ยาแก้ท้องเฟ้อ (Drug for indigestion)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ยาแก้ท้องเฟ้อคือยาอะไร? มีคุณสมบัติรักษาอะไร?

ยาแก้ท้องเฟ้อ (Drug for indigestion หรือ Medication for indigestion) คือ ยาช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากมีลมในท้องมากผิดปกติ เช่น แน่นท้อง  ปวดท้อง เรอบ่อย ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการ คลื่นไส้อาเจียน จุก/เสียดท้อง  และ/หรืออาการแสบร้อนกลางอก

แนะนำอ่านความหมายของ 'อาการท้องเฟ้อ' ได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง 'ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส'

ยาแก้ท้องเฟ้อมีกี่ประเภท?

ยาแก้ท้องเฟ้อ

 

ยาแก้ท้องเฟ้อ ทั่วไปแบ่งตามชนิด/ประเภทของยาได้ ดังนี้

ก. ยาลดกรด (Antacids): ทั่วไปได้แก่

  • ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide)
  • ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) และ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)
  • ยาเม็ดโซดามินท์ (Soda mint) ที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) และ น้ำมันสะระแหน่ (Peppermint oil)

ข. ยาไซเมทิโคน (Simethicone)

ค. ยาขับลม (Compound Cardamom Mixture): มีส่วนประกอบของสารสกัดจากพริก (Capsicum Tincture), สารสกัดจากกระวาน (Compound cardamom tincture), สารสกัดจากขิง (Strong Ginger Tincture)

ง. ยาธาตุน้ำแดง (Stomachic Mixture): มีส่วนกระกอบของโซเดียม ไบคาร์บอเนต และสารสกัดจากโกฐน้ำเต้า (Compound Rhubarb Tincture)

จ. ยาธาตุน้ำขาว (Salol et Menthol Mixture): มีส่วนกระกอบของ เฟนิลซาลิไซเลท หรือ ซาลอล (Phenyl salicylate or Salol, สารที่ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องที่ไม่รุนแรงและมีฤทธิ์อ่อนๆในการต้านแบคทีเรีย), น้ำมันเทียนสัตตบุษย์หรือโป๊ยกั๊ก (Anise oil), เมนทอล (Menthol)

ฉ. ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ (Asafoetida Tincture): สกัดจากยางต้นไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ferula assafoetida

ยาแก้ท้องเฟ้อมีรูปแบบการจำหน่ายอย่างไร?

ยาแก้ท้องเฟ้อ ทั่วไปมีรูปแบบการจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยามิกซ์เจอร์ (Mixture)
  • ยาทิงเจอร์ (Tincture)
  • ยาเจล (Gel)

อนึ่ง: อ่านเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาแก้ท้องเฟ้ออย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาแก้ท้องเฟ้อ: เช่น

ก. ยาแก้ท้องเฟ้อ: ใช้บรรเทาอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุก/เสียดท้อง/ แน่นท้องเนื่องจากมีลมมากในระบบทางเดินอาหาร และช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร

ข. ข้อบ่งใช้อื่นๆของบางตัวยาแก้ท้องเฟ้อ เช่น

  • ยาลดกรด: ใช้บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย และอาการปวดท้องเนื่องจากมีกรดเกินในกระเพาะอาหาร หรือมีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค)
  • ยาธาตุน้ำแดง: ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุก/เสียดท้อง แน่นท้องจากอาหารไม่ย่อย
  • ยาธาตุน้ำขาว: นอกจากบรรเทาอาการท้องเฟ้อ ยังใช้บรรเทาอาการท้องเสียจากทางเดินอาหารติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง

มีข้อห้ามใช้ยาแก้ท้องเฟ้ออย่างไร?

มีข้อห้ามการใช้ยาแก้ท้องเฟ้อ: เช่น  

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของAluminium hydroxide ในทารกแรกเกิด, ในผู้ที่มีภาวะฟอสเฟต/ฟอสฟอรัส(Phosphate/phosphorus)ในเลือดต่ำ, ในผู้ป่วยโรคตับ และในผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ Magnesium hydroxide ในผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ยาแก้ท้องเฟ้อที่มีส่วนประกอบของ Sodium bicarbonate เช่น ยาเม็ดโซดามินท์ และยาธาตุน้ำแดง ในผู้ที่มีภาวะด่างเกินในกระแสเลือด (ภาวะเลือดเป็นด่าง/Alkalosis), ภาวะโซเดียมในเลือดสูง, แคลเซียมในเลือดสูง, ภาวะปอดบวมน้ำอย่างรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไต,  และผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณเกลือแกง/เกลือโซเดียมในอาหาร
  • ยาทิงเจอร์มหาหิงคุ์ มีทั้งรูปแบบยาทาที่ใช้ภายนอก และยารับประทาน, โดยหากเป็นชนิดที่ใช้ภายนอก จะใช้เป็นยาทาบริเวณหน้าท้องของเด็กทารกซึ่งต้องใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน ห้ามยาเข้าปาก และเข้าตา

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ท้องเฟ้ออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้ท้องเฟ้อ เช่น  

  • ไม่ควรใช้ยาลดกรดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับยานี้ในปริมาณมาก จนอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง)จากยานี้ได้ และไม่ควรใช้ยาลดกรดเพื่อรักษาแผลในระบบทางเดินอาหารเพราะมียากลุ่มอื่น เช่น ยากลุ่ม Proton-pump Inhibitors ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาแผลในทางเดินอาหารได้ดีกว่า และมีความปลอดภัยจากการใช้ยามากกว่า
  • ระวังการใช้ยาสมุนไพรแก้ท้องเฟ้อที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด เนื่องจากประโยชน์ของยาผสมเหล่านี้ยังไม่ได้รับการยืนยันด้านประสิทธิผล อาจมีขนาดของตัวยาน้อยหรือมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ หากใช้ยาในขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • นอกจากการรับประทานยาแก้ท้องเฟ้อเพื่อบรรเทาอาการแล้ว ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารอ่อน  อาหารที่ย่อยง่าย  เคี้ยวอาหารให้ละเอียด  งดรับประทานอาหารครั้งละมากๆ  งดรับประทานอาหารไขมันมาก  และอาหารรสจัด  และหากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ

การใช้ยาแก้ท้องเฟ้อในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ท้องเฟ้อในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยาลดกรดมีความปลอดภัยในทั้งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร แต่อย่างไรก็ตาม ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น และไม่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ยา Simethicone เป็นยาที่จะเลือกใช้ในหญิงตั้งครรภ์ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
  • ไม่ควรใช้ยา Compound Cardamom Mixture, ยาธาตุน้ำแดง, ยาธาตุน้ำขาว และทิงเจอร์มหาหิงคุ์ชนิดรับประทานในหญิงตั้งครรภ์ เพราะในตำรับยาเหล่านี้ มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาแก้ท้องเฟ้อในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ท้องเฟ้อในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีการทำงานของตับและของไตลดลง หรือมักป่วยเป็นโรคตับและโรคไต จึงควรระวังการใช้ยาแก้ท้องเฟ้อบางชนิด โดยเฉพาะยาลดกรด และยาธาตุน้ำแดง  และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำอาการของโรคตับและไตแย่ลง
  • เนื่องจากวัยสูงอายุมักจะใช้ยาหลายชนิด ผู้ป่วยจึงควรแจ้งแพทย์และ/หรือเภสัชกรว่า กำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ตัวอย่างเช่น ยาลดกรดจะลดการดูดซึมยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Fluoroquinolones จึงไม่ควรรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกัน ควรรับประทานยากลุ่ม Fluoroquinolones ก่อนยาลดกรดอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

การใช้ยาแก้ท้องเฟ้อในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้ท้องเฟ้อในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ไม่ควรใช้ยาลดกรดในเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ
  • ยา Simethicone เป็นยาที่สามารถใช้ในเด็กได้ โดยแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กแต่ละราย
  • ไม่ควรใช้ยา Compound Cardamom Mixture, ยาธาตุน้ำแดง, ยาธาตุน้ำขาว และทิงเจอร์มหาหิงคุ์ชนิดรับประทานในเด็ก เพราะในตำรับมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หากได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ผิดปกติ
  • ควรระวังการใช้ยาทิงเจอร์มหาหิงคุ์ชนิดใช้ภายนอก/ชนิดทาผิวหนังในบริเวณที่เป็นแผลถลอก และการใช้ในทารก ต้องระวังไม่ให้ยาเข้าตาเพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ  บวม ของเยื่อตา เยื่อตาอักเสบ, และ/หรือเข้าปากเพราะอาจทำให้เกิด อักเสบ บวม ของเนื้อเยื่อในช่องปาก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้ท้องเฟ้อเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง)ในกลุ่มยาแก้ท้องเฟ้อ เช่น

  • ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบ Aluminium hydroxide: ทำให้เกิดอาการท้องผูก ภาวะลำไส้อุดตัน  โรคริดสีดวงทวาร  หากใช้ยานานเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ  ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง  ภาวะกระดูกพรุน และ โรคกระดูกน่วมกระดูกอ่อน
  • ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ Magnesium hydroxide: ทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย   คลื่นไส้อาเจียน   ภาวะขาดน้ำ
  • ยาที่มีส่วนประกอบของ Sodium bicarbonate: เช่น ยาเม็ดโซดามินท์  และยาธาตุน้ำแดง ทำให้เกิดภาวะด่างเกินในกระแสเลือด(เลือดเป็นด่าง) อารมณ์แปรปรวน  หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย   ภาวะโซเดียมในเลือดสูง แคลเซียมในเลือดต่ำ  หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ยา Simethicone: ทำให้เกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลว  คลื่นไส้อาเจียน เรอ   ปวดหัว
  • ยา Compound Cardamom Mixture: ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก อาการระคายเคืองรอบทวารหนัก   ผื่นขึ้นตามตัว  ปวดศีรษะ หัวใจเต้นช้า
  • ยาธาตุน้ำขาว: อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้เมื่อผู้ป่วยแพ้สาร Menthol โดยอาจทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ ผื่นขึ้นตามตัว
  • ยาทิงเจอร์มหาหิงคุ์:  ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้ท้องเฟ้อ)  ยาแผนโบราญทุกชนิด   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ   เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ    ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง  ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)  รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เล่ม 1 ยาระบบทางเดินอาหาร. http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/main_drug_file/20171115142328.pdf   [2023,Jan21]
  2. นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. มหาหิงคุ์…ยาเก่าเอามาเล่าใหม่. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/247/มหาหิงคุ์แก้เด็กปวดท้อง/  [2023,Jan21]
  3. ศศิประภา บุญญพิสิฏฎ์. ท้องอืด.... อาหารไม่ย่อย (ตอนที่ 2).  https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=362   [2023,Jan21]
  4. อย. กองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.  ยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/SitePages/Queries_Medicine.aspx   [2023,Jan21]
  5. https://www.drugs.com/npp/asafetida.html  [2023,Jan21]