ยาลดไขมัน (Lipid-lowering drugs)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาลดไขมันหมายความว่าอย่างไร?

ยาลดไขมัน หรือ ยาลดไขมันในเลือด (Lipid lowering drug หรือ Lipid lowering agent หรือ ยาลดคอเลสเตอรอล/Cholesterol medication หรือ Cholesterol lowering medication หรือ Cholesterol drug) คือ ยาที่ใช้ลดระดับไขมันในเลือด เช่น คอเลสเตอรอล ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและลดอัตราการตายจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวาย อัมพาต/โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (ส่วนแขน-ขา)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าระดับไขมันในเลือดจะลดลงจากการรับประทานยาลดไขมันแล้ว แต่เพื่อให้ได้ประสิทธิผลในการรักษาควบคุมระดับไขมันในเลือด ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที การรับประทานอาหารที่ไขมันต่ำ เลิกสูบุหรี่ และเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะยิ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับไขมันในเลือด/ระดับไขมันฯได้ดียิ่งขึ้น

ยาลดไขมันมีกี่ประเภท?

ยาลดไขมัน-01

ยาลดไขมัน แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทต่างๆ เช่น

  • กลุ่มยาสแตติน (Statins หรือ 3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-coenzyme A reductase inhibitors ย่อว่า HMG CoA reductase inhibitors) เช่นยา อะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin), ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin), โลวาสแตติน (Lovastatin), พราวาสแตติน (Pravastatin), โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin), ซิมวาสแตติน (Simvastatin)
  • ยายับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอล (Selective cholesterol absorption inhibitors) เช่น ยาอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe)
  • ยาช่วยขจัดกรดน้ำดี/ไบล์แอซิดซีเควสแตรต์(Resins หรือ Bile acid sequestrants หรือ Bile acid-binding drugs) เช่น คอเลสไทรามีน (Cholestyramine), คอเลสทิพอล (Colestipol), คอเลสเซเวแลม (Colesevelam)
  • ยากลุ่มไฟเบรต (Fibrates หรือ Fibric acid derivatives) เช่นยา เจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil), ฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate), โคลไฟเบรต (Clofibrate)
  • ยาอื่นๆ เช่น วิตามินบี 3 (Vitamin B3) หรือไนอะซิน (Niacin) หรือกรดนิโคตินิก (Nicotinic acid)

ยาลดไขมันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลดไขมันมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาผง (Powder)

มีข้อบ่งใช้ยาลดไขมันอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาลดไขมันดังนี้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง
  • ลดการเกิดกระบวนการอักเสบของผนังหลอดเลือด
  • ลดการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด
  • ลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ยากลุ่ม ไบล์แอซิดซีเควสแตรต์/Bile acid sequestrants: ช่วยบรรเทาอาการคันตามตัวเมื่อมีภาวะคั่งของน้ำดี ในเลือด(Cholestasis)/ตัวเหลือง-ตาเหลือง และภาวะที่เกิดการสะสมของน้ำดีมากเกินไป (Bile salt accumulation), นอกจากนี้ยังใช้ดูดซับยากลุ่ม Digitalis ออกจากระบบทางเดินอาหารเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการพิษจากยา Digitalis

มีข้อห้ามใช้ยาลดไขมันอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาลดไขมัน ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ (Enzyme inhibitors) เช่น ยา Itraconazole, Ketoconazole, Erythromycin, Clarithromycin, ยาต้าน HIV กลุ่ม Protease inhibitors, Gemfibrozil, Cyclosporine ร่วมกับยาลดไขมันกลุ่ม Statins เช่นยา Atorvastatin, Lovastatin, Simvastatin, เนื่องจากยากลุ่ม Statins เหล่านี้ต้องใช้เอนไซม์ต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงและขจัดยาStatinsออกจากร่างกาย การใช้ยาทั้ง2กลุ่มดังกล่าวร่วมกัน จึงอาจทำให้มีระดับยากลุ่ม Statins ในร่างกายมากเกินไป จนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยากลุ่ม Statins ได้
  • ห้ามใช้ยา Gemfibrozil ร่วมกับยากลุ่มสแตติน เพราะอาจเพิ่มโอกาสเกิดพิษต่อกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้ออักเสบ) ได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาลดไขมันอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลดไขมัน เช่น

  • ระวังการใช้ยาลดไขมันกลุ่ม Statins ในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง โรคไวรัสตับอักเสบ บี โรคไวรัสตับอักเสบซี และโรคไต
  • ยาลดไขมัน Cholestyramine และ Colestipol มีฤทธิ์ลดการดูดซึมยาอื่นๆ ดังต่อไปนี้ เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide, ยากลุ่ม Digitalis, ยาลดความดัน กลุ่ม Beta-blocker, ยาWarfarin, ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด/ยาเบาหวาน และวิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน ดังนั้น หากต้องการรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกับยาลดไขมันมันทั้ง 2 ตัวดังกล่าว ควรรับประทานยาเหล่านี้ก่อนรับประทานยาลดไขมัน Cholestyramine และ Colestipol อย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานยาลดไขมัน Cholestyramine และ Colestipol อย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  • ระวังการใช้ยาลดไขมันกลุ่ม Fibrates ในผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต
  • ยากลุ่ม Fibrates เป็นยาที่สามารถจับกับสารโปรตีนในพลาสมาได้มาก จึงต้องระวังหากใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่นที่สามารถจับกับโปรตีนในพลาสมาได้เช่นเดียวกัน เช่นยา Warfarin, Repaglinide, และยากลุ่ม Statins เพราะอาจทำให้ยาอื่นดังกล่าว หลุดจากการจับกับโปรตีนในพลาสมาได้ ส่งผลให้มีระดับยาเหล่านั้นในเลือดมากเกินไป ตัวอย่างเช่น เมื่อระดับ Warfarin มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือเกิดภาวะเลือดออก เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยา Niacin ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้
  • หากลืมรับประทานยาลดไขมันที่ต้องรับประทานก่อนนอน แล้วนึกขึ้นได้ในตอนเช้าของอีกวัน ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ถ้าลืมรับประทานยาลดไขมันที่ต้องรับประทานตอนเช้า แล้วนึกขึ้นได้ในวันเดียวกัน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกขึ้นได้ในวันถัดไป ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

การใช้ยาลดไขมันในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ยาลดไขมันที่ควรเลือกใช้ในหญิงตั้งครรภ์คือ ยากลุ่ม Bile acid sequestrants เพราะเป็นยาที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงปลอดภัยต่อผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

ยาลดไขมันชนิดอื่นๆ เช่น Ezetimibe, Clofibrate และยากลุ่ม Statins เป็นยาที่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรไม่เพียงพอ ดังนั้นยาเหล่านี้ ควรใช้ก็ต่อเมื่อ มีการประเมินจากแพทย์ ระหว่างประโยชน์ที่จะได้จากการใช้ยาเหล่านี้ และความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารก ว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารก

การใช้ยาลดไขมันในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูงมากกว่าวัยอื่นๆ ซึ่งนอกจากการรับประทานยาลดไขมันอย่างสม่ำเสมอ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรมการใช้ชีวิติแล้ว ผู้สูงอายุยังต้องรักษาภาวะอื่นๆ ทีเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวานร่วมด้วย

ยาลดไขมันที่ใช้มากในผู้สูงอายุ ได้แก่ ยากลุ่ม Statins และ ยากลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรต์ ทั้งนี้ในผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัว และมียาที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิด จึงต้องเฝ้าระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ใช้อยู่แล้วกับยาลดไขมันที่ได้เพิ่มอีกด้วย

นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆรวมยาลดไขมัน ที่จะพบได้มากในวัยสูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม Statins ควรระวังการเกิดพิษต่อตับ (ตับอักเสบ) และพิษต่อกล้ามเนื้อ(กล้ามเนื้ออักเสบ), หรือ ยากลุ่ม ไบล์แอซิดซีเควสแตรต์ อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก เป็นต้น

การใช้ยาลดไขมันในเด็กควรเป็นอย่างไร?

ปัจจุบัน มีอุบัติการณ์การเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูงในวัยเด็กมากขึ้น โดยในผู้ป่วยเด็กการรักษาจะเริ่มจากการคุมอาหารและการออกกำลังกายก่อน หากผลการรักษาที่ได้ยังไม่น่าพอใจ จึงจะเริ่มรักษาโดยการใช้ยาลดไขมัน

ยาลดไขมันที่เลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในผู้ป่วยเด็ก ได้แก่ ยากลุ่มStatins โดยยาที่ใช้เป็นยารักษาเสริม ได้แก่ ยากลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรต์ และยา Ezetimibe, ส่วนยากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ยากลุ่ม Fibrates, Niacin ไม่ควรเลือกใช้ในผู้ป่วยเด็ก เพราะยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่มากเพียงพอ นอกจากนี้ ยา Niacin ยังเป็นยาที่พบว่ามีอาการไม่พึงประสงคจากการใช้ยาได้มาก จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเลือกใช้ในผู้ป่วยเด็ก

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดไขมันอย่างไร?

มีอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน)จากการใช้ยาลดไขมันได้ดังนี้ เช่น

  • ยากลุ่ม Statin: ทำให้เกิดพิษต่อตับ (Hepatotoxicity) หรือ ตับอักเสบ, เกิดพิษต่อกล้ามเนื้อ (Myotoxicity) ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) หรือกล้ามเนื้อเกิดความผิดปกติ (Myopathy), อาการอื่นๆ เช่น ปวดหัว และรู้สึกไม่สบายท้อง
  • ยา Ezetimibe: พบอาการไม่พึงประสงค์น้อย เพราะยาถูกดูดซึมได้น้อย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด เหนื่อยล้า
  • ยากลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรต์: ทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้
  • ยากลุ่ม Fibrates: ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด รู้สึกไม่สบายท้อง นิ่วในถุงน้ำดี เกิดพิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย หรือ กล้ามเนื้อเกิดความผิดปกติ
  • ยา Niacin: ทำให้เกิดอาการใบหน้าแดง ร้อนวูบวาบที่ใบหน้าและที่ผิวหนัง อาการคัน คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้อง แน่นท้อง เกิดแผลในทางเดินอาหาร เป็นพิษต่อตับ ระดับกรดยูริคในเลือดสูง และระดับน้ำตาลในเลือดสูง

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลดไขมัน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. รัตยา ลือชาพุฒิพร. ยาที่ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ. กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. (อัดสำเนา)
  2. วิภารักษ์ บุญมาก ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาลดไขมันในเลือด. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/242/ยาลดไขมันในเลือด [2022,July30]
  3. Miller, M. L., Wright, C. C., Browne, B. Lipid-lowering medications for children and adolescents. Journal of Clinical Lipidology 9. (2015) : 567-576.
  4. Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.
  5. https://www.heart.org/en/health-topics/cholesterol/prevention-and-treatment-of-high-cholesterol-hyperlipidemia/cholesterol-medications#.V-zSJNSLTeg [2022,July30]
  6. https://www.medscape.com/viewarticle/458439_6 [2022,July30]