ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive drug)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท(Psychoactive drug) ชื่ออื่น เช่น Psychoactive substance, Psychopharmaceutical, Psychotropic, หรือ Psychotropic drug หมายถึงยาหรือสารเคมีที่มีฤทธิ์เปลี่ยนแปลงการทำงานของสมอง ส่งผลต่อ การรับรู้ ความเข้าใจ อารมณ์ สติ สัมปชัญญะ และ/หรือพฤติกรรม มนุษย์ได้พยายามหาประโยชน์จากยากลุ่มนี้โดยนำมาใช้ปรับเปลี่ยนอารมณ์เพื่อทำให้ตนเองพอใจ ซึ่งในอดีต มีการใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมายาวนานถึง 10,000 ปี

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์/กลุ่มงานทางคลินิกได้แบ่งยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเป็นกลุ่มๆดังนี้

1. ยาคลายกังวล(Anxiolytic) เช่น กลุ่มยาBenzodiazepines และ Barbiturates

2. เอมพาโทเจน(Empathogens) เช่น 3,4-Methylenedioxy methamphetamine (MDMA); 3,4-Methylenedioxyamphetamine (MDA)

3. ยากระตุ้น(Stimulant drugs) เช่น Amphetamine, Caffeine, Cocaine และ Nicotine

4. ยากดประสาทส่วนกลาง (Depressants หรือ CNS depressants), ยาสงบประสาท(Sedative), ยากลุ่มโอปิออยด์(Opioid), ยาเหล่านี้จะช่วย คลายความวิตกกังวล ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับ เช่น Barbiturates, Benzodiazepines, และเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์

5. ยาหลอนประสาท(Hallucinogen) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Psychedelics Dissociative และ Deliriant

การใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้อย่างปลอดภัย ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ยาในกลุ่มนี้มักมีฤทธิ์เสพติด อย่างไรก็ตามยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มได้ลักลอบหรือแอบใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเพื่อวัตถุประสงค์กระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug) หรือใช้เป็นยากระตุ้น (Stimulant drugs) และตามมาด้วยการเสพติดยาเหล่านั้นในที่สุด

นโยบายของรัฐมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนหรือต่อต้านการใช้สาร/ยาเสพติด กรณีตัวอย่างของ กัญชา ตามกฎหมายของไทยจัดอยู่ในหมวดยาเสพติดประเภทที่ 5 แต่ 30 ประเทศในโลกได้ระบุให้ประชากรใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น

ประโยชน์ของยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมีอะไรบ้าง?

ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

นักวิทยาศาสตร์ได้สรุปประโยชน์ของยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทดังนี้

  • ใช้เป็น ยาชา/ยาชาเฉพาะที่ ยาสลบ เพื่อลดอาการเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัด เช่น ยาKetamine ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม NMDA receptor antagonist
  • ใช้ลดอาการปวด เช่น กลุ่มยา Opioid receptor agonist ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มยาเสพติดอย่าง Morphine และ Codeine; ยากลุ่ม NSAIDs อย่างเช่น Aspirin และ Ibuprofen ก็ยังถูกจับมาอยู่ในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเพื่อบรรเทา อาการปวดของร่างกายเช่นกัน
  • ใช้บำบัดอาการทางจิตประสาท โดยมากจะเป็น กลุ่มยาต้านเศร้า, ยากระตุ้น, ยารักษาอาการจิตเภท, ยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด/ ยาสงบประสาท, หรือยานอนหลับ
  • ใช้เพื่อทำให้เกิดความบันเทิง ซึ่งมักจะไม่มีข้อบ่งใช้ทางคลินิกสักเท่าใดนัก ด้วยมีการแอบใช้ยาโดยไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ เช่น ยากระตุ้น ยาหลอนประสาท ยานอนหลับ และยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์
  • ใช้ในพิธีกรรมบวงสรวงหรือการเข้าถึงจิตวิญญาณ ซึ่งมีการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในลักษณะนี้มาเป็นเวลายาวนานกว่า 5,700 ปี ตัวอย่างเช่น เพโยตี้ (Peyote) ซึ่งเป็นพืชจำพวกตะบองเพชร ในพืชชนิดนี้จะมีสารหลอนประสาทที่ ชื่อว่า Mescaline
  • ใช้ประโยชน์ทางการทหาร กรณีสงครามโลกในกองทัพของบางประเทศ ได้ให้ Amphetamine กับทหารที่ออกรบเพื่อกระตุ้นจิตใจทำให้รู้สึกมีเรี่ยวแรงในการต่อสู้

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมีอะไรบ้าง?

ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จะถูกจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น

  • ยารับประทานแบบ เม็ด แคปซูล ผง และน้ำ
  • ยาฉีดทั้งแบบ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  • ยาเหน็บทวารหนัก หรือเป็นสารละลายสำหรับสวนเข้าทางทวารหนัก
  • ยาชนิดสูดพ่นเข้าทางลมหายใจ
  • เครื่องดื่มประเภท Caffeine และ Alcohol

ผลกระทบจากการใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทผิดวิธีเป็นอย่างไร?

การใช้กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทผิดวิธี สามารถสร้างผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อระบบประสาทส่วนกลางได้มากมาย เช่น ทำให้อารมณ์ ความสามารถในการรับรู้ สติสัมปชัญญะ ตลอดจนกระทั่งพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยยากลุ่มนี้มีผลต่อระดับสารสื่อประสาทในสมอง หลายกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองของผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เกินขนาดหรือใช้เป็นเวลานานๆโดยไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยอาจทำให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติโดยอาจเกิด หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลง ระดับเกลือแร่(Electrolyte)ในร่างกายผิดไปจากมาตรฐาน เกิดภาวะเสียสมดุลของระดับพลังงานที่ใช้ดำรงชีวิตจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตตามมา

ลักษณะของผู้ที่ติดยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเป็นอย่างไร?

ทางการแพทย์ ได้แบ่งการติดยาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ เสพติดยาทางจิตใจ(Psychological dependence) และการเสพติดยาทางร่างกาย (Physical dependence)

การเสพติดยาทางจิตใจ จะไม่ทำให้เกิดอาการทุกข์ทรมานทางร่างกาย เพียงแต่มีผลทำให้สภาพอารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิม มีความอยากที่จะได้รับยา อาจเปรียบเทียบกับผู้ที่ติดบุหรี่หรือติดกาแฟ หากไม่ได้สูบหรือดื่มจะมีอาการง่วงนอน ความคิดไม่ปลอดโปร่ง แต่ไม่มีอาการทรมานแสดงออกทางร่างกาย

ส่วนการเสพติดยาทางกาย มักจะส่งผลกระตุ้นสมองให้สั่งการต้องการได้รับยาโดยต้องเพิ่มขนาดยานั้นๆขึ้นไปเรื่อยๆ แต่การออกฤทธิ์ได้เท่าเดิม หากไม่ได้เสพยาจะส่งผลได้รับความไม่สบายทางร่างกาย เช่น เกิดอาการทุรนทุราย หรือมีอาการเจ็บปวดตามร่างกายตามมา

สำหรับผู้ที่ได้รับยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยเฉพาะกลุ่มยาเสพติดให้โทษจะมีการเสพติดทั้งร่างกายและจิตใจอย่างเห็นได้ชัด การช่วยเหลือต้องส่งผู้ที่ติดยาเข้าบำบัดในสถานพยาบาลที่ดูแลรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดโดยเฉพาะ

มีหลักเกณฑ์อะไรบ้างในการใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท?

กฎเกณฑ์/หลักเกณฑ์การใช้ยาประเภทออกฤทธ์ต่อจิตประสาท ได้อย่างปลอดภัย จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของยากลุ่มนี้ได้จากเภสัชกรตามร้านขายยา สิ่งสำคัญต้องสร้างวินัยในการดำเนินชีวิต เช่น ไม่ทดลองใช้ตามคำแนะนำ หรือหลงเชื่อคำชักนำ ตลอดจนกระทั่งไม่ยุ่งเกี่ยว หรือไม่สร้างความสัมพันธ์กับการใช้ยากลุ่มนี้ พึงระลึกเสมอว่า ยามีไว้ใช้เพื่อประโยชน์รักษาโรค ช่วยฟื้นสภาพอาการป่วยของร่างกาย และจะใช้ยาเหล่านี้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Psychoactive_drug [2018,Feb17]
  2. https://pepperrr.net/th/articles/6795 [2018,Feb17]