ยาเมโคบาลามิน (Mecobalamin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโคบาลามิน (Mecobalamin) เป็นยาจำพวกวิตามินบี 12 (MeB12) และยังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น เมทิลโคบาลามิน (Methylcobalamin) ทางวงการแพทย์ นำมาใช้รักษาอาการ/ ภาวะขาดวิตามินบี12 ของร่างกาย เช่น อาการโลหิตจาง/ โรคซีด, รักษาพยาธิสภาพของเส้นประสาทส่วนปลาย, รักษาเส้นประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน (เส้นประสาทเหตุเบาหวาน) เป็นต้น

สำหรับเส้นทางการบริหารยา/ใช้ยา/ให้ยาเข้าสู่ร่างกาย มีทั้ง

  • การรับประทาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงทำให้ยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดและมีความเข้มข้นสูงสุด
  • หากเป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM: Intramuscular injection) ใช้เวลาไม่เกิน 0.9 ชั่วโมง หรือ
  • ฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ (IV: Intrave nous injection) ใช้เวลาเพียงประมาณ 3 นาทีก็เพียงพอที่จะทำให้ปริมาณความเข้มข้นในกระแสเลือดมีได้มากที่สุด

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ยาเมโคบาลามินที่เป็นยาเม็ดอยู่ในหมวด ‘ยาไม่อันตราย’ แต่ในรูปแบบยาฉีดถูกจัดให้อยู่ในหมวด ‘ยาอันตราย’ อย่างไรก็ตามยา เมโคบาลามินยังมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังของยา ดังนั้นการใช้ยานี้จึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาเมโคบาลามินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเมโคบาลามิน

ยาเมโคบาลามินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathies)
  • รักษาโรค/ภาวะโลหิตจาง/ โรคซีดชนิด Megaloblastic anemia

ยาเมโคบาลามินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เมโคบาลามินมีกลไกการออกฤทธิ์ เป็นตัวช่วยในกระบวนการสังเคราะห์เอนไซม์ที่ชื่อว่า เมไทโอนีน ซินเทส (Methionine synthase: เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของเส้นประสาท ) สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโลหิตจาง เมโคบาลามินจะช่วยเร่งการเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยจะสนับ สนุนการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิค (Nucleic acid: สารที่ใช้ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง) ในไขกระดูก และช่วยทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญเติบโตเต็มที่ ด้วยกลไกที่กล่าวข้างต้นทำให้ยานี้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาเมโคบาลามินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมโคบาลามินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาเม็ด ขนาด 500 ไมโครกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาฉีด ขนาด 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

อนึ่ง การผลิตยาเมโคบาลามิน ไม่เพียงแต่จะผลิตในรูปแบบยาเดี่ยวเท่านั้น เราอาจพบเห็น ยาเมโคบาลามิน ถูกนำไปผสมรวมกับยาวิตามินรวมในรูปแบบของยาเม็ดได้เช่นกัน เช่น ยาวิตามิน B 1-6-12

ยาเมโคบาลามินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมโคบาลามินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับโรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathies): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 500 ไมโครกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยสามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

ข. รักษาภาวะโลหิตจาง/ โรคซีดที่มีสาเหตุจากการขาดวิตามิน บี 12: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ใช้ในรูปแบบยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าเส้นเลือดดำ วันละ 500ไมโครกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์ เมื่อครบ 2 เดือน แพทย์อาจลดขนาดการฉีดเป็นฉีดครั้งเดียว 500 ไมโครกรัม ทุกๆ 1 - 3 เดือน

อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยานี้ในเด็ก ขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัว และความรุนแรงของโรค ซึ่งการใช้ยาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมโคบาลามิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น และ/หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเมโคบาลามิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ/อาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมโคบาลามิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเมโคบาลามินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมโคบาลามินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • สำหรับยารับประทาน: อาจมีอาการ เช่น
    • เบื่ออาหาร
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ท้องเสีย
  • สำหรับรูปแบบยาฉีด: อาจทำให้เกิดอาการ เช่น
    • ผื่นคันตามผิวหนัง
    • ปวดหัว
    • ปวดบริเวณที่ถูกฉีดยา

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโคบาลามินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโคบาลามิน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ระวังการฉีดยานี้ซ้ำกับบริเวณผิวหนังที่เคยฉีดยาเมโคบาลามินมาก่อน ด้วยจะเพิ่มความเจ็บ/ ปวด โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กทารกและเด็กเล็ก
  • ยาเมโคบาลามิน สามารถรบกวนผลการตรวจเลือด (ซีบีซี/CBC) ของผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากภาวะขาดโฟเลท/Folic acid (Folate deficiency)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมโคบาลามินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้ง ให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเมโคบาลามินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมโคบาลามิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมโคบาลามินร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) เช่น Neomycin หรือ ยาโรคเกาต์ เช่นยา Colchicine สามารถลดการดูดซึมยาเมโคบาลามินจากระบบทางเดินอาหารได้ แพทย์จะเป็นผู้ปรับเวลาหรือขนาดรับประทานที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเมโคบาลามินร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น Chloramphenicol ชนิดฉีด สามารถลดประสิทธิภาพการรักษาโรค/ภาวะโลหิตจาง/ โรคซีดของเมโคบาลามิน หากเป็นไปได้ ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเมโคบาลามินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive) สามารถลดระดับความเข้มข้นของเมโคบาลามินในกระแสเลือด จนอาจส่งผลต่อการรักษาได้

ควรเก็บรักษายาเมโคบาลามินอย่างไร?

สามารถเก็บยาเมโคบาลามิน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเมโคบาลามินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมโคบาลามิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Balamine (บาลามิน) Umeda
Diavit (ไดเอวิต) Mega Lifesciences
Macoba 500 (มาโคบา 500) Sriprasit Pharma
Mecobal (เมโคบาล) T.O. Chemicals
Mecobalamin-Daito (เมโคบาลามิน-ไดโต) Daito
Mecobin (เมโคบิน) Unison
Mecze (เม็กซ์) Zee Lab
Merabin (เมราบิน) Daewoo
Methycobal (เมทิโคบาล) Eisai
Neuromet (นูโรเมท) Merck

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Methylcobalamin [2020,Nov28]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fmecobalamin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Nov28]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=mecobalamin [2020,Nov28]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fMethycobal%2f%3ftype%3dbrief [2020,Nov28]
  5. https://www.drugs.com/npp/methylcobalamin.html [2020,Nov28]