ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส: เอไอ (Aromatase inhibitor drugs: AI)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยายั้บยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส (Aromatase inhibitor ย่อว่า เอไอ/AI) เป็นยาที่ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายให้มาเป็นฮอร์ โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นจึงมีผลทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกายลดลง โดยยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสเป็นยาที่ใช้รักษาในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับสัญญาณ/ตัวรับ (Receptor) กระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen receptor-positive, ER+) เนื่องจากสตรีวัยหมดประจำเดือนนั้น รังไข่ไม่สามารถทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนได้ ดังนั้นฮอร์โมนเอสโทรเจนจึงถูกเปลี่ยนมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (สร้างจากต่อมหมวกไต) โดยเอ็นไซม์อะโรมาเทส (Aromatase) ซึ่งหากฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นตัวรับสัญญาณในเซลล์มะเร็งฯ จะมีผลทำให้เซลล์มะเร็งฯสามารถแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนและเจริญเติบโต ดังนั้นหากสามารถลดระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนได้ จะทำให้เซลล์มะเร็งถูกกระตุ้นลดลงและหยุดการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนและหยุดการเจริญเติบโตได้ ทั้งนี้ ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสไม่สามารถใช้ลดระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ถูกสร้างจากรังไข่ในผู้หญิงที่ยังมีประ จำเดือนได้

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีสรรพคุณอย่างไร?

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือ

  1. ใช้เป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะ เร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen receptor-positive, ER+)
  2. ใช้รักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer)

โดยยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวสำหรับเริ่มการรักษามะเร็งเต้านม ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือใช้หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งเต้านมโดยออกฤทธิ์ต้านตัวรับฮอร์โมนเอสโทรเจนเช่นกัน ทั้งนี้ การใช้ยาร่วมกันนี้จะใช้ตามข้อบ่งชี้ที่จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสออกฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อะโรมาเทสซึ่งมีหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ให้เป็นฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estro gen) ดังนั้นระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกายจึงลดลง ซึ่งทั้งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและฮอร์โมนเอสโทรเจนเป็นฮอร์โมนสเตียรอยด์ โดยยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสแบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์เป็น 2 ชนิดได้แก่

  1. ชนิดที่ 1: ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่มีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนสเตียรอยด์ (Steroidal analog inhibitor) ที่มีผลยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อะโรมาเทสแบบผันกลับไม่ ได้ (Irriversible steroidal inhibition) ตัวอย่างยาเช่น ยาอีซีเมสเทน (Exemestane)
  2. ชนิดที่ 2: ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่มีโครงสร้างไม่เหมือนฮอร์โมนสเตียรอยด์ (Non-steroidal inhibitors) ซึ่งออกฤทธิ์จับที่เอ็นไซม์อะโรมาเทสแบบผันกลับ/แบบแข่งขัน(Reversibly competitive inhibition) ตัวอย่างยาเช่น ยาอะแนสโทรโซล (Anastrozole) และ ลีโทรโซล (Letrozole)

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาอะแนสโทรโซล: ยาเม็ดขนาด 1 มิลลิกรัม
  • ยาลีโทรโซล: ยาเม็ดขนาด 2.5 มิลลิกรัม
  • ยาอีซีเมสเทน: ยาเม็ดขนาด 25 มิลลิกรัม

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีขนาดการใช้อย่างไร?

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีขนาดการใช้เช่น

  1. ขนาดการใช้ยาอะแนสโทรโซล:
    • สำหรับเป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอส โทรเจน (Estrogen receptor-positive, ER+) คือ 1 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือหลังอาหารได้
    • สำหรับรักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer) คือ 1 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอา หารหรือหลังอาหารได้
    • การปรับขนาดยาในผู้ป่วยไตหรือตับบกพร่อง: ไม่มีความจำเป็นในการปรับขนาดยา ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องหรือผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้สูงอายุหรือในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง (Mild to moderate hepatic impairment)
  2. ขนาดยาลีโทรโซล:
    • สำหรับเป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอส โทรเจน (Estrogen receptor-positive) คือ 2.5 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือหลังอาหารได้
    • สำหรับรักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer) คือ 2.5 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง สามารถรับประทานยาร่วมกับอา หารหรือหลังอาหารได้
    • การปรับขนาดยาในผู้ป่วยไตหรือตับบกพร่อง: ไม่มีความจำเป็นในการปรับขนาดยา ในผู้ป่วยซึ่งมีความสามารถของไตในการกำจัดครีเอทินีน (Creatinine clearance) มากกว่า 10 มิลลิลิตร/นาที หรือในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง (Mild to moderate hepatic impairment)
  3. ขนาดยาอีซีเมสเทน:
    • สำหรับเป็นยาเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) ในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมนเอส โทรเจน (Estrogen receptor-positive) คือ 25 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้ง หลังอาหาร
    • สำหรับรักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Advanced breast cancer) คือ 25 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้งหลังอาหาร
    • การปรับขนาดยาเมื่อให้ยาอีซีเมสเทนร่วมกับยาที่มีฤทธิ์แรงในการกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4/เอ็นไซม์ทำลายยา (Strong CYP 3A4 inducers/Cyto chrome P 450 3A4 inducers) เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ฟีนิโตอิน (Phenytoin) คือ ให้เพิ่มขนาดยาอีซีเมสเทนเป็นครั้งละ 50 มิลลิกรัมโดยรับประทานวันละ 1 ครั้งหลังอาหาร เนื่อง จากยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4 จะมีผลเร่งการเปลี่ยนแปลงยาอีซีเมสเทน จึงทำให้ความเข้มข้นของยาอีซีเมสเทนในกระแสเลือดลดลง

*อนึ่ง ระยะเวลาในการใช้ยาแต่ละชนิดจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยประเมินจากการตอบสนองของโรคต่อยาและผลข้างเคียงที่เกิดจากยา

*****หมายเหตุ:

ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึก ษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น

  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ เนื่องจากยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมา เทสอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่ากำลังให้นมบุตรเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเรื่องการขับถ่ายยานี้ออกทางน้ำนม
  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่าหมดประจำเดือนหรือยังมีประจำเดือนอยู่เนื่องจากยายับยั้งเอ็น ไซม์อะโรมาเทสใช้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนเท่านั้นกเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • สุภาพสตรีควรแจ้งหากมีโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เนื่องจากยายับยั้งเอ็น ไซม์อะโรมาเทสมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) คือทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
  • หากมีการสั่งจ่ายยาอะแนสโทรโซลหรือยาลีโทรโซล สุภาพสตรีควรแจ้งหากมีระ ดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เนื่องจากยาอะแนสโทรโซลและยาลีโทรโซลอาจทำให้เกิด อาการข้างเคียงคือ ระดับไขมันคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง
  • หากมีการสั่งจ่ายยาลีโทรโซล สุภาพสตรีควรแจ้งหากมีโรคตับแข็ง (Cirrhosis) หรือการทำงานของตับบกพร่องอย่างรุนแรง (Severe hepatic impairment)
  • ควรแจ้งประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น เมื่อกินยาแล้วเกิดอาการขึ้นผื่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก

หากลืมรับประทานยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หาก ใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยาครั้งถัดไป ให้รับประทานยาครั้งถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า จากนั้นรับประทานยาครั้งถัดไปในขนาดยาปกติ

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาการข้างเคียงทั่วไปที่พบบ่อยเช่น อาการร้อนวูบวาบ (Hot flush) เหงื่อออกมาก โรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นผลจากการที่ฮอร์โมนเอสโทรเจนลดต่ำลง นอกจากนี้ยังพบอาการคลื่น ไส้ อาเจียน ปวดข้อ (Arthralgia) ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ
  • ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจากยาอะแนสโทรโซลและยาลีโทรโซล
  • อาการข้างเคียงที่รุนแรงสำหรับยาอะแนสโทรโซลเช่น
    1. อาการทางผิวหนังเช่น ขึ้นผื่นผิวหนังหรือผิวหนังเกิดมีตุ่มน้ำ (Blisters)
    2. อาการแพ้ยาเช่น มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ ซึ่งอาจทำให้กลืนลำบากและ/หรือหายใจลำบาก ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรหยุดใช้ยานี้และรีบไปโรง พยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
    3. มีการเปลี่ยนแปลงค่าผลตรวจเลือดที่บ่งบอกการทำงานของตับผิดปกติรวมถึงมีการอักเสบของตับ/ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังในการใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทส เช่น

  • ไม่ควรใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสในผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรซื้อยาอื่นรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน เนื่องจากยาบางชนิดมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสซึ่งอาจทำให้เพิ่มหรือลดความเข้ม ข้นของยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสในกระแสเลือด จึงอาจทำให้เกิดอาการพิษหรือความเข้ม ข้นไม่ถึงระดับที่ใช้ในการรักษาโรค
  • ไม่ควรใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยากลุ่มนี้ถูกจัดตามดัชนีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์อยู่ในกลุ่มเอ็กซ์ (Pregnancy Category X) โดยมีหลัก ฐานว่าสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนสัตว์และทารกในครรภ์ได้และมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากยา
  • ควรใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาและตามที่แพทย์ผู้ รักษาสั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกร
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้นระหว่างใช้ยา ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่น มีผื่น บวมที่ริมฝีปาก รอบตา หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสจะมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจน(Estrogen) เป็นส่วนประกอบเช่น ยาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน (Conjugated estrogens) ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด (ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง) เนื่องจากจะทำให้ยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสออกฤทธิ์ลดลงดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • ยาอีซีเมสเทนจะมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่มีฤทธิ์แรงในการกระตุ้นการทำงานของ เอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4 (Strong CYP 3A4 inducers) เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampi cin), ฟีนิโตอิน (Phenytoin), คาร์บามาซีพีน (Carbamazepine), ฟีโนบาร์บิทอล (Phenobarbi tal) เนื่องจากยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ไซโตโครม พี 450 3A4 จะมีผลเร่งการเปลี่ยนแปลงยาอีซีเมสเทน จึงทำให้มีความเข้มข้นยาอีซีเมสเทนในกระแสเลือดลดลง ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษายายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสอย่างไร?

ควรเก็บรักษายายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่อุณหภูมิห้อง 25 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius ) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในที่แห้ง พ้นแสงแดด และควรเก็บรักษายานี้ให้มิดชิด พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิตยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่ขายในประเทศไทยมีอะไร บ้าง?

ยาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตยายับยั้งเอ็นไซม์อะโรมาเทสที่ขายในประเทศไทยเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Arimidex (อาริมิเด็กซ์) ของยาอะแนสโทรโซล แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย)
Aromasin (อาโรมาซิน) ของยาอีซีเมสเทน ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ไฟเซอร์ (ประเทศไทย)
Femara (ฟีมารา) ของยาลีโทรโซล โนวาร์ตีส (ประเทศไทย)

บรรณานุกรม

  1. Brunton LL, Chabner BA, Knollman BC. Chapter 63 Natural Products in Cancer Chemotherapy: Hormones and Related Agents. Goodman & Gilman’s The Pharmacological Basis of Therapeutics. 12th edition. 2011; 1760-1763.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Aromatase_inhibitor [2015,July25]
  3. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/020753s015s016lbl.pdf [2015,July25]
  4. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/020541s029lbl.pdf [2015,July25]
  5. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020726s024lbl.pdf [2015,July25]