ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) เป็นยากลุ่มแรกๆที่วงการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคเก๊าท์ ในอดีตยังมีการนำยานี้มาใช้รักษาโรคไต โรคหัวใจล้มเหลว โรคเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ยานี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) หลังการรับประทานยานี้ พบว่าสามารถดูดซึมทางลำไส้เป็นปริมาณ 80–90 % ยานี้จะถูกเปลี่ยนโครง สร้างที่อวัยวะตับ ทุกๆ 2 ชั่วโมงความเข้มข้นของยาจะลดลงไปครึ่งหนึ่งจากระดับปริมาณยาเริ่ม ต้น และถูกขับออกโดยผ่านทางไตภายในเวลา 18–30 ชั่วโมงในรูปของสาร Oxypurinol

ด้วยยาอัลโลพูรินอลเป็นยาอันตราย การใช้ยาต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่สมควรซื้อยามารับประทานเอง

ยาอัลโลพูรินอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาอัลโลพูรินอล

ยาอัลโลพูรินอลมีสรรพคุณดังนี้

  • ใช้รักษาโรคเก๊าท์
  • ใช้รักษาภาวะที่ร่างกายมีกรดยูริคสูง
  • ใช้รักษาและป้องกันนิ่วในไตที่มีสาเหตุจากกรดยูริก

ยาอัลโลพูรินอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอัลโลพูรินอลรวมไปถึง Oxypurinol ซึ่งเป็นอัลโลพูรินอลที่ถูกเปลี่ยนโครงสร้าง จะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ชื่อ Xanthine Oxidase ไม่ให้สามารถทำงานได้ ด้วยกลไกนี้ส่งผลให้สารเคมี 3 ตัวในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับโปรตีน คือ Oxypurines, Hypoxanthine, และ Xanthine ไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเก๊าท์

ยาอัลโลพูรินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอัลโลพูรินอล จัดจำหน่ายในรูปยาเม็ดขนาด 100 และ 300 มิลลิกรัม

ยาอัลโลพูรินอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดยาอัลโลพูรินอล คือ

ผู้ใหญ่ รับประทาน 100–200 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ยานี้ควรรับประทานพร้อมอาหารเพื่อลดอาการระคายเคืองในกระเพาะ-ลำไส้ ขนาดรับประทานรวมถึงระยะเวลาที่ต้องรับประ ทานยา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

ในเด็ก ขนาดยานี้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเด็ก

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอัลโลพูรินอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก - มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอัลโลพูรินอล อาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยานั้นๆต่อทา รกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอัลโลพูรินอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาอัลโลพูรินอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอัลโลพูรินอลนี้ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ได้โดยอาจก่อให้ เกิดอาการของ Steven Johnson Syndrome อาการผื่นคันทางผิวหนัง รวมไปถึงมีภาวะตับอัก เสบ ไตอักเสบ และรู้สึกระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร

มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลโลพูรินอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาอัลโลพูรินอล ดังนี้

  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลัน
  • ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคตับ – ไต
  • ระวังการใช้ยาในเด็กเล็ก

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาอัลโลพูรินอล) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอัลโลพูรินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยา อัลโลพูรินอล กับยาอื่นๆ ได้แก่

การใช้ยาอัลโลพูรินอลร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด สามารถส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีภาวะตกเลือดหรือเลือดออกได้ง่าย ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น Acenocoumarol, Anisindione, Dicoumarol

การใช้ยาอัลโลพูรินอลร่วมกับยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม อาจก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะ Steven Johnson Syndrome ยาลดความดันดังกล่าว เช่น Enalapril, Cap topril

การใช้ยาอัลโลพูรินอลร่วมกับยาต้านมะเร็งบางตัว จะทำให้ระดับของยาต้านมะเร็งในกระ แสเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางด้านอาการผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดมากยิ่งขึ้น ยาต้านมะเร็งดังกล่าว เช่น Mercaptopurine

ควรเก็บรักษายาอัลโลพูรินอลอย่างไร?

สามารถเก็บยาอัลโลพูรินอลในอุณหภูมิห้อง และต้องเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น รวมถึงต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็ก

ยาอัลโลพูรินอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอัลโลพูรินอล มีชื่ออื่นที่เป็นชื่อการค้า และชื่อบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Alinol (อลีนอล)Pharmasant Lab
Allo (อัลโล)YSP Industries
Allonol (อัลโลนอล)Utopian
Allopin (อัลโลพิน)General Drugs House
Allopurinol Asian Pharm (อัลโลพูรินอล เอเชียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Allopurinol Community Pharm (อัลโลพูรินอล คอมมูนิตี ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Allopurinol GPO (อัลโลพูรินอล จีพีโอ)GPO
Allopurinol Union Drug (อัลโลพูรินอล ยูเนียน ดรัก) Union Drug
Alloric (อัลโลริค)T.O. Chemicals
Apnol (แอพนอล)Pharmaland
Apronol (อโพรนอล)Medicine Products
Chinnol (ชินนอล)Chinta
Loporic (โลโพริค)M & H Manufacturing
Puride (พูไรด์)Polipharm
Uricad (ยูริแคด)Great Eastern
Valeric (วาเลอริค)Atlantic Lab
Xandase (แซนเดส)Charoon Bhesaj
Xanol (ซานอล)Pharmasant Lab
Zylic (ไซลิค)Suphong Bhaesaj
Zyloric (ไซโลริค)Aspen Pharmacare

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Allopurinol [2014,March17].
  2. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00437 [2014,March17].
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Allopurinol%20Community%20Pharm/?q=allopurinol&type=brief [2014,March17].
  4. http://reference.medscape.com/drug-interactionchecker [2014,March17]