ยาไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) เป็นยาที่ใช้รักษาวัณโรค โดยต้องใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรคตัวอื่น เช่น Isoniazid, Rifampicin ทั้งนี้ไพราซินาไมด์ไม่ได้ถูกใช้เพื่อรักษาวัณโรคปอดเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปรักษาวัณโรคซึ่งมีการติดเชื้อที่บริเวณเยื่อหุ้มสมองอีกด้วย ข้อบ่งใช้ของยานี้ค่อนข้างจะเจาะจงกับเชื้อวัณโรคที่มีชื่อว่า Mycobacterium bovis และ Mycobacterium leprae

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า หลังรับประทาน ไพราซินาไมด์จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารมากกว่า 90% เมื่อยาเข้ากระแสเลือด จะถูกลำเลียงไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ร่างกายต้องใช้เวลา 9 - 10 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ

ไพราซินาไมด์ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น อีกทั้งต้องมีคำแนะนำกับผู้ป่วยอย่างเคร่งครัดและถือเป็นข้อปฏิบัติที่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จึงจะมีประสิทธิผลในการเยียวยาวัณโรคให้หายขาดได้

ยาไพราซินาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร

ยาไพราซินาไมด์

ยาไพราซินาไมด์มีสรรพคุณใช้รักษาวัณโรคทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่

ยาไพราซินาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพราซินาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Fatty acid synthase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้แบคทีเรียสังเคราะห์กรดไขมันสำหรับตัวเอง นอกจากนี้ไพราซินาไมด์ยังเข้าไปจับกับโปรตีนชนิด Ribosomal protein S1 มีผลยับยั้งกระบวนการ Trans-translation (กระบวนการสร้างโปรตีนในแบคทีเรีย) ด้วยกลไกข้างต้น จึงส่งผลทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด

ยาไพราซินาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพราซินาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาไพราซินาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไพราซินาไมด์มีขนาดรับประทานดังนี้

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 - 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัว ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์

***** หมายเหตุ: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพราซินาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไพราซินาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพราซินาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไพราซินาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพราซินาไมด์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการปวดข้อ ก่อให้เกิดโรคเกาต์กำเริบโดยลดการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย เป็นพิษกับตับ นอกจากนี้ ผลข้างเคียงอื่นที่ยังอาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผื่นคัน ลมพิษ ปัสสาวะขัด ไตอักเสบ และมีไข้

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพราซินาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพราซินาไมด์ดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพราซินาไมด์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเกาต์
  • ไพราซินาไมด์อาจก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ โรคเกาต์กำเริบ ควรแนะนำให้ผู้ผู้ป่วยทราบเมื่อต้องใช้ยานี้ ต้องติดตามอาการโรคดังกล่าว และต้องหยุดการใช้ยานี้หากพบว่ามีอาการของโรคตับและโรคเกาต์กำเริบ
  • ระมัดระวังในการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาไพราซินาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไพราซินาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพราซินาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้

  • การใช้ยาไพราซินาไมด์ร่วมกับยารักษาวัณโรคตัวอื่น เช่น Rifampicin อาจก่อความเสี่ยงเกิดความเป็นพิษกับตับ (ตับอักเสบ) หากต้องใช้ยาร่วมกัน ควรควบคุมติดตามเฝ้าระวังโดยการตรวจผลเลือดที่จะบอกภาวะหน้าที่ของตับว่ายังปกติหรือไม่
  • การใช้ยาไพราซินาไมด์ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น Cyclosporine อาจส่งผลให้ฤทธิ์ของการรักษาของ Cyclosporine ด้อยประสิทธิภาพลง ควรปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไพราซินาไมด์ร่วมกับยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ เช่น Methotexate จะทำให้ตับทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาไพราซินาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาไพราซินาไมด์ที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไพราซินาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพราซินาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Pyramide (ไพราไมด์) Pharmasant Lab
Pyrazinamide Atlantic (ไพราซินาไมด์ แอทแลนติก) Atlantic Lab
Pyrazinamide GPO (ไพราซินาไมด์ จีพีโอ) GPO
Pyrazinamide Lederle (ไพราซินาไมด์ ลีเดอเริล) Wyeth

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Pyrazinamide [2014,Sept 20]
2 http://mims.com/Thailand/drug/search/?q=Pyrazinamide [2014,Sept 20]
3 http://www.drugs.com/drug-interactions/pyrazinamide.html [2014,Sept 20]
4 http://www.mims.com/USA/drug/search/?q=pyrazinamide [2014,Sept 20]
5 http://www.mims.com/Thailand/Drug/info/Pyrazinamide%20Atlantic/?type=brief [2014,Sept 20]