ยาลอราทาดีน (Loratadine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลอราทาดีน (Loratadine) เป็นยาในกลุ่มต่อต้านฮิสตามีน (2nd generation hista mine antagonist) วัตถุประสงค์ของการพัฒนายานี้ เพื่อค้นหายาแก้แพ้ที่มีผลข้างเคียง เช่น อาการง่วงนอนที่น้อยลง มนุษย์ได้นำมาใช้ในวงการแพทย์เป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว

ตลาดยาบ้านเราจะพบเห็นยาลอราทาดีน ในรูปแบบการจัดจำหน่ายของยาเม็ดและยาน้ำสำหรับเด็ก

หลังรับประทานยาลอราทาดีน ยาจะถูกดูดซึมภายในระบบทางเดินอาหาร ภายในระยะ เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ระดับยาในกระแสเลือดจะถูกกำจัดออกจากร่างกาย 50% (Half Life) ภายในเวลา 8.4 ชั่วโมง โดยผ่านมาทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่สำหรับลอราทาดีนที่ถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับ จะได้สารเคมีชื่อ เดสลอราทาดีน (Desloratadine) ต้องใช้เวลาถึง 28 ชั่วโมง จึงจะกำจัดยาออกจากกระแสเลือดได้ 50%

ลอราทาดีนจัดอยู่ในยากลุ่มยาอันตราย มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงมาก มาย การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษา

ยาลอราทาดีน

ยาลอราทาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาลอราทาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น รักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น

  • แพ้เกสรดอกไม้
  • ลมพิษ
  • ผื่นคัน
  • ระคายเคืองที่ตา
  • คันจมูก
  • อาการจาม เป็นต้น

ยาลอราทาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของลอราทาดีน คือจะเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptors) ในเซลล์ของ ร่างกายที่เรียกว่า Peripheral Histamine H1 Receptors ทำให้การทำงานของสารฮิสตามีนถูก ยับยั้ง และส่งผลให้ระงับอาการแพ้ต่างๆ

ยาลอราทาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ประเทศไทยจัดจำหน่ายยาลอราทาดีนในรูปแบบ ดังนี้

  • ยาเม็ดขนาด 10 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำเชื่อมขนาด 5 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
  • ยาลอราทาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

    ขนาดรับประทานของยาลอราทาดีน เช่น
    • ผู้ใหญ่ และ เด็กอายุตั้งแต่ 12 ขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหรือครั้งละ 2 ช้อนชา วันละครั้ง
    • เด็กอายุ 2 - 12 ปี และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม: รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา วันละครั้ง
      • หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 30 กิโลกรัมรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละครั้ง
    • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

    อนึ่ง:

    • สามารถรับประทานยาลอราทาดีน ก่อน หรือ หลังอาหาร ก็ได้
    • ขนาดและระยะเวลาของการรับประทานต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
    • *การรับประทานยานี้เกินขนาดซึ่งมักพบเหตุการณ์นี้ขณะป้อนยาให้กับเด็กเล็ก โดยตวงยาชนิดน้ำผิดพลาด ซึ่งสังเกตอาการได้ดังนี้ เช่น ง่วงนอนอย่างมาก หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ ซึ่งการแก้ไขเบื้องต้น คือ
      • ถ้าผู้ป่วยยังมีสติ ต้องทำให้อาเจียนเพื่อขจัดยาออกจากกระเพาะอาหาร
      • จากนั้นให้รับประทานยา Activated Charcoal เพื่อดูดซับ ยาที่ยังคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร
      • หากไม่ได้ผล ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อแพทย์ทำการล้างท้อง

    *****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

    เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

    เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาลอราทาดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

    • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
    • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลอราทาดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
    • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

    หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

    หากลืมรับประทานยาลอราทาดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

    ยาลอราทาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

    ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) ของยาลอราทาดีน คือ สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น

    • มีอาการง่วงนอนเล็กน้อย
    • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
    • รู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร
    • ปวดศีรษะ
    • ปัสสาวะขัด
    • ปากแห้ง เป็นต้น

    มีข้อควรระวังการใช้ยาลอราทาดีนอย่างไร?

    ข้อควรระวังในการใช้ ยาลอราทาดีน เช่น

    • ห้ามใช้ในผู้ที่เคยแพ้ยาลอราทาดีน
    • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
    • ห้ามใช้กับผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
    • ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
    • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

    ***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลอราทาดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

    ยาลอราทาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

    ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาลอราทาดีน กับยาตัวอื่น เช่น

    ก. มียาหลายกลุ่ม เมื่อใช้ร่วมกับยาลอราทาดีน จะส่งผลให้ระดับยาลอราทาดีนในกระ แสเลือดสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่ใช้ยาเหล่านั้นได้รับผลข้างเคียงของลอราทาดีนมากยิ่งขึ้น ยากลุ่มดังกล่าว เช่น

    • ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย /ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Azithromycin, Erythromycin
    • ยาต้านเศร้า เช่น Fluoxetine
    • ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร เช่นยา Cimetidine
    • ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Ketoconazole
    • ยาแก้ท้องเสีย เช่นยา Loperamide
    • ยาโรคเกาต์ เช่นยา Colchicine

    ข. ยาทาผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการแพ้บางตัว สามารถส่งผลให้ลดระดับยาลอราทาดีนในกระแสเลือดได้ ทำให้ประสิทธิผลของยาลอราทาดีนด้อยลงไปได้เช่นกัน ยาทาผิวหนังดังกล่าว เช่นยา Hydrocortisone cream

    ค. ยาลอราทาดีนสามารถทำให้ระดับความเข้มข้นและผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ เพิ่มมากขึ้น หากมีการใช้ร่วมกันยาสเตียรอยด์ดังกล่าว เช่นยา Prednisolone, Sodium phos phate oral

    ควรเก็บรักษายาลอราทาดีนอย่างไร

    สามารถเก็บยาลอราทาดีน เช่น

    • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และ ความชื้น
    • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

    ยาลอราทาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

    ยาลอราทาดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

    ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
    Alertyne (อเลอร์ไทน์) P P Lab
    Allerdine (อัลเลอร์ดีน) L. B. S.
    Allersil (อัลเลอร์ซิล) Silom Medical
    Aller-Tab (อัลเลอร์-แทบ) Silom Medical
    Aridine (เอริดีน) V S Pharma
    Botidine (โบทิดีน) Patar Lab
    Carinose (คาริโนส) Community Pharm PCL
    Clalodine (คลาโลดีน) Pharmasant Lab
    Clarid (คลาริด) Biolab
    Claridine (คลาริดีน) Suphong Bhaesaj
    Clarigy (คลาริจี) New York Chemical
    Claritex (คลาริเท็ก) The United Drug (1996)
    Claritino (คลาริทิโน) Milano
    Clarityne (คลาริไทน์) MSD
    Halodin (ฮาโลดิน) T.O. Chemicals
    Hisracon (ฮีสราคอน) Condrugs
    Histadine (ฮีสตาดีน) Burapha
    Kalidin (คาลิดิน) T. Man Pharma
    Klaryne (คลาไรน์) B L Hua
    Lindine (ลินดีน) Pharmaland
    Logadine (ลอกาดีน) General Drugs House
    Lolergy (ลอเลอร์จี) GPO
    Loracine (ลอราซีน) Medicine Products
    Loradine (ลอราดีน) Greater Pharma
    Loragis (ลอราจีส) Thai Nakorn Patana
    Loranox (ลอราน็อก) Charoen Bhaesaj Lab
    Lorapac (ลอราแพค) Inpac Pharma
    Lordin (ลอร์ดิน) Masa Lab
    Loridin MD (ลอริดิน เอ็มดี) Zydus Cadila
    Lorita (ลอริต้า) Farmaline
    Lorsedin (ลอร์เซดิน) Siam Bheasach
    Lortadine (ลอร์ทาดีน) Olan-Kemed
    Lotidyne (ลอทิดายน์) Utopian
    Rityne (ริไทน์) Osoth Interlab
    Roletra (โรเลทรา) Ranbaxy Unichem
    Sanotyne (ซาโนไทน์) Pharmahof
    Tiradine (ทีราดีน) British Dispensary
    Tirlor (ทิเลอร์) Sandoz

    บรรณานุกรม

    1. http://en.wikipedia.org/wiki/Loratadine [2019,Dec28]
    2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/loratadine?mtype=generic [2019,Dec28]
    3. https://www.drugs.com/claritin.html [2019,Dec28]
    4. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=loratadine [2019,Dec28]
    5. https://www.drugs.com/drug-interactions/loratadine.html [2019,Dec28]