ยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องทางเดินปัสสาวะ ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) ไม่เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคเท่านั้น ไนโตรฟูแรนโทอินยังใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะอีกด้วย กรณีกลุ่มเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยา Fluoroguinolones (ยาต้านแบคทีเรียชนิดหนึ่งในกลุ่มยา Quinolone) และแม้แต่ดื้อกับ Trimethoprim/sulfamethoxazole แพทย์สามารถใช้ไนโตรฟูแรนโทอินเป็นทางเลือกทดแทนได้ แต่มีข้อจำกัดการใช้ไนโตรฟูแรนโทอินกับโรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) และฝีในช่องท้อง (Intra-abdominal abscess) ด้วยยานี้ซึมผ่านเข้าเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อได้น้อยและมีปริมาณที่ดูดซึมเข้ากระแสเลือดต่ำ

โดยทั่วไปไนโตรฟูแรนโทอินจะออกฤทธิ์ได้ดีกับเชื้อแบคทีเรีย E.coli, Staph. Saprophy ticus Coagulase negative, Enterococcus faecalis, Staphylococcus aureus, Streptococcus agalactiae, Citrobacter species, Klepsiella species และเชื้อที่ดื้อต่อยานี้ได้แก่ Enterobacter species, Klebsiella บางสายพันธุ์ย่อย, Proteus species, Pseudomonas species

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า ตัวยาจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารประมาณ 40% และตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 นาทีในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาตัวนี้เป็นยาจำเป็นสำหรับสาธารณสุขขั้นมูลฐาน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยบรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้มีข้อบ่งใช้การใช้และผลข้างเคียงในผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนโทอิน

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีสรรพคุณรักษาและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องทางเดินปัสสาวะ

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไนโตรฟูแรนโทอินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ของแบคทีเรีย โดยฤทธิ์การทำลายจะมีในแบคทีเรียมากกว่าการทำลายเซลล์ของร่างกายมนุษย์ ยานี้ยังออกฤทธิ์จู่โจมสารพันธุกรรมอีกชนิดในแบคทีเรีย คือ RNA ซึ่งด้วยกลไกดังกล่าวทั้งหมด ทำให้แบคทีเรียหมดความสามารถในการกระจายพันธุ์

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาแคปซูล ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ด ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีขนาดรับประทานดังนี้

ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อในช่องทางเดินปัสสาวะที่ไม่ซับซ้อนหรือรุนแรง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
  • เด็กอายุมากกว่า 3 เดือน: รับประทาน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประ ทาน 4 ครั้ง/วัน

ข. สำหรับป้องกันการกลับมาติดเชื้อใหม่:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • เด็กอายุมากกว่า 3 เดือน: รับประทาน 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง

*****หมายเหตุ:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหารทันที
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไนไตรฟูแรนโทอิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไนไตรฟูแรนโทอินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนโตรฟูแรนโทอิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนโทอินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ผื่นคัน ลมพิษ ง่วงนอน วิงเวียน ผิวหนังอักเสบ โลหิตจางจากสาเหตุเม็ดเลือดแดงแตก มีไข้ มีอาการตับอักเสบ และ Steven Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโตรฟูแรนโทอินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโตรฟูแรนโทอินดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์หรือช่วงใกล้คลอด
  • ระวังการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรเพราะยานี้ผ่านออกมาทางน้ำนมได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • หากใช้ยานี้เป็นเวลานาน ต้องตรวจสอบการทำงานของตับและปอด
  • ระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ขาดวิตามินบี
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไนโตรฟูแรนโทอินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้

  • การรับประทานยาไนไตรฟูแรนโทอินร่วมกับยารักษาภาวะกรดยูริคในร่างกายสูง เช่น Probenecid จะทำให้การขับไนโตรฟูแรนโทอินออกจากร่างกายลดลง หากต้องใช้ร่วมกันควรต้องปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
  • การรับประทานยาไนไตรฟูแรนโทอินร่วมกับยา Magnesium Trisilicate (ยาลดกรดชนิดหนึ่ง) จะทำให้การดูดซึมยาไนโตรฟูแรนโทอินลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยาไนไตรฟูแรนโทอินร่วมกับอาหารจะทำให้เพิ่มการดูดซึมของยา ทำให้ความเข้มข้นของยาในท่อทางเดินปัสสาวะมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ยาวนาน

ควรเก็บรักษายาไนโตรฟูแรนโทอินอย่างไร?

ควรเก็บยาไนไตรฟูแรนโทอินที่ช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไนโตรฟูแรนโทอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนไตรฟูแรนโทอินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Macrodantin (มาโครแดนติน) Boehringer Ingelheim
Nitrofurantoin A.N.H. (ไนโตรฟูแรนโทอิน เอ.เอ็น.เฮช) A N H Products

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Nitrofurantoin [2014,Sept20]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/nitrofurantoin/ [2014,Sept20]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=nitrofurantoin [2014,Sept20]