ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ยิ่งเสี่ยง (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

เพื่อนร่วมงานเว็บไซต์ และภรรยา เดินทางต่อไปยังเมืองจงเตี้ยน ซึ่งเป็นปลายที่ราบสูงเชื่อมโยงกับมณฑลทิเบตตะวันออก ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง และบนยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปีเช่นกัน แต่รอบข้างเป็นทุ่งหญ้าริมเชิงเขาอันงดงามและอุดมสมบูรณ์ ราวกับ “สวรรค์บนดิน” ของนักสำรวจธรรมชาติ และนักเดินทางท่องเที่ยว

แต่แม้จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “Shangri-la” หรือ “สวรรค์สุดขอบฟ้า” ก็แฝงไว้ด้วยมหันตภัย หากไม่ระวังตัว เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่บนที่ราบสูง 4,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และด้วยความชะล่าใจจากการขึ้นรถกระเช้า พาขึ้นสู่ยอดเขาวันก่อนหน้านี้ได้อย่างสบาย ทำให้ภรรยาเพื่อนร่วมงานเว็บไซต์ผู้นี้ รีบเร่งปีนป่าย ขึ้นลงอย่างรวดเร็วในวันสุดท้าย

ผลลัพธ์ก็คือ เธอมีอาการปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ อ่อนล้าเพลียแรง และหายใจลำบาก ต้องขอยกเลิกการไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกับลูกทัวร์อื่นๆ แล้วแยกตัวออกมาเรียกแทกซี่ รีบกลับโรงแรมเพื่อนอนพัก ดื่มน้ำอุ่น และช่วยการหายใจด้วยกระป๋องอัดก๊าซออกซิเจน ที่โรงแรมมีจำหน่าย

การดื่มน้ำเพิ่มขึ้น ช่วยทดแทนการสูญเสียเนื่องจากการพยายามหายใจในอากาศที่เบาบางและแห้ง และช่วยให้ร่างกายปรับตัวให้คุ้นชินกับอากาศ (Acclimatization) แต่การดื่นน้ำมากเกินไป (Over-hydration) นอกจากไม่เป็นประโยชน์เลย แล้วยังอาจเป็นอันตราย เพราะนำไปสู่ภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) ได้

ส่วนก๊าซออกซิเจนกระป๋องหรือของเหลวในขวด สามารถใช้สูดดมผ่านท่อหรือหน้ากากเข้าทางจมูกได้โดยตรง ผ่านฝาครอบ หรือหน้ากาก ในที่สูง การเพิ่มระดับความเข้มข้นออกซิเจนอาจใช้เพื่อแก้อาการปริมาณออกซิเจนต่ำ (Hypoxia) ที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากที่สูงได้ โดยเฉพาะ 3,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป

การเพิ่มความเข้มข้นออกซิเจน 5% โดยใช้เครื่องเพิ่มความเข้มข้น (Oxygen concentrator) ประกอบกับระบบการระบายอากาศที่มีอยู่เดิม ก็จะให้ความกดดันอากาศเช่นเดียวกับบริเวณที่ความสูง 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทำให้สภาพร่างกายบุคคลซึ่งคุ้นเคยกับการอยู่ในที่ราบนั้น สามารถทนอยู่ในที่สูงนี้ได้

การสูดดมสารประกอบ ไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) ก็ได้พิสูจน์ว่า ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากที่สูงได้ โดย นักวิทยาศาสตร์ 12 คน ได้เปิดเผยการศึกษาวิจัย ถึงวิธีการที่นักปีนเขา Everest ปรับใช้ระหว่างไต่เขาขึ้นที่สูง โดยได้มีการตรวจบันทึกระดับของไนตริกออกไซด์

นักวิทยาศาสตร์พบว่าร่างกายของพวกนักปีนเขาจะผลิตไนตริกออกไซด์ ออกมามากกว่า ณ ความสูงที่เพิ่มขึ้น จึงสรุปว่าไนตริกออกไซด์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ร่างกายมนุษย์ตอบสนองต่อภาวะออกซิเจนต่ำ (Hypoxia) การลงมาจากระดับความสูงใดๆ เป็นการรักษาที่เชื่อถือได้เพียงอย่างเดียว

ความพยายามใดที่จะรักษาหรือยังคงให้ผู้มีอาการอยู่ในระดับความสูงนั้น แม้อยู่ในการควบคุมและมีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครันเพียงใด ก็นับว่าเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การรักษาที่อาจช่วยผู้มีอาการเจ็บป่วยจากที่สูง (Altitude sickness) ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพที่เอื้ออำนวย

สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากที่สูงอย่างเฉียบพลันรุนแรง หรือการเคลื่อนย้ายลงที่ระดับความสูงต่ำกว่านั้น เป็นไปได้ยาก แพทย์อาจใช้ถุงกาโมว์ (Gamow bag) ซึ่งเป็นถุงพลาสติกที่มีช่องสร้างความกดอากาศให้สูงกว่าแรงกดดันในร่างกาย (Hyperbaric) โดยเป่าลมจากปั๊มเหยียบ (Foot pump) เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากที่สูงให้เสมือนอยู่ที่ความสูงเพียง 1,500 เมตร

แหล่งข้อมูล:

  1. Altitude sickness. http://en.wikipedia.org/wiki/Altitude_sickness [2012, June 10].