ยาแอสไพริน (Aspirin)

สารบัญ

ทั่วไป

ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นยาที่มีการใช้ในวงการแพทย์เป็นเวลานาน และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย จัดอยู่ในกลุ่มยาที่เรียกว่าเอ็นเสด (NSAIDs) ยาแอสไพรินนี้สามารถดูดซึมได้ดีในระบบทางเดินอาหาร หรือแม้แต่ดูดซึมเข้าทางผิวหนังโดยใช้ในรูปของยาทา ปริมาณยาในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 ชั่วโมงหลังรับประทาน และยาจะถูกทำลายที่ตับ ถูกขับออกทางปัสสาวะ ยาแอสไพรินสามารถผ่านเข้ารก และถูกขับออก มากับน้ำนมได้ การใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร จึงต้องใช้ความระมัดระวังและได้ รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ยาแอสไพรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาแอสไพริน

ยาแอสไพริน มีสรรพคุณใช้เป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เป็นยาป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด เพื่อลดภาวะอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและหัวใจ (โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ)

ยาแอสไพรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแอสไพรินจะทำการยับยั้งเอนไซม์ ชื่อ Cyclooxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการสังเคราะห์สาร Prostaglandin และ Thromboxane ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย กระบวนการดังกล่าวจะส่งผลให้การอักเสบและอาการไข้ของร่างกายลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด จึงช่วยยับยั้งการอุดตันของหลอดเลือดได้ด้วย

ยาแอสไพรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอสไพริน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย คือ ยาเม็ดขนาดความแรง 60, 81, 162, 300 มิลลิกรัม

ยาแอสไพรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอสไพริน ในขนาดรับประทานสำหรับการป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะอุดตันของหลอดเลือด แพทย์จะสั่งจ่ายยาในขนาดที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายไป โดยปกติมักจะได้ รับคำสั่งแพทย์ให้รับประทานยา 1 เม็ดต่อวัน

ข้อสำคัญในการกินยาแอสไพริน เพื่อลดการระคายเคืองและการเกิดแผลต่อกระเพาะอา หาร ให้กินยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือของเภสัชกร ซึ่งโดยทั่วไป คือ กินยาหลังอาหารทัน ทีร่วมกับดื่มน้ำสะอาด 1 แก้ว เพื่อเพิ่มการดูดซึมยาให้ได้รวดเร็วขึ้น

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแอสไพริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก - มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแอสไพรินอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาแอสไพรินควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอสไพริน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาฯในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาฯเป็นสองเท่า

ยาแอสไพรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ของยาแอสไพริน คือ สามารถทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดภาวะกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย เบื่ออา หาร เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอสไพรินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาแอสไพริน คือ การเกิดภาวะเลือดออกในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ซึ่งได้แก่

  • ห้ามใช้ยาฯ กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลให้เกิดภา วะเลือดออกในทารกได้
  • ห้ามใช้ยากับเด็กทารก
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออก หรือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตกเลือด
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไตชนิดไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal Insufficiency)
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • การใช้ยาในเด็กต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ยาเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาแอสไพรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยา ของยาแอสไพรินกับยาตัวอื่นๆ คือ

  • การใช้ยาแอสไพรินร่วมกับยาที่ใช้ดูดซับพิษในกระเพาะ ลำไส้ อาจทำให้การดูดซึมของยาแอสไพรินเข้าสู่ร่างกายลดน้อยลง ยาดังกล่าว เช่น Activated Charcoal
  • การใช้ยาแอสไพรินร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง จะทำให้การดูดซึมยาแอสไพรินลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างดังกล่าว เช่น กลุ่มยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • การใช้ยาแอสไพรินร่วมกับ ยาต้านการอักเสบบางกลุ่มก็สามารถลดการดูดซึมของยาแอสไพรินได้เช่นเดียวกัน ยาดังกล่าว เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

ควรเก็บรักษายาแอสไพรินอย่างไร?

สามารถเก็บยาแอสไพรินได้ในอุณหภูมิห้อง พ้นจากแสงแดดและความชื้น และต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็ก

ยาแอสไพรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อการค้า และบริษัทผลิตยาแอสไพรินในประเทศไทย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
A.S.A Cap (เอ.เอส.เอ แคพ)SSP Laboratories
A.S.A.-500 (เอ.เอส.เอ.-500)SSP Laboratories
Anassa (อนาสซา)T.O. Chemicals
Arpisine (อาร์ไพซิน)P P Lab
Asatab (อซาแทป)T.O. Chemicals
Ascot (แอสคอท)Polipharm
Aspaco 300 (แอสปาโก 300)Burapha
Aspent (แอสเพนท์)Ranbaxy Unichem
Aspent-M (แอสเพนท์-เอ็ม)Ranbaxy Unichem
Aspilets (แอสไพเลทส์)Great Eastern
Aspipac (แอสไพแพค)Inpac Pharma
Aspirin Baby (แอสไพริน เบบี้)SSP Laboratories
Aspirin BD (แอสไพริน บีดี)British Dispensary
Aspirin SSP (แอสไพริน เอสเอสพี)SSP Loboratories
Aspirine (162 mg) (แอสไพริน 162 มก.)SSP Loboratories
Asrina (แอสรินา)Pharmasant Lab
B-Aspirin 81 (บี-แอสไพริน 81)Osoth Interlab
Bayer Aspirin (เบเยอร์ แอสไพริน)Bayer HealthCare Consumer Care
Buntaopoad-Bura (บรรเทาปวด-บูรา)Burapha
Caparin 100 (คาพาริน 100)Osotspa
Empirin (เอ็มไพริน)Chew Brothers
Entrarin (เอ็นทราริน)Asian Pharm
Pirin (ไพริน)Patar Lab
S.P. Tap (เอส.พี. แท็พ)SSP Laboratories
Seferin-5/Seferin-10 (เซเฟริน-5/เซเฟริน-10)General Drugs House

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=aspirin [2013,Nov26].