ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol ear drop)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol ear drop) เป็นยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้รักษาการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียของหูชั้นนอก ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้รักษาการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัส องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ตัวยาคลอแรมเฟนิคอลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองเพื่อให้บริการกับประชาชน เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทยเช่นกัน

ทางคลินิก มีการใช้ ยาคลอแรมเฟนิคอลชนิดหยอดหูขนาดความเข้มข้น 1% 5% หรือ 10% บางสูตรตำรับยา อาจจะผสมยาชาอย่าง Lidocaine hydrochloride เพื่อระงับอาการปวดของหูที่อักเสบด้วย

ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล ถูกกำหนดให้เป็นยาใช้เฉพาะที่ภายนอก ห้ามใช้หยอดตา หรือรับประทาน ก่อนการใช้ยานี้ผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันความเหมาะสมของการใช้ยาก่อน และถึงแม้ยาคอแรมเฟนิคอลจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้างขวางในการต่อต้านเชื้อโรคแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอีกหลายชนิดได้ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา ดังนั้น จึงควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ข้อควรทราบก่อนผู้ป่วย/ผู้บริโภคจะใช้ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล
  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อการใช้ยาชนิดนี้ ดังนั้นจึงต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง หรือมีระดับเม็ดเลือดในร่างกายต่ำ หรือเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • กรณีที่มียาหยอดหูชนิดอื่นใช้อยู่ก่อน ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อพิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้ให้เหมาะสมมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ตามคำสั่ง แพทย์ เภสัชกร อย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยให้การอักเสบของหูหายเป็นปกติโดยเร็ว และการใช้ยาหยอดหู ควรปฏิบัติตามคำแนะนำง่ายๆ ดังนี้ คือ

  • ล้างมือก่อนและหลังใช้ยานี้
  • เปิดฝาครอบขวดยา ห้ามมิให้ปลายขวดยาสัมผัสนิ้วมือ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก หรือเชื้อโรค นั่นเอง
  • นอนตะแคง เอียงศีรษะ/หูด้านอักเสบขึ้นบน และดึงใบหูข้างอักเสบขึ้นด้านบนและไปทางด้านหลัง เพื่อให้รูหูอยู่ในแนวตรง ซึ่งเป็นท่าที่พร้อมจะหยอดหู
  • บีบและหยอดยาลงรูหู รอสักพักหนึ่งประมาณ 10 นาที จึงค่อยลุกขึ้น เพื่อให้ยาสัมผัสบริเวณที่มีการอักเสบอย่างทั่วถึง
  • ห้ามใช้ ผ้า ไม้พันสำลี แหย่หรือเช็ดยาที่หยอดลงช่องหูแล้ว

โดยทั่วไป การใช้ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล จะต้องหยอดยา 2-3 ครั้งต่อวัน หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ การใช้ยานี้ที่ถูกต้องควรต้องหยอดยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน และใช้ยานี้ต่อเนื่อง ซึ่งอาจใช้เวลา2-3วัน อาการจึงจะดีขึ้น การหยุดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างคลอแรมเฟนิคอลเร็วเกินไป อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นเพิ่มขึ้น หรือเกิดภาวะเชื้อดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียตามมา

หลังใช้ยานี้หากมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีไข้ ใบหน้าบวม มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง กรณีที่อาการอักเสบของหูไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วันหลังใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอลนี้ เมื่อเปิดใช้แล้ว สามารถเก็บต่อเนื่องได้อีก 28 วันเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการใช้ยาที่อาจเกิดการปนเปื้อนสิ่งสกปรก รวมถึงยาที่สัมผัสกับอากาศ หรือกับสภาพแวดล้อม อาจมีอายุการเก็บรักษาสั้นลง

ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอลได้ในสถานพยาบาล และยานี้มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมสามารถสอบถามจากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือขอคำแนะนำได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ รักษาหูอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หูติดเชื้อ)

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาคลอแรมเฟนิคอล มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารโปรตีนที่เป็นตัวตั้งต้นของสารพันธุกรรมในแบคทีเรีย หรือที่เรียกว่า ไรโบโซม(Ribosome) นอกจากนี้ยังป้องกันการเชื่อมโยงการใช้สารโปรตีนที่มีการสังเคราะห์ไว้แล้ว ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด จากกลไกดังกล่าว ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาหยอดหู ขนาดความเข้มข้น 1%, 5% และ 10%
  • ยาหยอดหูที่มีการผสมยาชาร่วมด้วย เช่น Chloramphenicol 1%+ Lidocaine HCl/Hydrochloride 2%

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีขนาดการบริหารยา /ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดหูข้างที่มีการอักเสบติดเชื้อ 2-3 หยด วันละ 2 - 3 ครั้ง หรือ ตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้ระยะเวลาในการใช้ยา ต้องขึ้นกับคำสั่งแพทย์เช่นกัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*อนึ่ง

  • กรณีใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 3-5 วัน ให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
  • ไม่ควรใช้ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล ติดต่อกันเกิน 7 วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดหูควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดหูด้วยยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล ก็สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดหูในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กรณีที่ใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอลอาจส่งผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบเลือดหรือกดการทำงานของไขกระดูกได้

ทั้งนี้ หากพบอาการที่ผิดปกติหลังการใช้ยานี้หรือมีลักษณะของการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล
  • ห้ามปรับขนาดการหยอดหู หรือใช้ยานี้นานเกิน 7 วันติดต่อกัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้หยอดตา ห้ามรับประทาน กรณี หยอดตา หรือรับประทานยานี้เข้าไป ให้รีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล เพื่อทำการบำบัดรักษาโดยเร็ว
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาหยอดหูชนิดอื่นอยู่ก่อนหรือไม่
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล เป็นยาใช้เฉพาะที่ จึงไม่ค่อยพบรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

อย่างไรก็ดี กรณีมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยานี้กับยารับประทานชนิดใดก็ตาม ให้นำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาลโดยเร็ว หรือทันที/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น

ควรเก็บรักษายาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลอย่างไร

ควรเก็บยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอล ภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น

ยาหยอดหู คลอแรมเฟนิคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาหยอดหูคลอแรมเฟนิคอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Archifen Ear (อาร์ชิเฟน เอีย)Archifar
Pharmacetin Otic (ฟาร์มาซีติน โอติก) Olan-Kemed
Silmycetin Ear Drops (ซิลมายเซติน เอีย ดร็อปส)Silom Medical
Vanafen Otologic (เวนาเฟน ออโทโลจิก)Atlantic Lab

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในประเทศอื่น เช่น Chlorphen, Otoplus, OPSOPHENICOL, OTOPHENICOL, SQ-MYCETIN, SUPRAPHEN,Chloromycetin, Sopamycetin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Chloramphenicol [2016,Aug27]
  2. http://www.medicinesforchildren.org.uk/sites/default/files/content-type/leaflet/pdf/20141031123501_0.pdf [2016,Aug27]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/attachments/03_annex1_baychiied_58_edit_26-11-58_final.pdf [2016,Aug27]
  4. http://www.medicatione.com/?c=drug&s=archifen%20ear%20drops [2016,Aug27]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/29602 [2016,Aug27]