ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ยิ่งเสี่ยง (ตอนที่ 4)

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานเว็บไซต์แห่งนี้และภรรยา ได้ไปเที่ยวกับทัวร์ในโปรแกรม Shangre-la ที่ได้รับฉายาว่า “ดินแดนสวรรค์สุดขอบฟ้า” ในประเทศจีน โดยเริ่มต้นที่ทางใต้ของประเทศ ณ คุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน มีภูเขาล้อมรอบตัวเมือง 3 ด้าน อาณาเขตทิศใต้ติดกับทะเลสาบ สูง 1,850 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

จากนั้นก็เดินทางไปยังเมืองต้าลี่ ที่ตั้งอยู่ที่ราบสูงระหว่างเทือกเขาทางด้านตะวันตกและทะเลสาบทางด้านตะวันออก ภูมิทัศน์ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงเสียดฟ้า และปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนตลอดปี ที่ราบในตัวเมืองนั้นมีระดับความสูง ประมาณ 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

ในวันถัดไป ก็เดินทางต่อไปยังเมืองลี่เจียง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูง ประมาณ 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ริมเทือกเขา “มังกรหยก” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเอเชีย ยอดเขานั้นปกคลุมด้วยหิมะตลอดปีเช่นกัน โดดเด่นท่ามกลางเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน ทั้งทางทิศเหนือและทิศตะวันตกที่ล้อมรอบตัวเมือง

สิ่งที่เรียนรู้จากการเดินทางแต่ละวัน คือการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ (Acclimatization) เป็นขบวนการปรับลดระดับออกซิเจน ณ ที่สูงเพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยจากที่สูง (Altitude sickness) ณ ความสูงประมาณ 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล นักปีนเขาต้องยึดถือวิธี “ปีนสูง นอนต่ำ” (Climb-high, sleep_low)

นักปีนเขาสูงส่วนใหญ่ ต้องทำตาม “กฎเหล็ก” การปรับตัวให้เข้าสภาพอากาศ กล่าวคือ พัก 2–3 วันอยู่ที่ค่ายฐาน (Base camp) ที่ความสูงไม่มากนัก แล้วปีนอย่างช้าๆ ขึ้นค่ายที่สูงขึ้น แล้วกลับมาที่ค่ายฐาน แล้วปีนขึ้นไปใหม่เพื่อนอนพัก 1 คืน

กระบวนการนี้จะได้รับการปฏิบัติซ้ำๆ 2–3 ครั้ง แต่ละครั้งจะขยายระยะเวลาการอยู่ในค่ายที่สูงขึ้น เพื่อให้ร่างกายปรับตัวให้เข้ากับระดับออกซิเจนในแต่ละระดับความสูง แล้วร่างกายก็จะปรับตัวผลิตเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ข้อสำคัญก็คือจะต้องไม่นอนที่ความสูงถัดไปเกินวันละ 300 เมตร

นักปีนเขาสามารถปีนขึ้นจากระดับความสูง 3,000–4,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ภายในหนึ่งวัน แต่ต้องกลับลงมานอนที่ความสูง 3,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล กระบวนการนี้ ไม่สามารถเร่งรัดได้ และนี่เป็นเหตุผลให้นักปีนเขาต้องใช้เวลามาก บางครั้งหลายสัปดาห์ในการปีนเขาแต่ละครั้ง

การปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ มียังมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เช่น ผู้ที่โดยสารเครื่องบินเล็กเพียง 2–3 ชั่วโมง จากระดับน้ำทะเลไปยังระดับความสูงประมาณ 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล การหยุดพักค้างคืนระหว่างทาง จะช่วยบรรเทาหรือขจัดอาการเจ็บป่วยจากที่สูงอย่างเฉียบพลันได้

การใช้ยา Acetazolamide (ยาขับน้ำ) อาจช่วยผู้เคลื่อนที่ขึ้นสู่ที่สูงอย่างรวดเร็ว เพื่อไปนอนพักค้างคืนบนความสูงกว่า 2,700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โดยยานี้อาจมีผลได้เมื่อใช้ตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากที่สูงอย่างเฉียบพลัน แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวเพื่อผลในทางป้องกัน (Prophylaxis) โดยกินยาเม็ดแรกที่ 24 ชั่วโมง ก่อนการเริ่มปีนเขา จนถึงจุดสูงสุดหรือกระทั่งเริ่มไต่ลง

แพทย์ยังอาจแนะนำให้ยา Dexamethasone (ยาลดบวม) ในการรักษาอาการอาการสมองบวมจากที่สูง (High altitude cerebral edema : HACE) ขณะไต่เขาลงโดยเฉพาะ และแนะนำให้ใช้ยา Nifedipine (ยาที่ใช้ในโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง) สำหรับป้องกันอาการอาการปอดบวมน้ำจากที่สูง (High altitude pulmonary edema : APE)

***หมายเหตุ: ยาต่างๆที่กล่าวถึงนี้ ต้องได้รับการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อใช้เอง เพราะเป็นยาอันตราย***

แหล่งข้อมูล:

  1. Altitude sickness. http://en.wikipedia.org/wiki/Altitude_sickness [2012, June 9].