ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ยิ่งเสี่ยง (ตอนที่ 1)

จากช่วงวันหยุดในระยะ 2–3 เดือนที่ผ่านมา บุคคลใกล้ชิดผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานในเว็บไซต์นี้ ได้ไปเที่ยวภูเขาสูง ต่างที่ต่างเวลากัน แต่ได้มีอาการเจ็บป่วยจากที่สูงเหมือนกัน จึงเห็นว่าการเจ็บป่วยจากที่สูงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่าสนใจ เพราะอาจเกิดกับใครก็ได้ แม้คุณจะเป็นคนปกติที่มีร่างกายแข็งแรง และสุขภาพดี

การเจ็บป่วยจากที่สูง (Altitude sickness) เป็นผลกระทบต่อมนุษย์ โดยมีสาเหตุจากการได้รับความกดดันอากาศระดับต่ำ และภาวะออกซิเจนเบาบางอย่างเฉียบพลัน (Acute exposure) ณ ที่สูง อาการนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางคน ณ ความสูง 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป แม้คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบเลย

อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะระบุว่าผู้ใดจะได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีปัจจัยเฉพาะใดๆ เลย ที่สัมพันธ์กับโอกาสการเจ็บป่วยจากที่สูงดังกล่าว ผู้ได้รับผลกระทบอาจมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด หรือการได้รับพิษจากคาร์บอน มอนอกไซด์ (Carbon monoxide) หรือเมาค้าง (Hangover)

การเจ็บป่วยจากที่สูง อาจวิวัฒนากลายเป็นอาการปอดบวมน้ำจากที่สูง (High-altitude pulmonary edema : HAPE) หรืออาการสมองบวมน้ำจากที่สูง (High-altitude cerebral edema : HACE) และถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจากที่สูง (Monge’s disease) นั้น เป็นภาวะที่จะเกิดเฉพาะหลังจากการอยู่ในที่สูงเป็นเวลานานมากเท่านั้น

ปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่เพื่อประทังความตื่นตัวในร่างกายและจิตใจของคนเรา เริ่มลดลงที่ความสูง ณ 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ดังนั้น ภายในเครื่องบินรุ่นใหม่ จะนิยมจำกัดความสูงในการบินอยู่ที่ 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เพื่อลดความเสี่ยงของภัยจากที่สูง

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารที่ต้องอยู่บนเครื่องบินนานๆ ก็อาจประสบอาการความเจ็บป่วยจากที่สูงบางประการได้ โดยเฉพาะภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ที่เกิดจากการสูญเสียน้ำมาก เพราะน้ำในปอดระเหยเร็วขึ้น เมื่ออยู่ในที่สูง ก็อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากที่สูง ได้เช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้บุคคลเริ่มมีการเจ็บป่วยจากที่สูง และมีผลต่อระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วย ได้แก่ อัตราความเร็วในการขึ้นที่สูง ความสูง และความหนักหน่วงของกิจกรรมที่ทำ ณ ที่สูง รวมถึงความอ่อนไหว (Susceptibility) ของแต่ละบุคคลเอง

มนุษย์มีขีดจำกัดต่อความเจ็บป่วยจากที่สูงแตกต่างกันไป สำหรับบางคนที่แม้มีสุขภาพแข็งแรง การเจ็บป่วยจากที่สูงนี้ เริ่มพบได้ตั้งแต่ความสูง 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้น เช่น ที่พักสกีตามภูเขาสูง เพราะมีความดันของอากาศต่ำ

การเจ็บป่วยจากดังกล่าว สามารถป้องกันได้ด้วยการลดอัตราเร่งในการเคลื่อนที่สู่ที่สูง เกือบทุกกรณีจะเกิดอาการเพียงชั่วคราว และอาการจะบรรเทาทุเลาลงเมื่อร่างกายปรับตัวให้คุ้นชินกับอากาศ (Acclimatization) อย่างไรก็ตามในกรณีที่รุนแรงมากๆ การเจ็บป่วยจากที่สูง ก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

อาการการเจ็บป่วยที่จากสูง มักปรากฏหลังการขึ้นสู่ที่สูงแล้ว 6–10 ชั่วโมง และอาจคงอยู่นาน 1–2 วัน และในบางรายอาจแย่ลง อาการเจ็บป่วย เช่น ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง วิงเวียน และหลับยาก นอกจากนั้น การออกแรงยิ่งจะทำให้อาการเลวลง

แหล่งข้อมูล:

  1. Altitude sickness. http://en.wikipedia.org/wiki/Altitude_sickness [2012, June 6].