ยาไพแรนเทล (Pyrantel)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไพแรนเทล (Pyrantel หรือ Pyrantel embonate หรือ Pyrantel pamoate) เป็นยารักษาโรคพยาธิชนิดหนึ่ง ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการอัมพาตกับตัวพยาธิ โดยเฉพาะในกลุ่มพยาธิปากขอ และพยาธิตัวกลม บางตำรับยามีการผสมไพแรนเทลกับยาพราซิควอนเทล (Praziquantel) เพื่อรักษาโรคพยาธิตัวตืด (เช่น พยาธิตืดหมู, พยาธิตืดวัว)

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปเมื่อยาเข้า สู่ร่างกาย) พบว่า ยาไพแรนเทล ถูกดูดซึมได้ค่อนข้างน้อยจากระบบทางเดินอาหาร หลังรับประทาน ระดับยาในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นสูงสุดภายใน 1 - 3 ชั่วโมง ประมาณ 50% ของยาที่รับประทานเข้าไป จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ก่อนถูกกำจัดออกมากับอุจจาระและออกทางปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ยาไพแรนเทลเป็นยาที่เหมาะสมกับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไพแรนเทลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติในรูปของยารับประทานชนิดเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน โดยอยู่ในหมวดยาอันตราย อย่างไรก็ตามการใช้ยาอย่างปลอดภัยได้ผลดีกับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาไพแรนเทลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาไพแรนเทล

ยาไพแรนเทลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคพยาธิ: เช่น
    • พยาธิปากขอ
    • พยาธิไส้เดือน
    • พยาธิเข็มหมุด (พยาธิเส้นด้าย)

ยาไพแรนเทลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพแรนเทลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิตัวกลม แต่ไม่มีผลกับพยาธิแส้ม้า โดยตัวยาจะทำให้กล้ามเนื้อของพยาธิเหล่านั้นเป็นอัมพาต หมดความสามารถที่จะเกาะกับผนังลำไส้ของมนุษย์ จึง หลุดปนออกมากับอุจจาระ

ยาไพแรนเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพแรนเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 125 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ยาไพแรนเทลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไพแรนเทลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับโรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 3 - 4 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัมต่อ 1 ครั้งการรับประทาน

ข.สำหรับโรคพยาธิปากขอ (Necatoriasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 3 - 4 วัน หรือรับประทาน 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 2 วัน

ค.สำหรับโรคพยาธิเส้นด้าย หรือพยาธิเข็มหมุด (Enterobiasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว จากนั้นรับประทานซ้ำ หลังจากยารอบแรก 2 - 4 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัมต่อ 1 ครั้งของการรับประ ทาน

ง. สำหรับโรคพยาธิทริคิโนซิส (Trichinosis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 5 วัน

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยาไพแรนเทล ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):
    • การใช้ยานี้ในเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป :ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็กและยังมีการจำกัดขนาดยาต้องไม่เกิน 1 กรัม ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้จึงควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนเสมอ
    • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพแรนเทล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพแรนเทลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพแรนเทล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไพแรนเทลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพแรนเทลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ
  • ท้องเสีย
  • ค่าเอนไซม์การทำงานของตับจากการตรวจเลือดอาจผิดปกติ
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • มีผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพแรนเทลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพแรนเทล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพแรนเทล
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะโลหิตจาง หรืออยู่ในภาวะขาดอาหาร
  • ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพแรนเทลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไพแรนเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพแรนเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาไพแรนเทลร่วมกับยาตรวจโรคของต่อมไทรอยด์ เช่น น้ำแร่รังสีไอโอดีน จะส่งผลทำให้การวินิจฉัยโรคด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนคลาดเคลื่อนไป ควรหยุดการใช้ยาไพแรนเทลก่อนเมื่อมีการตรวจด้วยตัวยาดังกล่าว

ควรเก็บรักษายาไพแรนเทลอย่างไร?

ควรเก็บยาไพแรนเทล เช่น

  • เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้อง น้ำ

ยาไพแรนเทลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพแรนเทลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bantel (แบนเทล) Thai Nakorn Patana
Pyrapam (ไพราแพม) General Drugs House
Pyteldon (ไพเทลดอน) Acdhon

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Pyrantel_pamoate#Drug_action [2020,Nov7]
2 https://www.drugs.com/mtm/pyrantel.html [2020,Nov7]
3 http://www.drugs.com/monograph/pyrantel-pamoate.html [2020,Nov7]
4 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fpyrantel%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosag [2020,Nov7]