ยาเมทิลซาลิไซเลต (Methyl salicylate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมทิลซาลิไซเลต (Methyl salicylate หรือ Wintergreen oil หรือ Oil of wintergreen) เป็นสารอินทรีย์ในธรรมชาติพบได้จากพืชหลายชนิดโดยเฉพาะในกลุ่มวินเทอร์กรีน (Wintergreen) แต่นักวิทยาศาสตร์สามารถสังเคราะห์ได้เช่นกัน และถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำหอม อาหาร เครื่องดื่ม และยา

สำหรับเภสัชภัณฑ์ของเมทิลซาลิไซเลตในท้องตลาดยาบ้านเรามักถูกนำมาเป็นส่วนผสมของ ครีม ขี้ผึ้ง น้ำมันทาถูนวด สำหรับลดอาการปวดของกล้ามเนื้อและปวดข้อ ซึ่งเมทิลซาลิไซเลตมักใช้ได้ผลดีกับอาการปวดชนิดเฉียบพลันไม่รุนแรง แต่อาการปวดชนิดเรื้อรังจะเห็นผลน้อย ซึ่งยาชื่อการ ค้าที่เราคุ้นเคย คือ “ยาเคาน์เตอร์เพน (Counterpain)”

เมทิลซาลิไซเลตบริสุทธิ์จัดเป็นสารเคมีที่มีพิษ ร่างกายมนุษย์ไม่ควรได้รับเมทิลซาลิไซเลต เกิน 101 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) มีรายงานของนักกีฬาที่วิ่งข้ามประเทศเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายของเขามีการดูดซึมเมทิลซาลิไซเลตมากเกินไปด้วยใช้ยาทา แก้ปวดอย่างขาดความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ทราบถึงความเป็นพิษ เพราะลักษณะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นยาใช้ภายนอกที่ทำให้ดูเหมือนจะมีอันตรายน้อยกว่ายารับประทานก็ตาม ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภคผู้ป่วย โดยเฉพาะการใช้ยาเมทิลซาลิไซเลตกับเด็กเล็กซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นก่อนการเลือกใช้เภสัชภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยานี้ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเมทิลซาลิไซเลต

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีสรรพคุณทาเพื่อบรรเทาอาการปวดต่างๆที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเกร็งตามร่างกาย

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เมทิลซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกถึงความร้อน - อบอุ่น ทำให้เกิดการตอบสนองถึงการบรรเทาอาการปวดลดลง จึงทำให้รู้สึกถึงฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เมทิลซาลิไซเลตที่จัดจำหน่ายในตลาดยาส่วนใหญ่ มักเป็นรูปแบบของยาผสมร่วมกับสารสำ คัญ (ที่ให้กลิ่นหอมและช่วยให้เกิดอาการชาอ่อนๆ) อื่นๆเช่น เมนทอล (Menthol), การบูร (Camphor), น้ำมันสน (Turpentine), ยูคาลิปตัส (Eucalyptus), เปปเปอร์มินท์ (Peppermint) เป็นต้น โดยมีรูปแบบที่จัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาทาชนิดน้ำ ขนาดบรรจุ 48 และ 82 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาครีมทาผิวหนัง ขนาดบรรจุ 10, 15, 25, 30, 35, 60, 90, 100 และ 120 กรัมหลอด
  • ยาขี้ผึ้ง ขนาดบรรจุ 6, 12, 30 และ 100 กรัม/หลอด
  • ยาเจล ขนาดบรรจุ 25 และ 50 กรัม/หลอด

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยาหรือวิธีใช้ยาเมทิลซาลิไซเลตคือ ใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดวันละ 3 - 4 ครั้ง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมทิลซาลิไซเลต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ทายาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาทาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลซาลิไซเลตอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาเมทิลซาลิไซเลตสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ด้วยการใช้ยาเมทิลซาลิไซเลต สามารถทาได้บ่อยตามความจำเป็นของอาการปวด แต่ไม่ควรเกินวันละ 4 ครั้งโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากร่างกายอาจดูดซึมยานี้มากเกินไป

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทิลซาลิไซเลตอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น แสบร้อนบริเวณที่ทายา ในบางคนอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยาเช่น ผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก บวมตามใบหน้า คอ และริมฝีปาก เป็นต้น

อนึ่ง เมื่อร่างกายดูดซึมยาเมทิลซาลิไซเลตมากเกินไป ยาจะส่งผลต่อระบบประสาทและระบบต่างๆของร่างกาย จนอาจก่ออาการรุนแรงได้เช่น สับสน ซึม อ่อนเพลีย กระหายน้ำ เหงื่อออกมาก หอบเหนื่อย/หายใจเร็ว ลมหายใจมีกลิ่นยานี้ คลื่นไส้ อาเจียน อาจท้องเสีย ชัก โคม่า และอาจเสีย ชีวิต (ตาย) ได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลซาลิไซเลตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลซาลิไซเลตดังนี้

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามทายานี้ในบริเวณที่เป็นแผลเปิด แผลไหม้
  • ห้ามทายานี้บริเวณ ตา อวัยวะเพศ ช่องปาก เพราะยาจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างมากต่อเนื้อเยื่อเหล่านั้น
  • หากทายานี้แล้วมีอาการแสบร้อนมากขึ้นให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดเบาๆ เพื่อทำความสะ อาดกำจัดยาออกไป
  • การใช้ยานี้นานเกิน 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้นให้หยุดการใช้ยาแล้วมาพบแพทย์/ไปโรง พยาบาล
  • หากหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ด้วยผู้ ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความไวต่อยามากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ควรต้องใช้ยาแต่น้อยและควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้เพื่อสูดดม เพราะอาจก่อการระคายเคืองเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจได้
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิลซาลิไซเลตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยเมทิลซาลิไซเลตเป็นรูปแบบยาใช้ภายนอก จึงไม่ค่อยพบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดอื่น ซึ่งที่อาจพบได้เช่น

การใช้ยาเมทิลซาลิไซเลตชนิดทาร่วมกับการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น Warfarin, Dicumarol สามารถทำให้เลือดออกตามร่างกายได้ง่ายขึ้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของ Warfarin และ Dicumarol ให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษายาเมทิลซาลิไซเลตอย่างไร?

สามารถเก็บยาเมทิลซาลิไซเลตที่อุณหภูมิห้องในที่เย็นและแห้ง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเมทิลซาลิไซเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทิลซาลิไซเลตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ammeltz (แอมเมล)Kobayashi Pharma
Arotika Rub (แอโรติก้า รับ)Bangkok Lab & Cosmetic
Begesic (เบเจสิค)Berlin Pharm
Centropain (เซนโทรเพน)Central Poly Trading
Counterpain (เคาน์เตอร์เพน)Taisho
Counterpain Plus (เคาน์เตอร์เพน พลัส)Taisho
Dexalin Balm (เดกซาลิน บาล์ม)General Drugs House
Filup (ฟิลัพ)Union Drug
Flanil (ฟลานิล)Biolab
GPO Analgesic Balm (จีพีโอ เอนอลเจสิค บาล์ม)GPO
Heat Cream (ฮีท ครีม)General Drugs House
Masabalm (มาซาบาล์ม)Masa Lab
Masaga (มาซากา)Nakornpatana
Muscort (มัสคอร์ท)L. B. S.
Mygesal (มายเจซอล)Greater Pharma
Neotica (นีโอติกา)Thai Nakorn Patana
Nox-Pain (น็อกซ์-เพน)T. Man Pharma
Painza (เพนซา)Siam Bheasach
Peppermint Field Balm Stick (เปปเปอร์มินท์ ฟิลด์ บาล์ม สติก)Bertram Chemical
Peppermint Field Balm Stick Green Tea Scent (เปปเปอร์มินท์ ฟิลด์ บาล์ม สติก กรีน ที เซนท์)Bertram Chemical
Reduxpain (รีดักซ์เพน)Kenyaku
Stopain (สโตเพน)Chew Brothers
T.O. Balm (ที.โอ. บาล์ม)T. O. Chemicals
U-Gesic Balm (ยู-เจสิค บาล์ม)Utopian
Voltex (โวลเท็กซ์)The United Drug (1996)
White Siang Pure Balm (ไวท์ เซียง เพียว บาล์ม)Bertram Chemical
X-Pain (เอ็กซ์-เพน)ST Pharma
Yellow Siang Pure Balm (เยลโล เซียง เพียว บาล์ม)Bertram Chemical

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Methyl_salicylate [2014,Nov22]
2 https://www.drugs.com/drp/bengay-external-analgesic-products.html [2014,Nov22]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=methyl%20salicylate [2014,Nov22]
4 http://www.drugs.com/drug-interactions/methyl-salicylate-topical.html [2014,Nov22]
5 http://www.drugs.com/mtm/methyl-salicylate-topical.html [2014,Nov22]
6 http://www.avantormaterials.com/documents/msds/usa/english/M7257_msds_us_Default.pdf [2014,Nov22]
7 http://www.medicinenet.com/methyl_salicylate_and_menthol-topical/article.htm [2014,Nov22]
8 http://reference.medscape.com/drug/arthritis-formula-bengay-bayer-muscle-and-joint-cream-methylsalicylate-menthol-topical-999364#6 [2014,Nov22]