกำลังกายยืดเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) และกล้ามเนื้อน่อง (Calf muscles)
  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะกับส่วนสูง
  • ออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นที่ไม่ทำให้เป็นสาเหตุของการปวดส้นเท้า เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน
  • หากเป็นนักวิ่ง ให้เปลี่ยนรองเท้าใหม่หลังการวิ่งทุก 600-800 กิโลเมตร (400-500 ไมล์)

อนึ่ง การรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบด้วยการออกกำลังเท้าอาจทำได้ดังนี้

การกระดกปลายเท้า (Toe Stretch) ทำได้โดย

1. นั่งบนเก้าอี้แล้วเหยียดเท้าออก ให้ส้นเท้าอยู่ติดพื้น

2. ใช้มือจับปลายเท้ากระดกเข้าหาตัวเป็นเวลา 15-30 วินาที และผ่อนออก

3. ทำครั้งละ 2-4 ที และทำวันละหลายๆ ครั้ง

การยืดกล้ามเนื้อน่อง (Calf stretches) ทำได้โดย

1. วางมือดันกำแพงที่ระดับสายตา

2. ก้าวขาที่ต้องการเหยียดไปทางด้านหลังโดยให้ส้นเท้าแนบติดกับพื้น

3. ย่อเข่าขาหน้าลง จนกว่าจะรู้สึกตึงที่ขาหลัง

4. อยู่ในท่านี้นาน 15-30 วินาที และทำ 2-4 ครั้ง

การเหยียดขาโดยใช้ผ้าขนหนูช่วย (Towel stretches) ทำได้โดย

1. นั่งพื้นเหยียดขาออกและวางผ้าขนหนูไว้ที่ปลายเท้า

2. จับปลายผ้าขนหนูทั้งสองข้าง แล้วค่อยๆ ดึงผ้าขนหนูเข้าหาตัว โดยที่เข่ายังตึงอยู่

3. อยู่ในท่านี้นาน 15-30 วินาที และทำ 2-4 ครั้ง

แหล่งข้อมูล:

  1. Plantar Fasciitis - Topic Overview. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/tc/plantar-fasciitis-topic-overview#1 [2017, October 16].
  2. Plantar fasciitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/plantar-fasciitis/home/ovc-20268392 [2017, October 16].